นายกรัฐมนตรีหารือข้อราชการกับนายจู หรงจี นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน

ข่าวกฏหมายและประกาศ Tuesday August 28, 2001 16:00 —สำนักโฆษก

วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 25432 
วันนี้ เวลาประมาณ 09.10 น. ตามเวลาท้องถิ่น นายกรัฐมนตรีและคณะ ได้เดินทางออกจากเรือนรับรอง เตี้ยวหยูไถ ไปยังมหาศาลาประชาชนเพื่อเข้าร่วมพิธีการต้อนรับอย่างเป็นทางการ และหลังเสร็จสิ้นพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการแล้ว ได้มีการหารือเต็มคณะระหว่างนายกรัฐมนตรี ของทั้งสองฝ่าย ณ ห้อง Eastern Hall มหาศาลาประชาชน และภายหลังการหารือ นายยงยุทธ ติยะไพรัช โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้แถลงผลการหารือ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
นายกรัฐมนตรีจู หรงจี ได้กล่าวต้อนรับและแสดงความขอบคุณที่นายกรัฐมนตรีเดินทาง มาเยือนจีนเป็นประเทศแรกนอกภูมิภาคอาเซียน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่ไทยให้แก่จีน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณที่จีนให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ทุกครั้งที่มีการเยือนของผู้นำระดับสูง โดยเฉพาะในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถเสด็จเยือนจีน และในโอกาส ออกมหาสมาคม ของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ทรงกล่าวแสดงความชื่นชมและประทับใจต่อการต้อนรับอย่างดียิ่งของฝ่ายจีนให้คนไทยได้ทราบ
จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้แจ้งให้ฝ่ายจีนทราบถึงความคืบหน้าในโครงการปลูกป่าและโรงงานเยื่อกระดาษ ตามที่ได้มีการหารือกันเมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรีของจีนมาเยือนไทยในเดือน พฤษภาคม 2544 ว่าหลังจากที่ได้หารือกันครั้งที่แล้ว ฝ่ายไทยได้ศึกษาข้อมูล และตั้งคณะทำงานพิจารณาประเด็นการขนส่ง การพิจารณาท่าเรือแหลมฉบังเพื่อการขนส่ง แต่ยังติดปัญหาเรื่องพื้นที่ปลูกป่าไม่เพียงพอจึงเสนอให้ ประเทศเพื่อนบ้านที่มีพื้นที่ใกล้เคียงมาร่วมโครงการด้วย ในการนี้ นายกรัฐมนตรี จู หรงจีได้กล่าวว่า โดยที่โครงการดังกล่าวเป็นโครงการใหญ่ การที่เสนอให้ไทยทำเพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ ต่อเกษตรกรของไทย สำหรับเรื่องมลภาวะนั้น เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะจีนใช้เทคโนโลยีสูง แต่ก็เข้าใจดีว่าจะต้องทำความเข้าใจกับหลายฝ่ายในเรื่องนี้และจะต้องมีการพิจารณาและหารือกันต่อไป ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ควรให้มีผู้เชี่ยวชาญศึกษาและหารือร่วมกันต่อไป
สำหรับเรื่องข้อตกลงแลกเปลี่ยนทุนสำรองระหว่างกัน ( Currency Swap) นั้น นายกรัฐมนตรีได้กล่าว ต่อไปว่า ขณะนี้ธนาคารกลางของทั้งสองประเทศได้เจรจากันสำเร็จไปหลายเรื่องแล้ว คงเหลือเพียง เรื่องวงเงิน ในฐานะมิตรประเทศจึงขอให้จีนพิจารณาให้วงเงินแก่ไทยเป็นพิเศษ ซึ่งนายกรัฐมนตรีจีน ได้กล่าวตอบว่า หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ จีนได้ให้วงเงินแก่ไทยเป็นจำนวนที่สูง ที่สุดในอาเซียนอยู่แล้ว และเสนอว่าทั้งสองฝ่ายควรจะให้มีความตกลงในเรื่องนี้ไปก่อน
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณสำหรับความร่วมมือด้านพาณิชย์นาวีที่จีนได้สั่งการอย่างรวดเร็วให้บริษัท China Shipping Container Lines ส่งเรือใหญ่มาขนสินค้าที่แหลมฉบัง ซึ่งนับเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ และช่วยให้เรืออื่นๆต้องลดค่าระวางไปด้วย และได้รับที่จะพิจารณาด้วยดี ในเรื่องค่าภาระเรือข้ามท่า ตามที่จีนร้องขอ ซึ่งนายกรัฐมนตรีจีนได้กล่าวขอบคุณไทยที่ให้ความร่วมมือ อย่างดีต่อรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคมของจีน ซึ่งได้เดินทางไปหารือเรื่องนี้พร้อมทั้งยืนยันความพร้อมที่จีนจะให้ ความร่วมมือ ให้มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง
