นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ขอบคุณประชาชน จ.นครราชสีมาที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมชื่นชมผู้ว่าฯ 20 จังหวัดภาคอีสานที่ดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลอย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์ของประชาชน
วันนี้ (22 ส.ค.60) เวลา 13.00 น. ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณคณะผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่อำนวยความสะดวกเกี่ยวกับสถานที่สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ในครั้งนี้ พร้อมชื่นชมสถานที่ต่าง ๆ ของมหาวิทยามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีที่มีความสวยงามและมีความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย เหมาะสมที่จะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสถานที่อื่น ๆ ได้ปฏิบัติตาม
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการเดินทางมาตรวจราชการและพบปะกับประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาในโอกาสมาประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ว่า มีความรู้สึกที่ดีต่อประชาชนชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานทุกคนตลอดมา และมีความรู้สึกที่ดีต่อประชาชนทั้งประเทศ เพราะเป็นนายกรัฐมนตรีของคนทั้งประเทศและมีหน้าที่ทำงานเพื่อประชาชนและประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ตั้งแต่เข้ามารับหน้าที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และบริหารราชการแผ่นดิน รวมถึงขอบคุณสำหรับทุกกำลังใจที่ประชาชนได้มอบให้ ในการทำงานบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประเทศชาติและประชาชน
ส่วนกรณีที่มีประชาชนซึ่งเป็นสื่อในพื้นที่ได้ขอบคุณรัฐบาลและยื่นหนังสือขอเสนอแนวทางในการปฏิรูปสื่อนั้น นายกรัฐมนตรี ได้รับเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว และรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เดินทางมาพบปะกับประชาชนทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทั้งนี้ ยืนยันไม่รู้สึกผิดหวังแต่อย่างใดที่ได้เดินทางมา เพราะไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องได้รับการสนับสนุนหรือไม่สนับสนุน โดยหวังแต่เพียงว่าตนเองและรัฐบาลจะทำอะไรให้กับประชาชนในพื้นที่ได้
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวชื่นชมผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 20 จังหวัด ภายหลังจากที่ได้มีการพบปะหารือในประเด็นต่าง ๆ ร่วมกัน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดดังกล่าวได้มีการทำงานตามนโยบายรัฐบาลมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง โดยการพบปะกันครั้งนี้เป็นเพียงการมากำชับและรับทราบปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ ซึ่งทราบดีถึงปัญหาและศักยภาพของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอย่างไร ทั้งในเรื่องของประชาชน รายได้ที่ต่ำ ปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง และมีพื้นที่ที่อยู่ในเขตชลประทานมีจำนวนน้อย ตลอดจนไม่สามารถนำแร่ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่มาใช้ประโยชน์ได้ เพราะฉะนั้นเพื่อให้สามารถนำสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่มาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มศักยภาพ จะต้องมีการกำหนดแผนการดำเนินการให้ชัดเจน โดยต้องมีการบูรณาการงบประมาณการทำงาน function ของแต่ละกระทรวง หน่วยงาน รวมทั้งในระดับจังหวัดซึ่งมีทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด พาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด ฯลฯ ให้สามารถขับเคลื่อนไปได้ตามเป้าหมายที่กำหนด โดยเฉพาะการสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำทางกายภาพให้กับทุกตำบล และทุกหมู่บ้านให้ได้ ขณะเดียวกันต้องมีการทำงานบูรณาการข้ามกระทรวง หน่วยงาน โดยให้สามารถใช้งบประมาณข้ามกระทรวงในกิจกรรมเดียวกันมาเสริมกัน เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงและมีมูลค่ามากขึ้น เช่น การจัดคลัสเตอร์เป็นกลุ่มงานในการบูรณาการ เป็นต้น
