วันนี้ (2 ส.ค.60) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี (เดิม) ชั้น 2 อาคารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ครั้งที่ 2/2560 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี พลเอก อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล พลเอก ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในส่วนกลาง และในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลทั้ง 13 คน ในฐานะกรรมการ คปต. เข้าร่วมประชุมด้วย
โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวต่อที่ประชุมฯ ถึงการประชุม คปต. ว่า เพื่อให้คณะกรรมการได้รับทราบถึงการขับเคลื่อนงานการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการพิจารณาร่างแผนงานและกรอบของแผนงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจความมั่นคงของ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ตลอดจนการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างยั่งยืน
พร้อมกล่าวถึงการใช้เครื่องมือสนับสนุนการปฏิบัติงานของทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง เพื่อมุ่งป้องกัน และขจัดเงื่อนไขภัยคุกคามความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นต้องเร่งจัดระบบให้มีกรอบการจัดหา และการบำรุงรักษาให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเหล่าทัพและ กอ.รมน. เร่งจัดทำและปรับปรุงแผนงานที่เกี่ยวข้องให้สมบูรณ์ ทันสมัย เพื่อนำเสนอ คปต. พิจารณาต่อไป
ขณะที่การใช้กล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความก้าวหน้าไปเป็นลำดับ โดยมอบหมายให้ กอ.รมน. และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นหน่วยงานรับผิดชอบจัดทำรายละเอียดของแผนการซ่อมบำรุงกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ฯ และพิจารณาจัดทำแผน/ โครงการที่สำคัญเร่งด่วน โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนฯ เพื่อนำเสนอ คปต. พิจารณาในการประชมครั้งต่อไป
ส่วนแผนการเสริมสร้างกองกำลังประจำถิ่นและกำลังประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2560 – 2564 ซึ่ง กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ดำเนินการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) เพื่อร่วมปฏิบัติงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครองอย่างมีประสิทธิภาพ นั้น รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ สมช. ไปพิจารณาทบทวนแผนงานโครงการที่หน่วยดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เพื่อปรับปรุงให้สมบูรณ์สอดคล้องกับแผนดังกล่าว รวมทั้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบริเริ่มจัดทำแผนงานโครงการใหม่ ๆ ภายใต้แผนงานฯ ดังกล่าว ทั้งนี้ งานเสริมสร้างกองกำลังประจำถิ่นและกำลังประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ รวมถึงการจัดกำลังทหารพราน เป็นกำลังรับผิดชอบหลักในพื้นที่เสริมสร้างความมั่นคงและพื้นที่เศรษฐกิจให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด ตลอดจนให้จัดกำลังตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม และดูแลพื้นที่ภายในให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย พร้อมขอบคุณกรรมการและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ได้ช่วยกันทำงานเพื่อส่วนรวมและความสงบสุขในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พลเอก ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้เปิดเผยถึงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ที่ประชุม คปต. ได้รับทราบเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการประเมินสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในรอบ 9 เดือน ที่ผ่านมา สรุปว่า เหตุการณ์รุนแรงลดลงมาโดยลำดับ เมื่อเทียบกับห้วงเดียวกันในปีที่แล้ว รวมทั้ง ได้มีวาระติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการตามมติ คปต. หรือข้อสั่งการประธาน คปต. ได้แก่ การพัฒนาระบบประสานงานด้านการข่าว มาตรการเฝ้าระวังรักษาความปลอดภัยพื้นที่โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” และการใช้ประโยชน์จากระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้เร่งรัดซ่อมบำรุงกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ชำรุดให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบกรอบแผนซ่อมบำรุงกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า เสนอ โดยแผนซ่อมบำรุงกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ดังกล่าวเป็นแผนซ่อมบำรุงที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องในอนาคต เพื่อเฝ้าระวังป้องการก่อเหตุร้ายเชิงรุกก่อนที่จะมีการก่อเหตุขึ้น
อีกทั้ง ที่ประชุม คปต.ได้ เห็นชอบร่างแผนการเสริมสร้างกองกำลังประจำถิ่นและกำลังประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2560 – 2564 ตามที่ กอ.รมน. เสนอ ซึ่งเป็นกรอบแผนดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจความมั่นคงของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักระดับหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในมาตรการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น รวมทั้งได้เห็นชอบการขออนุมัติกรอบอัตรากำลังพนักงานมหาวิทยาลัยในพื้นที่เพิ่มเติมของสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และเห็นชอบโครงการสานฝันกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนในพื้นที่มีโอกาสศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างยั่งยืน
------------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th