วันนี้ (31 ก.ค.60) เวลา 13.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 3/2560 โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ภายหลังการประชุม พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน และนายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน โฆษกกระทรวงพลังงาน ได้แถลงผลการประชุมสรุปสาระสำคัญดังนี้
ที่ประชุม กพช. พิจารณาแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ เพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติทั้งระบบ ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดหาและการให้บริการ ทำให้ผู้บริโภคได้รับบริการที่ดีมีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม เป็นธรรม ที่ประชุม กพช. จึงได้เห็นชอบหลักการและแนวทางการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ โดยให้ดำเนินโครงการนำร่องเพื่อทดสอบระบบต่าง ๆ ในระยะที่ 1 และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดแข่งขันเสรีเต็มรูปแบบในอนาคต โดยมอบหมายให้ กฟผ. ดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมเป็นผู้จัดหาก๊าซ LNG รายใหม่ จากเดิมที่มี ปตท. แต่เพียงรายเดียว ในปริมาณการจัดหา LNG ไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี และเริ่มจัดหาภายในปี 2561 โดยใช้หลักเกณฑ์การนำเข้าเช่นเดียวกับ ปตท. และให้ กฟผ. แยกธุรกิจการจัดหาและจำหน่ายก๊าซออกจากกิจการผลิตไฟฟ้าให้เกิดความชัดเจน พร้อมกำหนดให้ ปตท. แยกธุรกิจท่อส่งก๊าซทางบัญชีออกจากระบบจัดหาและจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้บริหารระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ (Transmission System Operator หรือ TSO) ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ. ทั้งนี้ ให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) บริหารนโยบายการจัดหาก๊าซธรรมชาติ รวมถึงติดตามอุปสงค์และอุปทานของก๊าซ LNG ให้มีความเหมาะสม สำหรับการดำเนินการในระยะที่ 2 และ 3 คือ ระยะเปลี่ยนผ่านจนถึงเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบ ที่ประชุม กพช. ได้รับทราบในหลักการ และได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปศึกษาการดำเนินงาน และให้นำกลับมาเสนอ กบง. และ กพช. พิจารณาตามลำดับต่อไป
พร้อมกับเห็นชอบแนวทางการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG เต็มรูปแบบ ตามที่ กบง. ได้มีมติวางแนวทางไว้ เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2560 โดยให้ยกเลิกการกำหนดราคาโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมันและโรงอะโรเมติก ยกเลิกการประกาศราคาขายส่ง ณ คลังก๊าซ เพื่อให้ตลาดก๊าซ LPG มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ โดยให้ สนพ. และกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ติดตามและรายงานเฉพาะราคาอ้างอิงเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำกับดูแลราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในประเทศ พร้อมมีกลไกการติดตามสถานการณ์ราคาอ้างอิงการนำเข้าก๊าซ LPG และต้นทุนโรงแยกก๊าซอย่างใกล้ชิดเป็นรายเดือน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2560 เป็นต้นไป พร้อมเห็นชอบให้ ปตท. สามารถดำเนินธุรกิจคลังก๊าซภายใต้โครงการ LPG Integrated Facility Enhancement (โครงการ LIFE) ในเชิงพาณิชย์ได้
ที่ประชุม กพช. รับทราบแนวทางการให้สวัสดิการแห่งรัฐผ่านบัตรสวัสดิการสำหรับค่าพลังงาน ของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ที่ประชุม กพช. จึงได้เห็นชอบให้ปรับระบบและมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยด้านพลังงาน โดยให้ดำเนินการผ่านระบบบัตรสวัสดิการตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 ของกระทรวงการคลัง ทดแทนนโยบายและมาตรการค่าไฟฟ้าฟรี ภายในวงเงิน 200 บาท/คน/เดือน และโครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน ของกระทรวงพลังงาน ภายในวงเงิน 45 บาท/คน/3 เดือน โดยรับทราบว่า ระบบใหม่ของกระทรวงการคลังนี้ จะขยายฐานการเข้าถึงผู้มีรายได้น้อยถึง 14 ล้านคน (จากเดิมเพียง 7 ล้านคน ภายใต้ระบบปัจจุบันของกระทรวงพลังงาน) และระบบใหม่นี้จะเป็นการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยโดยตรง ทำให้ช่วยบรรเทาค่าครองชีพได้ดีกว่าระบบเดิมที่กระทรวงพลังงานดำเนินการอยู่