อีกทั้ง ทุกหน่วยงานต้องมีการศึกษาและทำความเข้าใจในเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และเรื่องการปฏิรูปต่าง ๆ ซึ่งต้องมีแผนแม่บทในการปฏิรูประยะ 5 ปี เพื่อให้สามารถนำศักยภาพของทุกภาค โดยเฉพาะการค้นหาศักยภาพของภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้พบ เพื่อสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงคลัสเตอร์ที่มีศักยภาพในพื้นที่ให้เกิดมูลค่าโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ เพื่อยกระดับอาชีพและรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และประชาชนทุกกลุ่มต้องร่วมมือกัน ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้ขับเคลื่อนการทำงานโดยใช้นโยบายประชารัฐในการที่จะให้ทุกหน่วยงานได้มาร่วมกันในทุกกิจกรรม โดยในส่วนของภาครัฐได้มีการสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ให้กับประชาชน ในการขุดหาแหล่งน้ำเพื่อสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ได้ด้วยตนเอง การจัดหาเครื่องมือในการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรให้กับสหกรณ์การเกษตรและวิสาหกิจชุมชน การพัฒนาโรงสีชุมชน การพัฒนาคลังกักเก็บผลิตผลทางการเกษตรในระดับพื้นที่โดยดำเนินการให้สอดคล้องกับปริมาณโรงสีที่มีอยู่ การแปรรูป การรวมกลุ่ม การปลูกพืชให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะเน้นในเรื่องของสุขภาพที่เป็นผลผลิตของเกษตรอินทรีย์ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการจัดงานเกษตรอินทรีย์ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร “เกษตรไทยก้าวหน้า ภายใต้ร่มพระบารมี”ระหว่างวันที่ 16-20 สิงหาคม 2560 ณ สวนลุมพินี กรุงเทพฯ จากที่คาดการณ์จะมีประชาชนมาเที่ยวชมงาน 50,000 คน แต่ปัจจุบันความสำเร็จที่เกิดขึ้นคือมีประชาชนมาเที่ยวชมงานเป็นจำนวนมากถึง 150,000 คน และมี 34 ประเทศให้ความสนใจส่งผู้แทนเข้ามาร่วมงานและชื่นชมการเกษตรของประเทศไทยด้วย ซึ่งตรงนี้จะต้องมีการพัฒนาศักยภาพในด้านการเกษตรที่ประเทศไทยมีอยู่ โดยส่งเสริมการปลูกพืชให้สอดคล้องและตรงกับความต้องการของผู้บริโภคและตลาด เพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสม และป้องกันราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำเนื่องจากมีปริมาณผลผลิตมากเกินความต้องการ
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า โครงการประชารัฐจำเป็นต้องเร่งรัดและทำงานอย่างมีวิสัยทัศน์ให้ได้ ทั้งในส่วนของภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน โดยต้องมองและกำหนดอนาคตประเทศร่วมกันเพื่อไปสู่เป้าหมายที่กำหนด ป้องกันปัญหาความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤต โอกาส และศักยภาพที่ประเทศมีอยู่ รัฐบาลมีหน้าที่ในการที่จะดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายในและภายนอก รวมทั้งขอให้ประชาชนทุกคนสนใจในเรื่องของความมั่นคง โดยเฉพาะควรติดตามประเด็นความมั่นคงของต่างประเทศด้วย เพื่อจะได้รับทราบข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากทั่วโลก เพื่อเฝ้าระวังและเตรียมการป้องกันก่อนที่จะเกิดเหตุที่เป็นอันตรายต่อประเทศได้
สำหรับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมนั้น นายกรัฐนตรี ได้กล่ายืนยันว่า รัฐบาลปัจจุบันได้พยายามเร่งรัดการดำเนินการทั้งระบบให้เกิดขึ้นให้ได้โดยเร็ว เพื่อให้เกิดความยั่งยืนตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โดยเฉพาะโครงการตามพระราชดำริต่าง ๆ เช่น เรื่องการลดปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง เป็นต้น รวมทั้งต้องมีการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่และปริมาณน้ำ และมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบครบวงจร เช่น การปลูกพืชใช้น้ำน้อย การปลูกไร่นาสวนผสม การทำปศุสัตว์ทดแทนการปลูกพืชบางชนิด หรือการปลูกพืชสำหรับเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ ขณะเดียวกันทุกฝ่ายต้องสร้างความไว้วางใจระหว่างกันเกิดขึ้นให้ได้ เพื่อลดความหวาดระแวง โดยประชาชนทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ รวมถึงการร่วมมือกันป้องกันการทุจริตและกระทำผิดกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญและจะมีการติดตามผลการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงแผนการบริหารจัดการน้ำว่า รัฐบาลได้มีการดำเนินการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำตั้งแต่เริ่มเข้ามาบริหารประเทศ และได้มีการปรับแผนดังกล่าวอย่างต่อเนื่องให้มีความเหมาะสมสอดคล้องสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยคำนึงถึงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบในระยะยาว 20 ปีของประเทศให้เกิดความยั่งยืน ทั้งการทำให้ประชาชนทุกพื้นที่เข้าถึงน้ำสะอาดและมีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ รวมถึงให้สามารถมีน้ำสำหรับทำการเกษตร ตลอดจนรองรับอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของประเทศในอนาคต ขณะเดียวกันต้องมีการส่งเสริมในกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ควบคู่กับการบริหารจัดการน้ำ เพื่อเป็นการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ ทั้งการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ ภาคอุตสาหกรรม การส่งเสริมเศรษฐกิจที่คลัสเตอร์ หรือการเชื่อมโยงกับศักยภาพในสิ่งที่มีอยู่แล้ว เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีศักยภาพที่โดดเด่นในเรื่องของผ้าไหม ผ้าย้อมคราม การท่องเที่ยวซึ่งมีวัฒนธรรมอันยาวนานและเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละท้องถิ่น ฯลฯ
