วันนี้ (24 ส.ค. 60) เวลา 10.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนาประจำปี “บางกอกโพสต์ ฟอรัม 2017” ณ ห้องวิภาวดี บอลรูม โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว กรุงเทพฯ ภายหลังเสร็จสิ้น พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีมีความยินดีที่ได้พบปะกับคณะทูตานุทูต นักธุรกิจ และสื่อมวลชนที่เข้าร่วมงานสัมมนาประจำปี “บางกอกโพสต์ ฟอรัม 2017” ในหัวข้อเรื่อง “ปฏิรูปยั่งยืน พลิกฟื้นประเทศไทย” ในวันนี้ โดยตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่รัฐบาลได้เข้ามาบริหารประเทศเป็นช่วงที่สังคมไทยกำลังมีปัญหาสะสมหลายด้าน ทั้งในด้านปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย และปัญหาเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรงทางความคิด ซึ่งได้ส่งผลให้เกิดความแตกแยกในสังคม จนทำให้ประเทศไม่สามารถที่จะพัฒนาเดินหน้าต่อไปได้ รัฐบาลมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้อย่างเร่งด่วน โดยมีนโยบายปฏิรูปประเทศในทุกด้าน เพื่อสร้างพื้นฐานของสังคมไทยให้มีความเข้มแข็งและมั่นคงประชาชนคนไทยมีความกินดี อยู่ดี และมีความสุข ตลอดจนมุ่งส่งเสริมพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศให้เกิดการขยายตัวและเติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนโดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักในการดำเนินงาน
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่ารัฐบาลบริหารประเทศโดยยึดหลักธรรมาภิบาล ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ และได้มีนโยบายในการพัฒนาประเทศเพื่อก้าวเข้าสู่โมเดล “ประเทศไทย 4.0” ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาวเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศที่มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาล โดยกำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ซึ่งเป็นการกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาประเทศในระยะยาว และเพื่อให้การบริหารแผ่นดินเป็นไปอย่างต่อเนื่อง สามารถขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยมุ่งเน้นที่การบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาชน ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี เป็นการผนึกกำลังของทุกภาคส่วนภายใต้แนวคิด “ประชารัฐ” ที่ผนึกกำลังกับเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ การวิจัยพัฒนา และบุคลากรทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติขึ้น ภายใต้คณะกรรมการเพื่อพิจารณากลั่นกรองเรื่องเสนอคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) เพื่อทำหน้าที่จัดเตรียมสาระของยุทธศาสตร์ชาติให้มีความสมบูรณ์ที่สุด และตรงกับความต้องการของประชาชน และจะส่งมอบต่อให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่จะเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในช่วงเดือนสิงหาคม 2560 ทั้งนี้ เพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีเกิดสัมฤทธิผล เครื่องมือสำคัญที่จะเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนการทำงานให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ได้แก่ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี ทั้งในส่วนของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่ประกาศใช้ไปเมื่อเดือนตุลาคม 2559 และแผนพัฒนาฉบับต่อๆ ไป เพราะยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะเป็นการเริ่มต้นสานต่อ และรองรับการพัฒนาที่ต่อเนื่องกันไปตลอด 20 ปี โดยเฉพาะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่จะต้องเป็นเหมือนก้าวแรกในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในอนาคต เป็นการวางรากฐานการพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ในระยะยาวทั้ง 6 ด้านของยุทธศาสตร์ชาติข้างต้น
นายกรัฐมนตรีมีความยินดีที่ยุทธศาสตร์การพัฒนาทั้ง 10 ด้านของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 สะท้อนการไปถึงเป้าหมายในระยะ 20 ปีของยุทธศาสตร์ชาติอย่างชัดเจนไม่ว่าจะเป็นใน 6 ยุทธศาสตร์แรกของแผนฯ ที่ตอบสนอง 6 ยุทธศาสตร์หลักของยุทธศาสตร์ชาติโดยตรง ได้แก่ (1) การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ (2) การสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม (3) การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน (4) การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (5) การเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน (6) การบริหารจัดการในภาครัฐ ป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบและธรรมาภิบาลในสังคมไทย รวมถึง 4 ยุทธศาสตร์ที่จะสนับสนุนการพัฒนาประเทศให้ขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ (7) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ (8) การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม (9) การพัฒนาภาคเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ (10) การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา
ทั้งนี้การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในช่วง 5 ปี ของแผนฯ ฉบับที่ 12 นับเป็นก้าวแรกและก้าวย่างที่สำคัญของการวางรากฐานที่แข็งแกร่งของประเทศ ไทยจะต้องเร่งกำจัดจุดอ่อนก่อนที่จะเร่งพัฒนาและเสริมจุดแข็งในช่วงเวลาต่อไป โดยมียุทธศาสตร์ระยะยาว 20 ปีเป็นเป้าหมายสำคัญที่ต้องบรรลุเป็นเป้าหมายที่เราอยากเห็นประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วตามเกณฑ์มาตรฐานนานาประเทศ และที่สำคัญคือ ประเทศไทยเป็นสังคมที่คนไทยมีความสุข กินอิ่ม นอนหลับ มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สังคมมีความสงบสุข สามัคคี ปรองดองสมานฉันท์ ความสำเร็จของการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะเกิดขึ้นได้ ต้องเกิดจากการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายที่เป็นพลังประชารัฐเข้ามาร่วมรับผิดชอบและลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังในการดำเนินการให้ประสบผลเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และเพื่อให้พลังประชารัฐเป็นพลังที่สามารถนำพาประเทศไปสู่เป้าหมายได้
นายกรัฐมนตรีมั่นใจว่าหากทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจกันในการบริหารราชการแผ่นดินตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี อย่างมุ่งมั่น พร้อมทั้งเร่งปรับเปลี่ยนหรือปฏิรูปที่ตัวเอง โดยไม่มัวแต่นั่งรอให้คนอื่นหรือหน่วยงานอื่นเปลี่ยนแปลงก่อน ด้วยพลังประชารัฐที่ผลักดันให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตเราก็จะบรรลุเป้าหมายอนาคตประเทศไทยที่เรียกได้ว่า “ประเทศพัฒนาแล้ว” และสามารถข้ามผ่านกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงขึ้นได้อย่างไม่ยาก และย้ำว่ารัฐบาลมีความตั้งใจและมีความมุ่งมั่นที่จะบริหารประเทศ โดยจะทำงานใน 2 มิติคู่ขนานกันไป
มิติแรก คือ การผนึกกำลังและสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการมุ่งก้าวไปข้างหน้าตามยุทธศาสตร์ชาติที่ทุกคนในประเทศได้กำหนดขึ้นร่วมกันเพื่อมุ่งสู่ประเทศไทยในอนาคต และมิติสองจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาที่สะสมมาในอดีต โดยการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและสร้างภูมิคุ้มกันในระดับพื้นฐานของการพัฒนา เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ประโยชน์จากการพัฒนาร่วมกันซึ่งเป็นไปตามแนวคิดที่ว่า “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณบริษัท บางกอก โพสต์ จำกัด (มหาชน) และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการที่พัฒนาและขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นไปตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติและแนวทางไทยแลนด์ 4.0 เพื่อให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตลอดไป
ที่มา: http://www.thaigov.go.th