นายกรัฐมนตรีประชุมเตรียมการปฏิรูปประเทศ ครั้งที่ 2/60 ย้ำเดินหน้าผลักดันการปฏิรูปเพื่ออนาคตประเทศ ปฏิรูปกฎหมายให้เป็นสากลสอดคล้องอัตลักษณ์ไทย ระบุอยากให้คนไทยให้ความสำคัญกับกฎหมายมากขึ้น-ขอทุกคนร่วมมือขับเคลื่อนสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
วันนี้ (12 ก.ค.60) เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ครั้งที่ 2/2560 โดยมี พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร้อยเอก ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม
นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดการประชุมตอนหนึ่งว่า การปฏิรูปประเทศมีหลักการสำคัญที่จะต้องทำให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ และการปฏิรูปต้องทำให้เกิดขึ้นตามห้วงเวลาที่กำหนดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีผลงานผลสัมฤทธิ์ปรากฏตามห้วงเวลาที่จะต้องเกิดขึ้นทุกปี และทุก ๆ 5 ปี และต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อีก 5 แผน ในระยะ 20 ปี คือแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ถึง 15 ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องหาข้อสรุปออกมาให้ได้ ว่าทำอย่างไรจะสอดคล้องกันทั้งหมด โดยเมื่อมีการปฏิรูปก็จะต้องมีแผนแม่บท แผนปฏิบัติการ และกำหนดผลสัมฤทธิ์ไว้ล่วงหน้า ในทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการปฏิรูปประเทศนำประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และเป็นประเทศที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับวาระของสหประชาชาติ ด้วยการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาดำเนินการในทั้ง 11 เป้าประสงค์ ซึ่งทุกอย่างจะต้องดำเนินการให้ประสานสอดคล้องกันให้ได้ทั้งหมด
ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การประชุมวันนี้เพื่อวางอนาคตของประเทศ เป็นการทำงานของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ ป.ย.ป. ที่ครอบคลุมหลายประเด็น โดยวันนี้เป็นเรื่องการปฏิรูปในหลายประเด็น สิ่งสำคัญคืออย่าไปมองในแง่ประเด็นการเมืองอย่างเดียว แต่เรื่องนี้คืออนาคตของประเทศ ว่าทำอย่างไรจะยกระดับรายได้ของประเทศให้พ้นจากประเทศรายได้ปานกลางไปสู่รายได้สูง รวมทั้งประเด็นเรื่องวิธีการบริหารจัดการที่สำคัญในเรื่องกฎหมาย ซึ่งวันนี้ได้นำกฎหมายทั้งหมดของประเทศมาดูว่าจะต้องมีการปรับปรุงพัฒนาไปอย่างไร เพื่อให้สอดคล้องและทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ให้เกิดความเป็นสากลให้มากยิ่งขึ้น โดยจำเป็นต้องให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของความเป็นไทยด้วย ทั้งนี้ อยากให้คนไทยให้ความสำคัญกับกฎหมายให้มากขึ้น อย่าไปมองว่ากฎหมายคือสิ่งที่จะบังคับควบคุมเรา หรือรัฐบาลต้องการจะบังคับประชาชน เพราะไม่เป็นความจริง ในวันนี้ต้องเน้นให้กฎหมายทุกกฎหมายได้อำนวยความสะดวก ดูแลประชาชนให้ทั่วถึง ทำให้กระบวนการยุติธรรมเป็นที่ไว้วางใจ โดยในประเด็นของข้อกฎหมายมีอยู่หลายกฎหมายซึ่งต่อไปจะได้ทราบว่าจะทำกฎหมายในกลุ่มใดบ้าง และมีกฎหมายใดที่เร่งด่วนต้องทำให้เร็วในช่วงเวลาที่เหลืออยู่นี้ ซึ่งได้กำหนดไว้ว่าหากเรื่องใดก็ตามที่มีผลกระทบ จะต้องมีมาตรการรองรับไว้ก่อนที่กฎหมายจะออกมา เพื่อไม่ให้เกิดความไม่เข้าใจกันเหมือนกรณีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ใช่ข้อบกพร่องของใคร เพียงแต่บางครั้งเป็นการรวบรวมกฎหมายเดิมที่มีอยู่มาใส่กฎหมายใหม่ จึงกลายเป็นกฎหมายใหม่ ทั้งที่กฎหมายเดิมก็มีอยู่แล้วแต่ไม่ปฏิบัติ จึงทำให้เกิดปัญหา ขออย่ามองว่าเป็นเรื่องการเมืองอย่างเดียว โดยวันนี้ก็มีหลายเรื่องที่ได้ปฏิรูปไปแล้ว
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ถึงวันนี้รัฐบาลยังคงมีวาระในการปฏิรูปรวม 11 วาระเหมือนเดิม โดยใน 11 วาระดังกล่าว สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. ได้นำไปขับเคลื่อนออกมาเป็น 37 ประเด็น ที่จะต้องจัดเข้าอยู่ใน 11 วาระ โดยเมื่อทำเสร็จเรียบร้อยแล้วจะไปอยู่ในกิจกรรมภายในทั้ง 11 วาระ ซึ่งจะออกมาเป็นแผนปฏิรูป แล้วจะไปสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 6 ยุทธศาสตร์ ที่ทั้งหมดจะร้อยเรียงกัน ซึ่งจะนำไปขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งทั้ง 11 