อย่างไรก็ตามในเรื่องของการท่องเที่ยว พบยังมีปัญหาเรื่องของสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความเสื่อมโทรมเพราะอยู่มาเป็นเวลานาน เพราะฉะนั้นควรจะมีการพิจารณาหาแนวทางซ่อมแซมบำรุงรักษาสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านั้นให้กลับมาสวยงาม เพื่อให้พร้อมรองรับนักท่องเที่ยว โดยให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้น รวมทั้งให้มีการเชื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่งในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ และขยายเชื่อมโยงต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านและประชาคมโลก อันจะนำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง ตลอดจนสร้างรายได้ให้กับประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านเช่นกันตามนโยบายไทยแลนด์บวกหนึ่ง และยังนำไปสู่การพัฒนาในเรื่องของการเพิ่มเส้นทางการบินระหว่างประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน การแก้ไขกติกาการข้ามแดน การท่องเที่ยวชายทะเลชายฝั่ง เพื่อทำให้เกิดการท่องเที่ยวใหม่และรายได้ใหม่เพิ่มขึ้น ประชาชนทั้งในประเทศไทยและประเทศที่ร่วมดำเนินการดังกล่าวได้รับประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย
ส่วนปัญหาของภาคธุรกิจเอกชนในพื้นที่นั้น พบว่ามีปัญหาเรื่องของการเชื่อมโยง การลดขั้นตอนและการรวมศูนย์ต่าง ๆ ในการที่จะร่วมมือกันพัฒนาเรื่องธุรกิจ รวมทั้งต้องการให้มีการสนับสนุนส่งเสริมธุรกิจต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวคงไม่สามารถดำเนินการได้ทุกพื้นที่ โดยต้องกลับไปพิจารณาถึงความเป็นไปได้และคำนึงศักยภาพของแต่ละพื้นที่ประกอบการดำเนินการ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ตรงกับศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างแท้จริง เช่น จังหวัดนครราชสีมา เป็นเมืองช่องทางประตูสู่อีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครพนมเป็นช่องทางไปสู่ประเทศ CLMV หรือกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องสร้างการเชื่อมโยงให้ครบวงจรครอบคลุมทุกมิติทั้งการค้า การลงทุน การศึกษา การวิจัยและพัฒนา และการเพิ่มมูลค่า เป็นต้น โดยที่ผ่านมาการแก้ปัญหาให้กับภาคธุรกิจเอกชน รัฐบาลได้มีการดำเนินการในหลายเรื่อง เช่น เรื่องของการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้มีความทันสมัย การอำนวยความสะดวก การลดขั้นตอนและเอกสาร การบริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ หรือ One Stop Service การเข้าถึงช่องทางการสื่อสาร ฯลฯ รวมไปถึงในอนาคตรัฐบาลจะมีการขยายเครือข่ายสัญญาอินเทอร์เน็ตฟรีไวไฟให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านภายในปี 2561 เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการและใช้ประโยชน์จากการอำนวยความสะดวกเรื่องดังกล่าวได้อย่างทั่วถึง เช่น การรักษาพยาบาลเบื้องต้นของสถานพยาบาลในท้องถิ่นผ่านระบบไอทีมายังโรงพยาบาลหลักหรือโรงพยาบาลในเมือง เป็นต้น
ขณะที่การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งต้องมีการทำแผนที่มาตราส่วน 1:4,000 ออกมาก่อน และนำแผนที่ของทุกกระทรวงที่มีความคลาดเคลื่อนไม่สอดคล้องตรงกันมาพิจารณาเปรียบเทียบ โดยใช้แผนที่มาตราส่วน 1:4,000 เป็นหลักเกณฑ์ รวมถึงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และกฎหมายประกอบการพิจารณาดำเนินการเพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
พร้อมทั้งนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวฝากให้นักเรียน นักศึกษา ตั้งใจเรียนฝึกฝนและพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งตั้งเป้าหมายการเรียนให้ชัดเจนสอดคล้องและตรงกับความต้องการของตลาด และการพัฒนาประเทศในอนาคต ซึ่งจะทำให้เมื่อสำเร็จการศึกษาออกมาแล้วสามารถที่จะมีงานทำและมีรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวต่อไป
ที่มา: http://www.thaigov.go.th