นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุม คนร.ครั้งที่ 3/60 รับทราบความคืบหน้าการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ 7 แห่ง ย้ำให้ ธพว.สร้างความแข็งแกร่ง SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ให้ ขสมก.พิจารณาความเหมาะสมคุ้มค่าในการจัดหารถโดยสารแต่ละประเภท
วันนี้ (17 ก.ค.60) เวลา 13.30 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 3/2560 ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยภายหลังการประชุม นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คนร. ได้เปิดเผยผลการประชุม สรุปได้ดังนี้
คนร. รับทราบความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... (ร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจฯ) โดยปัจจุบัน คนร. ได้เสนอความเห็นยืนยันร่างพระราชบัญญัติฉบับที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้ตรวจพิจารณาแล้วเสร็จต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้วเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งหลักการ 6 เรื่องสำคัญของร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจฯ คือ 1) จัดตั้งคนร. ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติเพื่อกำหนดนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ 2) มีแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนารัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องแผนพัฒนาฯ และยุทธศาสตร์ชาติ 3) มีกระบวนการสรรหากรรมการที่ชัดเจนและนำสมรรถนะหลักและความรู้ที่จำเป็น (Skill Matrix) มาใช้ 4) มีกลไกระบบการกำกับดูแลที่ดี (Good Governance) เพื่อเปิดเผยข้อมูลให้เกิดความโปร่งใสและส่งเสริมความรับผิดรับชอบในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล (Transparency & Accountability) 5) พัฒนาระบบประเมินผลที่เชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจและนโยบายอย่างเป็นระบบ และ 6) จัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่เป็นเจ้าของ และพัฒนารัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจำกัดในฐานะผู้ถือหุ้นเชิงรุก (Active Shareholder) ซึ่งร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจฯ จะทำให้การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจมีความบูรณาการในภาพรวม เป็นระบบ และโปร่งใส มากยิ่งขึ้น
คนร. รับทราบความคืบหน้าการจัดทำแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ ปัจจุบัน สคร. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ คนร. ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจ จัดทำแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจรายสาขา ปี 2560 – 2564 ตามที่ คนร. มอบหมาย และได้จัดส่งให้รัฐวิสาหกิจนำแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจภาพรวมและรายสาขาไปใช้ในการจัดทำแผนการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจต่อไป ทั้งนี้ การดำเนินการข้างต้นเป็นการนำหลักการสำคัญของร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจฯ มาปรับใช้กับการดำเนินงานในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดการพัฒนารัฐวิสาหกิจอย่างเป็นระบบและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ
คนร. ยังรับทราบแนวทางการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การสรรหากรรมการรัฐวิสาหกิจเป็นไปอย่างโปร่งใส สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจและการกำกับกิจการที่ดี โดยการนำสมรรถนะหลักและความรู้ที่จำเป็น (Skill Matrix) มาใช้ในการสรรหากรรมการรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้ได้กรรมการที่มีความรู้และความสามารถตรงกับความต้องการของรัฐวิสาหกิจ และเปิดโอกาสให้ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ในภาคธุรกิจเข้ามาเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ เพื่อเพิ่มมุมมองในเชิงธุรกิจในการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจมากยิ่งขึ้น รวมทั้งกำหนดให้มีผู้แทนกระทรวงเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจที่เป็นข้าราชการประจำในกระทรวงเจ้าสังกัด ซึ่งไม่อยู่ในหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการของรัฐวิสาหกิจนั้น (Regulator) เป็นกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและธรรมาภิบาลที่ดีในการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจได้กำหนดให้ไม่แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติข้าราชการการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจเพิ่มเติมด้วย ทั้งนี้ การดำเนินการข้างต้นเป็นการนำหลักการสำคัญของร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจฯ มาปรับใช้กับการดำเนินงานในปัจจุบัน เพื่อให้มีกระบวนการสรรหากรรมการรัฐวิสาหกิจที่โปร่งใสและได้กรรมการรัฐวิสาหกิจที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาพัฒนารัฐวิสาหกิจ
