วันนี้ (21 สิงหาคม 2560) เวลา 11.30 น. ณ หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ประกอบด้วย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พบและรับประทานอาหารกลางวัน (Working Lunch) กับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน และผู้บริหารท้องถิ่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นายกรัฐมนตรีแสดงความยินที่ได้พบกับผู้แทนองค์กรทั้งภาคราชการ ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้แทนภาคเอกชน และผู้แทนเกษตรกรในภาคอีสาน เพื่อหารือถึงแนวทางการพัฒนาภาคอีสาน เนื่องจากภาคอีสานมีศักยภาพ และสามารถพัฒนาเชื่อมโยงกับพื้นที่เศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูงอื่นๆ ได้แก่ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนต่างๆ กลุ่มประเทศ CLMV และ One Belt - One Road ซึ่งจะช่วยสร้างความเจริญเติบโตให้กับประเทศได้ ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจึงอยากรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาภาคอีสาน ที่มุ่งสร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้า และสร้างความเป็นธรรมในสังคมแก่คนรุ่นต่อไป เพื่อช่วยพัฒนาภาคอีสานให้เป็นจุดเชื่อมโยงและประตูสู่ภาคตะวันออกและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
โอกาสนี้ ผู้แทนจากกลุ่มต่าง ๆ ได้เสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาภาคอีสาน ดังนี้ (1) ผู้แทนจากส่วนราชการจังหวัด ได้เสนอให้มีการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะการเร่งรัดโครงการที่จะสามารถลดปัญหาการบริหารจัดการน้ำได้ อาทิ โครงการอ่างสะพุง การก่อสร้างประตูระบายน้ำ เป็นต้น (2) ผู้แทนจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ได้เสนอให้สร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็กแบบหลุมขนมครก เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำนอกเขตชลประทาน โดยขอรับการสนับสนุนด้านเครื่องจักรกลสำหรับการเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำให้กับเกษตรกรในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังเสนอให้รัฐบาลเพิ่มและสนับสนุนโครงการหรือมาตรการใด ๆ ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวอีสานให้ดียิ่งขึ้นได้ อาทิ การจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในภาคอีสาน โครงการธนาคารต้นไม้ และการปรับระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน (3) ผู้แทนจากภาคเอกชนเน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดการน้ำ เพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการให้เพียงพอ และเห็นควรให้มีการบริหารจัดการช่องทางผ่านแดนของคนกับสินค้าในลักษณะ One Stop Service ที่มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งสนับสนุนให้บูรณาการการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และ (4) ผู้แทนจากสภาเกษตรกรเสนอให้มีการจัดทำผังเกษตร (Demand) ให้สอดคล้องกับการจัดทำแผนการจัดหาน้ำ (Supply) เชื่อมโยงกับเกษตรนอกเขตชลประทาน พร้อมทั้งขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการปลูกพืชน้ำน้อยและเมล็ดพันธุ์ด้านพืชไร่ที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับฟังความเห็นต่าง ๆ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับนำประเด็นดังกล่าวไปพิจารณาและดำเนินการ บนพื้นฐานของความจำเป็นและความคุ้มค่า รวมทั้งคำนึงถึงความเหมาะสมและกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ด้วย
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีที่ได้พบและพูดคุยกับผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีจุดประสงค์เหมือนกันในการพัฒนาภาคอีสานให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ดีนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าการรักษาความสงบสุขในสังคมเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการพัฒนาภาคอีสาน หากประชาชนภายในประเทศขัดแย้งกันเองก็จะทำให้ประเทศเกิดความเสียหาย และไม่สามารถพัฒนาประเทศไปตามที่ต้องการได้ ดังนั้นทุกคนจำเป็นต้องร่วมมือกันในการหาแนวทางพัฒนาที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาประเทศได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้ออกเดินทางไปตรวจเยี่ยมการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง และการบริหารจัดการน้ำของ จังหวัดนครราชสีมา ทั้งระบบ ณ อ่างเก็บน้ำบึงกระโตน อำเภอประทาย รวมทั้งไปเยี่ยมชมหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการ และพบปะประชาชน ณ ศูนย์การเรียนรู้และขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง บ้านหนองขี้เหล็ก ตำบลวังหิน อำเภอโนนแดง จังหวัดนครราชสีมา
ที่มา: http://www.thaigov.go.th