วันนี้ (13 ก.ค. 60) เวลา 10.00 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา ครั้งที่ 1/2560 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงวางรากฐานแนวทางการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยไว้จำนวนมาก โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงรับสั่งว่า ประเทศไทยต้องมีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เหมาะสมกับการพัฒนาประเทศ และตรงกับเป้าหมายของแต่ละกิจกรรมให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของภาคราชการ และภาคธุรกิจต่าง ๆ เพื่อให้มีการพัฒนาประเทศได้อย่างรวดเร็วตามเป้าหมายที่วางไว้ พร้อมทั้งให้มีการพัฒนาเรื่องของระเบียบวินัย และการเคารพกฎหมาย ทั้งนี้ ขอให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องน้อมนำพระราชดำรัส สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งทรงเน้นให้สร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียนใน 4 ด้าน ได้แก่ 1) มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง 2) มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคงเข้มแข็ง รู้จักแยกแยะสิ่งผิด-ชอบ 3) มีอาชีพ-มีงานทำ 4) เป็นพลเมืองดี มีจิตอาสา นอกจากนี้ การดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ควรขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างน้อยภายในปีงบประมาณ 2562 เพื่อเป็นฐานสู่การดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในระยะถัดไป โดยคำนึงถึงกรอบยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องขับเคลื่อนสำคัญ อาทิ การสื่อสารกับสังคมในเรื่องการจัดทำแผนกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ การพัฒนาระบบ E-Learning เพื่อสร้างระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับคนไทยทุกกลุ่ม การทำความร่วมมือกับสถานประกอบการโดยทำการแปลภาษาที่ใช้ในการปฏิบัติงานให้เป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาที่จำเป็นอื่นๆ ในทุกโรงงานภายในสิ้นปีนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาทักษะภาษาให้กับแรงงานในทางหนึ่ง
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการไปพิจารณาดำเนินการในการที่จะให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงบริการ e-Learning ได้มากขึ้น เพื่อใช้สำหรับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิต ตลอดจนเป็นช่องทางในการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาที่จะต่อยอดไปเป็นครู รวมทั้งเน้นย้ำให้มีการเตรียมการเรื่องของการพัฒนาบุคลากรต่าง ๆ ของประเทศให้พร้อมรองรับการดำเนินการปฏิรูปการศึกษาดังกล่าว รวมถึงการใช้จ่ายงบประมาณของโครงการต่าง ๆ ต้องเป็นไปอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ รวมทั้งไม่ให้เป็นภาระงบประมาณของรัฐบาลต่อไป
พร้อมทั้ง ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าผลการดำเนินงานการปฏิรูปด้านการศึกษา 10 ด้าน ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ เสนอ ประกอบด้วย 1) การปฏิรูประบบครูและผู้บริหารโรงเรียน 2) การจัดการศึกษาปฐมวัย 3) การศึกษาขั้นพื้นฐาน 4) อาชีวศึกษา 5) อุดมศึกษา 6) การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษและภาษาจีน 7) การประกันคุณภาพการศึกษา 8) เทคโนโลยีทางการศึกษา 9) คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และ 10) การปรับปรุงและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ โดยมีรายละเอียดที่สำคัญของแต่ละด้าน อาทิ การปฏิรูประบบครูและผู้บริหารโรงเรียน ปรับปรุงคัดเลือกครู โดยปรับระบบสอบคัดครูให้ใช้ข้อสอบกลาง เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ดำเนินงานโครงการครูคืนถิ่น และการประกาศรับสมัครครูผู้ช่วยจากผู้ที่ไม่ได้จบคุรุศาสตร์ในสาขาวิชาขาดแคลน ในการพัฒนาครูเพื่อให้ได้ครูที่ที่เก่งและดีมาอยู่ในระบบ จัดตั้งสถาบันคุรุพัฒนา ปรับเปลี่ยนเกณฑ์วิทยาฐานะครู การใช้งบประมาณเพื่อการฝึกอบรมพัฒนาครูจำนวน 10,000 บาท/ต่อคน/ปี (ขณะนี้ มีครูสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ ประมาณ 200,000 กว่าคนแล้ว) และการปรับเปลี่ยนโฉมคุรุสภา การพัฒนาผู้บริหารโรงเรียน การศึกษาขั้นพื้นฐาน ปรับหลักสูตร โดย สพฐ. จัดทำประกาศเรื่องยืดหยุ่นโครงการสร้างชั่วโมงเรียนให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละโรงเรียน การปรับเปลี่ยนระบบการจัดการเรียนการสอน lab วิทยาศาสตร์-เน้นสะเต็มศึกษา