วันนี้ (9 ส.ค.60) เวลา 13.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 2/2560 โดยมี พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม
ภายหลังการประชุม นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กรรมการและเลขานุการ กนช. ได้แถลงผลการประชุมสรุปสาระสำคัญว่า นายกรัฐมนตรีมองว่าโครงสร้างในการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยมีลักษณะที่ข้ามอยู่หลายกระทรวง เมื่อมีการประชุมหรือมีการดำเนินการ ทำให้ขั้นตอนกระบวนการดำเนินการค่อนข้างล่าช้า จึงเห็นควรให้กรมทรัพยากรน้ำเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรีโดยตรง ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่ประสานการดำเนินการเรื่องการบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ เป็นเอกภาพ และเกิดความรวดเร็ว โดยการปรับเปลี่ยนครั้งนี้จะไม่มีอุปสรรค เพราะกรมฯ มีโครงสร้างการทำงานในลักษณะนี้อยู่แล้ว ส่วนจะมีการเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติหรือไม่ จะต้องรอกระบวนการขั้นตอนตามกฎหมาย รอการประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อน ซึ่งคาดว่าจะมีการออกคำสั่ง คสช.ตามมาตรา 44 มาดำเนินการและคงใช้เวลาไม่นาน
“กรมทรัพยากรน้ำในฐานะที่เป็นฝ่ายเลขานุการ กนช. และมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับท่านนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นข้อสั่งการ การดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ จะรวดเร็วยิ่งขึ้น เดิมกรมทรัพยากรน้ำ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่สองบทบาท ส่วนหนึ่งคือเป็นกรมที่มีพันธกิจเรื่องบริหารจัดการน้ำ อีกส่วนหนึ่งมีหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ที่จะนำนโยบายและข้อสั่งการทั้งหมดในการประชุม กนช. ไปดำเนินการร่วมกับหน่วยงานอื่น ซึ่งตรงนี้นายกรัฐมนตรีมองว่ายังมีประสิทธิภาพไม่ทันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะภาวะฉุกเฉินภาวะน้ำท่วม ซึ่งต่อไปก็อาจจะมีภาวะภัยแล้ง นายกรัฐมนตรีจึงอยากให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้เบ็ดเสร็จ เกิดประสิทธิภาพอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ การทำงานที่ผ่านมาในระดับการบริหารจัดการ ทุกส่วนราชการได้ให้ความร่วมมือดี ไม่ได้เป็นปัญหาอุปสรรค แต่เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว หากหน่วยงานได้มีการขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีจะมาถึงหน่วยงานได้โดยตรง หน่วยงานก็จะสามารถนำไปปฏิบัติ ดำเนินการเชิงนโยบายได้เร็วขึ้น ซึ่งเป็นการลดขั้นตอนการดำเนินการ” อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำกล่าว
พร้อมกันนี้ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำเผยว่า ที่ประชุมได้หารือถึงสถานการณ์ฝนปัจจุบันของประเทศไทยว่า มีปริมาณฝนสะสมสูงกว่าค่าปกติ 43% จากการคาดการณ์ปริมาณฝนรายเดือนจะพบว่า เดือนสิงหาคม – กันยายนนี้จะมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากได้ในหลายพื้นที่โดยเฉพาะทางภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก รวมถึงภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่วนในช่วงเดือนตุลาคม มีโอกาสที่พายุจะเคลื่อนตัวเข้าใกล้หรือผ่านภาคใต้ทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีฝนตกชุกหนาแน่น ทั้งนี้ ต้องขอให้ประชาชนติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและรับฟังคำเตือนจากหน่วยงานราชการต่อไป