พร้อมกันนี้ คนร. รับทราบรายงานความคืบหน้าดำเนินการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรประจำปี 2560 โดยมีสาระสำคัญของข้อสั่งการดังนี้
1) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) โดยส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นและเป็นไปตามแผนที่กำหนด ซึ่ง คนร. ได้เน้นย้ำให้ให้ ธพว. สร้างความแข็งแกร่งแก่ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและสนับสนุนการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ได้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ ธพว. เร่งดำเนินการช่วยเหลือ SMEs ในวงเงิน 38,000 ล้านบาท ภายใต้มาตรการช่วยเหลือ SMEs ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติไว้ และเร่งดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงตามแผนที่กำหนดให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนกันยายน 2560
2) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ได้ดำเนินการโอนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPF) ในส่วนของลูกค้าที่ไม่ใช่มุสลิมไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (IAM) เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 และยังอยู่ระหว่างการสรรหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อเข้าร่วมดำเนินกิจการ ทั้งนี้ คนร. ได้ให้ ธอท. กำหนดขั้นตอนการหาพันธมิตรให้มีความโปร่งใสและเกิดประโยชน์สูงสุดกับภาครัฐ รวมทั้ง ให้ ธอท. จัดทำแผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วนเพื่อให้ ธอท. สามารถดำเนินการได้ต่อเนื่องในระหว่างการสรรหาพันธมิตร
3) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (บมจ. ทีโอที) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (บมจ. กสท) โดยปัจจุบันคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้จัดตั้งบริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN) ในการดำเนินธุรกิจเคเบิ้ลใยแก้วใต้น้ำและอินเทอร์เน็ตดาต้าเซ็นเตอร์และบริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศ และศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC) ในการดำเนินธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ซึ่ง คนร. ได้ให้ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท เร่งจัดตั้งบริษัทลูกให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2560 และเปิดให้บริการได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2560
4) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (บกท.) ในปี 2560 บกท. มีอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (Cabin Factor) ที่ดีขึ้นและสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดย คนร. ขอให้ บกท. เร่งเพิ่มรายได้จากผู้โดยสารและเร่งนำระบบการบริหารรายได้และโครงข่ายที่อยู่ระหว่างการพัฒนามาใช้ และให้นำมาตรฐานอุตสาหกรรมมาใช้เป็นคู่เทียบในการพัฒนาประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง
5) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้รายงานความคืบหน้าการจัดหารถ NGV 489 คัน ซึ่งคาดว่าจะจัดหาได้ภายในปีนี้ โดย คนร. ได้ให้ ขสมก. พิจารณาความเหมาะสมและความคุ้มค่าในการจัดหารถโดยสารแต่ละประเภทเพื่อรองรับบทบาทการเป็นผู้ประกอบการเดินรถและพัฒนาคุณภาพการให้บริการแก่ประชาชน
6) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดย คนร. ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมกำกับให้ รฟท. เร่งดำเนินการตามแผนการพัฒนาที่ดิน Non – Core และให้ทบทวนความเหมาะสมในการจัดตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สินด้วย รวมทั้ง ให้มีแนวทางการนำรายได้ที่ได้รับจากการพัฒนาที่ดิน Non – Core มาชำระหนี้สินของ รฟท. อย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ ให้สร้างความชัดเจนเกี่ยวกับรูปแบบ ผู้รับผิดชอบหลัก และแผนการบริหารจัดการรถไฟสายสีแดงโดยเร็ว ให้มีความพร้อมในการเปิดให้บริการในปี 2563 รวมทั้งให้กระทรวงคมนาคมสร้างความชัดเจนและความพร้อมในการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง และการจัดตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สิน ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน
-------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
(ข้อมูลจากฝ่ายเลขานุการ คนร.)
ที่มา: http://www.thaigov.go.th