ครม.เห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย ขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0

ข่าวทั่วไป Tuesday August 29, 2017 17:02 —สำนักโฆษก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผยครม.มีมติเห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย ขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 และมอบให้ อก. ดำเนินการขับเคลื่อนมาตรการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

วันนี้ ( 29 ส.ค. 60 ) เวลา 14.15 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย ไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 และมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการขับเคลื่อนมาตรการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมี Roadmap และมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมในแนวประชารัฐ 3 ส่วนหลัก คือ 1) การกระตุ้นอุปสงค์ โดยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมการผลิตและบริการภายในประเทศ นำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนผลิตอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ให้เกิดการลงทุนใช้หุ่นยนต์ 12,000 ล้านบาทในปีแรก ผ่านมาตรการของ BOI โดยลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 สำหรับกิจการที่นำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและบริการโดยขยายให้ครอบคลุมประเภทกิจการที่ใช้เทคโนโลยีไม่สูงมากนัก ซึ่งเดิมไม่อยู่ในขอบข่ายการให้การส่งเสริม กระทรวงการคลังจะยกเว้นภาษีเงินได้ 300% เพื่อการวิจัยหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สำนักงบประมาณสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อการบริการประชาชน และกระทรวงอุตสาหกรรมสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับเอสเอ็มอี เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ผ่านกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีฯ และกองทุนอื่น ๆ

2) การสนับสนุนอุปทาน โดยเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง System Integrator (SI) ผู้ทำหน้าที่ออกแบบติดตั้งระบบอัตโนมัติ โดยตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวน SI จาก 200 ราย เป็น 1,400 ราย ภายใน 5 ปี โดย BOI จะให้สิทธิประโยชน์กับ SI สูงสุด ขณะที่กระทรวงการคลังจะยกเว้นอากรนำเข้าชิ้นส่วน/อุปกรณ์ที่นำมาผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อแก้ไขปัญหาความลักลั่นทางภาษี

3) การพัฒนาบุคลากรและยกระดับเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ไปสู่การผลิตหุ่นยนต์ประเภทอื่น ๆ ที่มีความซับซ้อน โดยจัดตั้ง Center of Robotic Excellence (CoRE) เป็นเครือข่ายความร่วมมือของ 8 หน่วยงานนำร่อง ทั้งในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และหน่วยงานเอกชนชั้นนำจากต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายภายใน 5 ปี จะพัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบอย่างน้อย 150 ผลิตภัณฑ์ ถ่ายทอดเทคโนโลยีหุ่นยนต์ชั้นสูงให้แก่ผู้ประกอบการจำนวน 200 ราย และฝึกอบรมบุคลากรไม่น้อยกว่า 25,000 คน

พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะช่วยยกระดับเทคโนโลยีและประสิทธิภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการเกษตรโดยจะส่งเสริมไปสู่ Smart Farming และพัฒนาไปสู่การทำเกษตรแปลงใหญ่ ด้านการแพทย์ ด้านโลจิสติกส์ การท่องเที่ยว และการบริการอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังช่วยยกระดับแรงงานในภาคอุตสาหกรรม รองรับปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมจะมอบให้ Center of Robotic Excellence (CoRE) เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาบุคลากร และยกระดับแรงงานให้มีทักษะที่สูงขึ้น (Retain/Reskill) เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ให้มีความยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยวันพรุ่งนี้ (30 ส.ค.60) กระทรวงอุตสาหกรรมมีกำหนดจัดงานพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ 8 แห่ง เพื่อเป็นเครือข่ายของ CoRE และจะมีการลงนามความร่วมมือ (MOU) หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวม 14 แห่ง เพื่อขับเคลื่อนมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ข้อมูล:กระทรวงอุตสาหกรรม

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