พร้อมกันนี้ ที่ประชุม กพช. รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนการขับเคลื่อนภารกิจด้านพลังงานเพื่อส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย ที่ประชุม กพช. จึงได้เห็นชอบให้สถานีอัดประจุไฟฟ้าใช้อัตราค่าไฟฟ้าตามประกาศเรื่องอัตราค่าบริการสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในระยะแรก เพื่อรองรับการใช้งานรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้า (โครงการนำร่อง) ของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (เทียบเท่าอัตราค่าไฟของกิจการขนาดกลาง) เป็นการชั่วคราวไปก่อน จนกว่าจะมีอัตราค่าไฟฟ้าถาวรสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้ ให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย อำนวยความสะดวกแก่เจ้าของสถานีอัดประจุในการขออนุญาตต่างๆ
นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช. เห็นชอบในหลักการร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (ฟฟล.) ซึ่งเป็นการรวมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำงึม 1 และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนเซเสด เข้าด้วยกันเป็นสัญญาฉบับใหม่ สำหรับสัญญาดังกล่าวจะเป็นลักษณะของการให้ความช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าระหว่างประเทศไทย-สปป.ลาว แบบ Non – Firm โดยมีอายุสัญญาถึง 31 ธ.ค. 2567 ทั้งนี้ ให้ กฟผ. ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฯ ดังกล่าว ภายหลังจากที่ร่างสัญญาฯ ได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว พร้อมเห็นชอบร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไปประเทศมาเลเซีย ผ่านระบบส่งไฟฟ้าของไทย (LTM-PIP) โดยมีเป้าหมายให้มีการขายไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไปยังมาเลเซีย ผ่านระบบส่งของไทย ในปริมาณไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ อายุสัญญา 2 ปี นับจาก 1 ม.ค. 2561 ซึ่งเป็นการดำเนินภายใต้โครงการเชื่อมโยงพลังงานไฟฟ้าระหว่าง 4 ประเทศ ได้แก่ สปป. ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ (LTMS-PIP) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงระบบโครงข่ายไฟฟ้าในประเทศสมาชิกอาเซียนตามแผน ASEN POWER GRID (APG) ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ให้นำเสนอ ครม. ตามลำดับต่อไป
สำหรับสถานการณ์พลังงาน 6 เดือนแรกของปี 2560 และแนวโน้มปี 2560 ที่ประชุม กพช. ได้รับทราบว่า ภาพรวมการใช้พลังงานขั้นต้น ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย (GDP) ไตรมาสแรกที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การส่งออกสินค้าและบริการ รวมถึงการลงทุนรวม โดยมีการใช้พลังงานทดแทนทุกประเภทเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 31.9 ตามนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของภาครัฐ สำหรับการจัดหาพลังงานขั้นต้น พบว่า การผลิตพลังงานจากแหล่งในประเทศลดลงร้อยละ 4.8 ในขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ1.8 หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของการใช้พลังงานขั้นต้น ส่วนแนวโน้มปี 2560 นั้น คาดว่า ความต้องการพลังงานขั้นต้นจะเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัว ในทุกประเภทยกเว้นก๊าซธรรมชาติที่คาดว่าจะลดลงตามการใช้ไฟฟ้าในระบบของ 3 การไฟฟ้าที่ลดลงในช่วง 6 เดือนแรก โดยในส่วนของน้ำมันสำเร็จรูป คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังคงอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก โดยอยู่ในช่วง 47-57 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว สำหรับการใช้ไฟฟ้า คาดว่าจะอยู่ที่ 186,484 ล้านหน่วย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น และเมื่อพิจารณาประสิทธิภาพการใช้พลังงานรวมของประเทศ (Energy Intensity) คาดว่าจะลดลงร้อยละ 1.6 เทียบกับปีก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการใช้พลังงานของประเทศที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
-----------------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
(ข้อมูลจากฝ่ายเลขานุการ กพช.)
ที่มา: http://www.thaigov.go.th