วันนี้ เวลา 15.30 น. นางอิรินา โบโกวา (Ms. Irina Bokova) ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) เข้าเยี่ยมคารวะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ในโอกาสเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 27-29 สิงหาคม ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ พันเอก อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก ที่ได้ร่วมแสดงความอาลัยต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส
เมื่อเดือน ต.ค. 2559 และในระหว่างการเยือนไทยในครั้งนี้ ได้เข้าถวายสักการะพระบรมศพ ณ พระบรมมหาราชวังด้วย นายกรัฐมนตรียังแสดงความซาบซึ้งที่ยูเนสโกยังได้ประกาศพระเกียรติคุณยกย่องให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นทูตสันถวไมตรีของยูเนสโก ประจำปี 2548 ด้วยพระราชกรณียกิจด้านการสงเคราะห์แก่เด็ก และเยาวชนผู้ด้อยโอกาสในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งทรงให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษาและการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทั้งนี้ ไทยกับยูเนสโกที่มีความร่วมมือที่ดีในทุกระดับทั้งในภาครัฐบาล เอกชน วิชาการ และประชาชน และไทยสนับสนุนการดำเนินงานของยูเนสโกมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 68 ปี
นายกรัฐมนตรียังกล่าวขอบคุณผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกที่กล่าวปาฐกถาพิเศษชื่นชมความสำเร็จของไทยในการน้อมนำแนวคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งการพัฒนาคนเพื่อรองรับนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งการดำเนินงานของไทยให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพคนอย่างยั่งยืนทั้งในมิติด้านสังคมคือการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ “อย่างพอเพียง” และในมิติด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะนำไปสู่การใช้ทรัพยากร “อย่างคุ้มค่าและยั่งยืน” ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมกับนโยบายประเทศไทย4.0 ที่ส่งเสริมการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่มาใช้ในการจัดการเรียนการสอนมากขึ้น เพื่อสร้างคนยุคใหม่ให้มีวิสัยทัศน์ แบบแผน และมีคุณภาพเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก นอกจากนี้ ไทยได้จัดทำ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ที่เน้นการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน โดยการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต และการยกระดับการศึกษาและการเรียนรู้ให้มีคุณภาพเท่าเทียมทั่วถึง
ทั้งนี้ ไทยได้ร่วมมือกับยูเนสโกในการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนมาเป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งไทยยึดเป็นแนวทางการดำเนินงานในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชนอย่างเท่าเทียม ลดอัตราการไม่รู้หนังสือในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับการประชุมวิชาการนานาชาติของยูเนสโก เรื่อง “Cracking the Code: Girls’ Education in STEM” เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2560 ที่ส่งเสริมให้เด็กผู้หญิง และสตรีมีโอกาสได้เรียนรู้ด้านสะเต็มศึกษา เพื่อการพัฒนาศักยภาพและการประกอบอาชีพที่ดีในอนาคต
นอกจากนี้ ไทยยินดีร่วมมือกับยูเนสโกในการผลักดันการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเป้าหมายด้านการศึกษาที่กำหนดให้ทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง และส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตภายในปี 2573 เช่นเดียวกับหลักการของรัฐบาลไทย “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” (no one will be left behind) โดยการพัฒนาการศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐานทั่วถึงประชาชนทุกคน และสนับสนุนการจัดการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยด้วย
โอกาสนี้ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ได้กล่าวว่า ยูเนสโกคือพันธมิตรของประเทศไทย และพร้อมสนับสนุนความร่วมมือระหว่างไทยและยูเนสโก เพื่อการพัฒนาด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม ซึ่งยูเนสโก เรียกว่า “Soft Power Vision” โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อ สร้างสังคมแห่งองค์ความรู้ เปิดโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจ และเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการเผชิญหน้ากับความท้าทายในปัจจุบันและอนาคต อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ยังได้กล่าวสนับสนุนวิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญต่อการศึกษา เพราะการศึกษาจะเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับประเทศไทยสู่ Thailand 4.0 และเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนอีกด้วย
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียังได้แสดงความยินดี ถึงความสำเร็จของความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้มีการลงนามบันทึกความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมดาราศาสตร์นานาชาติภายใต้การอุปถัมภ์ของยูเนสโกที่ จ. เชียงใหม่ นับเป็นก้าวสำคัญในความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างไทยกับยูเนสโก หวังว่าศูนย์ฝึกอบรมดังกล่าวจะเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ประชาชน และนักดาราศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงช่วยพัฒนาศักยภาพบุคลากรของไทยและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกด้วย
ที่มา: http://www.thaigov.go.th