คณะจะต้องขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กันในเป้าหมายเดียวกันคือไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ดังนั้น ต้องขอให้สื่อมวลชนและประชาชนช่วยกันติดตามในเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องของทุกคนที่สำคัญกว่าทุกเรื่อง เป็นเรื่องที่จะทำให้ประเทศหลุดพ้นและก้าวหน้าไปอย่างมั่นคงในวันข้างหน้า ทุกคนจะได้มีผลประโยชน์ มีสิ่งตอบแทนที่สูงขึ้นดีขึ้น ถ้าทุกคนไม่ร่วมมือในวันนี้ การปฏิรูปทุกอย่างจะไม่มีวันสำเร็จ หลายประเทศใช้การปฏิรูปโดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ โดยไม่สนใจความขัดแย้งใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเขาต้องปฏิรูปให้ได้จึงใช้การบังคับใช้กฎหมาย แต่ประเทศไทยใช้อย่างนั้นไม่ได้ เพราะเราไม่เคยชินกับการบังคับใช้กฎหมาย สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือการสร้างความเข้าใจร่วมกัน การเดินไปสู่เป้าหมายเดียวกัน
“วันนี้รัฐบาลมองเป้าหมายประชาชนทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกรายได้ ทุกวัย จะทำอย่างไรให้คนได้รับประโยชน์จากการปฏิรูปประเทศ ทั้งคนในวันนี้และคนในวันหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลนี้คาดหวัง วันนี้ทุกคนต้องร่วมมือกัน รัฐบาลนี้หรือรัฐบาลหน้า ไม่ว่าจะเป็นใคร ต้องร่วมมือกันในวันนี้ หากขัดแย้งกันในวันนี้ ทุกอย่างก็เหมือนเดิม ทุกคนให้ความสำคัญกับเรื่องการเมือง เรื่องอะไรต่าง ๆ แล้วก็ขัดแย้งกันเหมือนเดิม แล้วใครจะรับผิดชอบ นายกรัฐมนตรี คสช. รับผิดชอบ อย่างไรผมก็ต้องรับอยู่แล้ว แต่ผมก็จะไม่ให้ไปสู่ตรงนั้น” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ด้านนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ได้แถลงผลการประชุมว่า การประชุมวันนี้มีวาระที่สำคัญ ในเรื่องการปฏิรูปกฎหมาย โดยคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อกำกับการปฏิรูปกฎหมาย ที่มีเรื่องปฏิรูปทั้งหมด 37 ประเด็นภายใต้รัฐธรรมนูญ 11 วาระ ซึ่งใน 11 วาระดังกล่าวมีเรื่องการปฏิรูปการศึกษาและการปฏิรูปตำรวจ ที่ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ ขึ้นมาแล้ว โดยเรื่องสำคัญต่อมาที่นับเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนการปฏิรูปของรัฐบาลจากนี้ไป คือการปฏิรูปกฎหมาย กับเรื่องการปฏิรูปการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งในที่ประชุมวันนี้ได้มีการเสนอทั้งหมด 7 วาระสำคัญ ประกอบด้วย 1. การปฏิรูปกฎหมาย 2. การปฏิรูประบบตัวชี้วัดของภาครัฐทั้งหมด ที่ตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ของภาครัฐในวันนี้ยังไม่ตอบโจทย์ จะสามารถตอบโจทย์ว่าประชาชนได้อะไรนั้นได้อย่างไร 3. ทำอย่างไรที่จะเป็นการปฏิรูปให้รัฐบาลมีความคล่องตัว กระชับมากขึ้น มีการผ่องถ่ายภารกิจที่ไม่จำเป็นออกไปให้ภาคส่วนอื่น 4. การจัดการกำลังคนภาครัฐ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะวันนี้มีข้าราชการอยู่เป็นจำนวนมาก ทำอย่างไรที่จะมีข้าราชการจำนวนที่เหมาะสมในอนาคต โดยในอนาคตจะมีรัฐบาลที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล ที่จะทำให้กำลังพลบางส่วนหายไป และบางส่วนจะถูกแทนที่ด้วยข้าราชการที่มีทักษะอีกแบบหนึ่ง ฉะนั้นในเรื่องของการรองรับ ในเรื่องของการ Re-skill ในเรื่องของการ Training ราชการ ตลอดจนการคัดกรองคนที่ไม่มีประสิทธิภาพออกจากระบบโดยที่ขณะเดียวกันก็ยังคงไว้ซึ่งข้าราชการที่มีประสิทธิภาพนั้นจะทำอย่างไร 5. การปฏิรูปงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 6. การปรับเปลี่ยนสู่รัฐบาลดิจิทัล 7. การยกระดับการให้บริการภาคประชาชน ซึ่งใน 7 เรื่องดังกล่าวมีข้อเสนอที่สำคัญคือจะใช้กลไกประชารัฐดำเนินการใน 7 เรื่องนี้ เพราะเนื่องจากระบบราชการเป็นเรื่องที่การปฏิรูปคงยังไม่สามารถทำขึ้นมาได้โดยตัวเอง จึงจะให้ภาคประชาชน ภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วม โดยที่ประชุมได้มีการหารือกันถึงรายชื่อบุคคลที่น่าสนใจที่จะทาบทามให้มาร่วมดำเนินการในด้านต่าง ๆ ซึ่งการปฏิรูปใน 7 มิตินี้จะเป็นมิติใหม่ของการปฏิรูปไปสู่ระบบราชการ 4.0 โดยจะเป็นกลไกประชารัฐ ที่มีเจ้าภาพที่ชัดเจนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนมืออาชีพเข้ามามีส่วนในการปฏิรูป
---------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th