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำกล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาให้ทุกหน่วยเร่งแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำโดยดำเนินการให้เป็นระบบ โดยน้อมนำแนวทางพระราชดำริมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการน้ำ การเพิ่มพื้นที่กักเก็บ การจัดทำประตูน้ำ คลองผันน้ำ คลองไส้ไก่ การเก็บน้ำลงดิน การพิจารณาพื้นที่เนินเขาเป็นพื้นที่รับน้ำ ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงทั้งน้ำแล้ง และน้ำท่วม ครอบคลุมทั้ง 4 ภาค รวมถึงพื้นที่กรุงเทพมหานครและการป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจ รวมถึงแผนป้องกันอุทกภัยเฉพาะพื้นที่ ให้แก้ไขปัญหาไม่น้อยกว่าร้อยละ 30-50 ในช่วง 2 ปีแรก (ปี2560-2562) พร้อมทั้งเร่งจัดการสิ่งกีดขวางทางน้ำให้แล้วเสร็จ และเพื่อให้การแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบมีการบูรณาการ โดยให้ทุกหน่วยส่งให้ฝ่ายเลขานุการ กนช. นำเสนอคณะรัฐมนตรีภายในหนึ่งเดือน
“นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของการบริหารจัดการน้ำเป็นอย่างยิ่ง ประเทศไทยประสบกับสถานการณ์น้ำท่วมภาคอีสานมีฝนตกปริมาณมากที่อาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากภาวะโลกร้อน และมีฝนตกหนัก มีมรสุมลูกแรกเข้ามา ทำให้จังหวัดสกลนคร ยโสธร อำนาจเจริญ ตลอดจนจังหวัดในภาคอีสานที่ติดลุ่มแม่น้ำโขงได้รับกระทบ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยเรื่องการแก้ไขปัญหาภาวะน้ำท่วม ที่ถึงแม้ส่วนราชการจะดำเนินการอย่างเป็นระบบแล้วก็ตาม แต่ในช่วงที่น้ำท่วมอยู่ต้องใช้เวลาในการระบายน้ำออก ที่ประชุมจึงให้ส่วนราชการเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาให้เป็นระบบยิ่งขึ้น โดยให้นำศาสตร์พระราชามาเป็นแผนแม่บทในการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ผลจากการที่เกิดสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ที่ผ่านมา ทำให้พบว่ายังมีสิ่งกีดขวางลำน้ำ ซึ่งได้มีการแก้ไขปัญหาแล้วแต่ยังมีส่วนที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ที่ประชุมก็ได้ให้เร่งรัดดำเนินการในส่วนนี้ เพราะตามธรรมชาติแล้วประมาณช่วงเดือนธันวาคม-มกราคมจะมีฝนตกมากที่ภาคใต้” อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำกล่าว
นอกจากนี้ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวด้วยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ที่จังหวัดนครราชสีมา จะมีการพิจารณาแผนวิธีการป้องกันน้ำท่วมภาคอีสานทั้งระบบ ไม่อยากให้เหตุการณ์ของสกลนคร หรือร้อยเอ็ด หรือจังหวัดใดก็แล้วแต่ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ไม่มีวิธีหรือระบบในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน ต้องตอบได้ว่าถ้าเกิดปัญหาน้ำท่วมขึ้น จะมีวิธีการแก้ไขปัญหาที่เป็นระบบ จะดำเนินการอย่างไร ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำในฐานะฝ่ายเลขานุการ กนช.จะได้หารือกับส่วนราชการและเร่งเสนอวิธีการแก้ไขปัญหากับทุกหน่วยงานภายใน 1 เดือน ซึ่งจะได้เห็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวนโยบายว่าในการแก้ไขปัญหาให้คำนึงถึงภาวะน้ำแล้งด้วย ไม่ใช่เอาน้ำทิ้งไปทั้งหมด จึงต้องนำระบบเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเชิงพื้นที่ที่ทุกส่วนราชการมีอยู่ ในเขตภาคอีสาน ในชุมชนและตัวเมือง กลับมาดูกรณีการเก็บกักน้ำไว้ใช้ช่วงหน้าแล้ง จะมีปริมาณที่เหมาะสมกับการใช้ในพื้นที่อย่างไร
----------------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th