เพิ่มวิชาภูมิศาสตร์และ ICT ปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ การปรับปรุงมาตรฐานตำราและระบบการใช้หนังสือยืมเรียน การอ่านออกเขียนได้ การประเมินผล โครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ โครงการโรงเรียน ICU การปรับเปลี่ยนแนวทางการให้ทุนเพื่อช่วยเหลือเด็กยากจน การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก การศึกษาทางไกลร่วมกับมูลนิธิทางไกลผ่านดาวเทียม โครงการโรงเรียนคุณธรรม การพัฒนาระบบประเมินคุณธรรม โครงการดูงานและฝึกประสบการณ์สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น โครงการโรงเรียนกีฬาและการจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาชีวศึกษา ผลิตคนเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศตามทิศทางการพัฒนาสู่ Thailand 4.0 : โครงการค่ายอาชีวะฤดูร้อน (Vocational Boot Camp) “เปลี่ยนโรงงานเป็นโรงเรียน (Education to Employment)” โครงการพัฒนาสถานศึกษาต้นแบบทวิภาคีสานพลังประชารัฐ (Excellent School Model) การเพิ่มความร่วมมือกับภาคเอกชน การวิจัยและพัฒนาระบบฐานข้อมูลความต้องการแรงงานของประเทศแบบ real time การจัดการศึกษาทวิภาคีแนวใหม่ โดยให้ภาคเอกชนเป็นผู้นำ สถานศึกษาอาชีวะคุณธรรม และโครงการอาชีวะพระดาบสในเขตพื้นที่ชายขอบ ภาษาอังกฤษและภาษาจีน สร้างสื่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ การอบรมพัฒนาครูภาษาอังกฤษในรูปแบบ Boot Camp การจัดตั้งศูนย์อบรมครูภาษาอังกฤษภูมิภาค (English Boot Camp Regional Center) การสร้างมาตรฐานภาษาอังกฤษ (CEFR - THAI) การประกาศเพิ่มชั่วโมงเรียนภาษาอังกฤษจาก 1 เป็น 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในระดับประถมศึกษาปีที่หนึ่งถึงสาม (พิจารณาความพร้อมของนักเรียน ครูและสถานศึกษาประกอบการดำเนินการ หากโรงเรียนใดยังไม่มีความพร้อมจะมีการพิจารณาสนับสนุนดำเนินการให้ตามความเหมาะสม ) การพัฒนาสื่อการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ จัดทำ English Applications การก่อตั้งสถาบัน เพื่อพัฒนาภาษาอังกฤษสำหรับอาชีวศึกษาทั้งระบบ การพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีน การปรับปรุงการบริหารราชการแผ่นดิน การปรับโครงสร้างการบริหาร การแก้ไขปัญหาปราบปราม ทุจริตคอรัปชั่น การปฏิรูปการเรียนการสอนตามยุทธศาสตร์ชาติอย่างเร่งด่วนด้วยงบประมาณเหลือจ่ายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี 2559 เป็นต้น
อีกทั้ง ที่ประชุมได้มีการพิจารณาและให้ความเห็นใน 4 เรื่อง ดังนี้ 1) ยุทธศาสตร์การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ สถาบันทางการแพทย์และสถาบัน การศึกษาต่างๆ ในภาพรวมของประเทศในระยะยาว (5 – 10 ปี) ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นกรอบทิศทางการดำเนินการร่วมกันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ใน 3 ด้าน ได้แก่ การบริการสุขภาพ การศึกษาด้านการแพทย์ และการวิจัยทางการแพทย์ โดยมียุทธศาสตร์ 3 ด้าน คือ 1) สร้างความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ 2) สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสุขภาพ 3) ลดความเหลื่อมล้ำของสถานบริการ ใน 5 สาขาหลัก ได้แก่ หัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง บาดเจ็บและการแพทย์ฉุกเฉิน ทารกแรกเกิด และการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ รวมถึงมีโครงการด้านการวิจัยและการสนับสนุนในสาขาด้านอื่นๆ อาทิ การดูแลผู้สูงอายุ โรคอุบัติใหม่
ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการและมีความเห็นเพิ่มเติมโดยควรพิจารณาการดำเนินการในลักษณะของเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศฯในภาพรวมของประเทศที่มีความเชื่อมโยงกันทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงให้มีการจัดทำรายละเอียดแผนปฏิบัติการสำหรับการจัดทำงบประมาณให้ชัดเจน โดยจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนและระยะเวลาการลงทุนของโครงการในแต่ละปี และการพิจารณาถึงความซ้ำซ้อนของโครงการ นอกจากนี้ ควรมีการวางแผนด้านกำลังคนด้านการแพทย์ในระยะยาวที่จะรองรับการลงทุนดังกล่าว โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษาและภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้มีการผลิตบุคลากรทางแพทย์ที่เพียงพอ ทั้งนี้ ควรสร้างความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในการสนับสนุนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศไทย เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ รวมถึงขยายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาอื่นๆที่นอกเหนือจากโรงเรียนแพทย์ เพื่อผลิตบุคลากรวิชาชีพอื่นที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมทางการแพทย์ทั้งห่วงโซ่มูลค่า เช่น วิศวกร เป็นต้น
2) โครงการสนับสนุนนักเรียนทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระยะที่ 4 ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดสรรทุนให้ไปศึกษาต่อ จำนวน 1,500 ทุน ในช่วงปี 2561 - 2565 ทั้งในและต่างประเทศ ในระดับปริญญาตรี-โท-เอก ระดับปริญญาโท ระดับปริญญาโท-เอก งบประมาณรวม 11,090 ล้านบาท ระยะเวลาผูกพันงบประมาณ 15 ปี เพื่อเพิ่มจำนวนนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ทำงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและขับเคลื่อน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล และรองรับพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่มุ่งเน้นวิจัยและนวัตกรรม (Eastern Economic Corridor of innovation: EECi) โดยที่ประชุมให้ความเห็นชอบในหลักการ พร้อมให้จัดทำกรอบแนวทางการผลิตและพัฒนานักวิจัยทั้งระบบ โดยเริ่มจากโจทย์การพัฒนาและย้อนกลับมาจัดทำแนวทางการจัดสรรทุนตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยที่ต้นทางควรมีการกำหนดแนวทางการคัดเลือกผู้ได้รับทุน/สาขา โดยหากเป็นระดับปริญญาเอกอาจต้องให้มีการแสดงผลงานในระดับปริญญาโทการติดตามการเรียนของนักเรียนทุนในสาขาที่กำหนดไว้ ในขั้นกลางทางควรหาแนวทางให้นักวิจัยในสาขาต่าง ๆ รวมตัวกันทำวิจัยเพื่อตอบโจทย์ที่กำหนดไว้ และขั้นปลายทางควรจัดทำมาตรการเพื่อให้มีการนำงานวิจัยสู่การเพิ่มมูลค่าในการผลิต รวมทั้งการกำหนดเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพและค่าตอบแทนที่เหมาะสม อีกทั้ง ที่ประชุมมีความเห็นว่าควรปลดเงื่อนไขเพื่อให้สิทธิแก่นักวิจัยในการนำผลงานไปใช้ได้ นอกจากนี้ เนื่องจากปัจจุบันบริบทของโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วซึ่งการผลิตคนอาจไม่ทันกับความต้องการ จึงควรมีการกำหนดกรอบการผลิตและใช้นักวิจัยที่พิจารณาทั้งการสร้างนักวิจัยเองและการซื้อตัวนักวิจัย (Make or Buy) ร่วมกันอย่างเหมาะสม
3)โครงการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ในอุดมศึกษา เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก (ทุนพัฒนาอาจารย์) พ.ศ. 2561-2580 ของกระทรวงศึกษาธิการ วงเงินงบประมาณรวม 15,014 ล้านบาท ให้ทุนศึกษาต่อระดับปริญญาเอก จำนวน 4,500 ทุนครอบคลุม 15 สาขาวิชา โดย 10 สาขาเป็นสาขาใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และที่เหลือเป็นสาขาการศึกษาและนวัตกรรมการศึกษา มนุษย์ศาสตร์ สังคมศาสตร์ กฎหมาย และวิทยาศาสตร์ และทุนพัฒนาอาจารย์ หลังปริญญาเอก จำนวน 500 ทุน โดยที่ประชุมเห็นควรให้กระทรวงศึกษาจัดลำดับความสำคัญและจัดทำกรอบการจัดสรรในระยะ 3 ปี โดยพิจารณาความจำเป็นในการจัดสรรทุนจากปัจจัยต่างๆ อาทิ จำนวนการให้ทุนศึกษาต่อระดับปริญญาเอกโดยมหาวิทยาลัยเอง อัตราทดแทนการเกษียณอายุ จำนวนคนในระบบที่ยังไม่ได้รับการบรรจุเข้าทำงาน ความจำเป็นของการไปเรียนต่างประเทศในบางสาขาวิชา ทั้งนี้ การจัดสรรในอนาคตควรอยู่บนฐานคิดที่ให้มหาวิทยาลัยร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่าย รวมถึงการสร้างความร่วมมือในการผลิตคนร่วมกับสถาบันการศึกษาต่างประเทศ พร้อมให้สำนักงาน ก.พ. เป็นผู้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับทุนการศึกษาของหน่วยงานต่างๆ ในภาพรวมให้เป็นระบบ
4) โครงการผลิตทันตแพทย์เพิ่มของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ระยะที่ 2 เพื่อพัฒนาทันตสุขภาวะของประชาชน (ปี 2560 – 2564) ของกระทรวงศึกษาธิการ มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตทันตแพทย์เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนโดยเฉพาะพื้นที่ชนบท กำหนดเป้าหมายปีละ 300 คน ในช่วงปี 2560 – 2564 งบประมาณ รวม 4,200 ล้านบาท โดยที่ประชุมเห็นควรให้จัดทำแผนขอรับการสนับสนุนระยะเวลา 3 ปี พร้อมเพิ่มเติมการจัดทำกลุ่มเป้าหมายในการให้บริการที่ชัดเจน โดยมุ่งเน้นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเป็นหลัก พร้อมให้สำนักงาน ก.พ. เป็นผู้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับทุนการศึกษาของหน่วยงานต่างๆ เพื่อเป็นภาพรวมในระบบ
-------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th