ในด้านการค้าสองฝ่ายนายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีที่การค้าระหว่างกันมีความคืบหน้าไปหลายรายการ พร้อมทั้งขอบคุณจีนที่ซื้อยางพาราจากไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีจีนแจ้งว่า ตามที่จีนได้ตกลงจะซื้อยางพาราจำนวน 5 หมื่นตันจากไทยนั้น ขณะนี้ซื้อได้แล้ว 1.7 หมื่นตัน อีก 1.7 หมื่นตัน กำลังเร่งรัดดำเนินการจัดซื้ออยู่ และที่เหลืออีก 1.6 หมื่นตันจะเร่งรัดให้มีการดำเนินการโดยเร็ว นอกจากนี้ ฝ่ายจีนได้ยืนยันที่จะซื้อข้าวในจำนวนไม่ต่ำกว่าปีที่แล้ว และในการนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ขอให้จีนเร่งรัดให้หน่วยงานพิจารณาจัดสรรโควต้าข้าวให้เร็วขึ้นด้วย ซึ่งฝ่ายจีนรับว่าจะแจ้ง ให้หน่วยงานพิจารณาต่อไป
สำหรับความร่วมมือด้านยาเสพติด นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณจีนที่จัดประชุมความร่วมมือด้าน ยาเสพติด 4 ฝ่ายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาค และความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ซึ่งจีนกล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อความร่วมมือทั้งในระดับภูมิภาค และระหว่างประเทศ ทั้งนี้ การประชุมในระดับผู้นำนั้น จะดูจากความคืบหน้าของผลการประชุมระดับรัฐมนตรีก่อน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีแจ้งให้ฝ่ายจีนทราบว่า ในการสร้างเส้นทางคุณหมิง-ลาว-เชียงราย นั้น ไทยพร้อมให้ทหารเป็นผู้สร้าง สำหรับส่วนของลาวที่มีปัญหาเรื่องสัมปทานนั้น คงต้องรอเจรจาต่อไป ซึ่งฝ่ายจีนก็ได้ยืนยันความตั้งใจที่จะสร้างอย่างแน่นอน โดยยินดีจะรับผิดชอบ 1 ใน 3 ส่วน และจะรอการแก้ปัญหาในส่วนของลาวต่อไป
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า สำหรับความร่วมมือด้านการลงทุนเพื่อตลาดอาเซียน ซึ่งไทยยินดี ที่จีนสนใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น จากประสบการณ์ของไทยได้บทเรียนว่า ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เกิดจากเราบริหารระบบเงินไม่ดี ซึ่งเป็นบทเรียนให้กับหลายประเทศ ในขณะที่จีนปรับความสมดุลย์ได้ดี มีการลงทุนในสิ่งที่เป็นประโยชน์ระยะยาวทางด้านโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ภูมิภาค ในระยะยาวด้วย ดังนั้น จึงอยากให้จีนใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตเพื่อการส่งสินค้าเข้าตลาดอาเซียน และใช้สิทธิทางภาษีที่ไทยได้รับ โดยลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ในขณะที่ไทยได้จัดตั้ง TAMC เพื่อจัดการหนี้เสียจากระบบ รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนรวม (Matching Fund) ซึ่งจะช่วยให้เกิดความมั่นใจ โดยรัฐบาลมีส่วนในการลงทุน 1 ใน 4 นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้พูดถึงเรื่องการบิน โดยกล่าวว่า ที่ผ่านมาความร่วมมือค่อนข้างจำกัด เพราะเราไปยึดเรื่องสิทธิการบินกันมาก น่าจะมีการตกลงกัน เรื่องการจัดสรรผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีจีนกล่าวว่า ในวันที่ 31 ส.ค. นี้ จะมีการประชุม เจ้าหน้าท ีด้านการบินระหว่างไทยและจีน ซึ่งคาดว่าจะได้มีการพูดคุยกันในละเอียดเพื่อ ให้เกิดความร่วมมือดังกล่าวต่อไป
ภายหลังการหารือเต็มคณะ นายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศ ได้ร่วมเป็นสักขีพยาน พิธีลงนาม ความตกลง 3 ฉบับ ได้แก่1. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างรัฐบาลราช อาณาจักรไทย กับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายผัน เจิ้นโจ (Mr. Pan Zhenzhou) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ของจีน เป็นผู้ลงนาม เพื่อส่งเสริม สนับสนุนความร่วมมือทางด้านการศึกษา ภาษา และวรรณคดี การสื่อสารมวลชน การกีฬา กิจกรรมเยาวชนและศาสนา
2. การลงนามบันทึกความเข้าใจ การจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-จีน (Bilateral Business Council) ของทั้งสองประเทศ ระหว่างสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของจีน (China Council for the Promotion of International Trade -CCPIT) กับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งลงนามโดยนายวิโรจน์ อมตกุลชัย เลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายยู เสี่ยวซอง (Mr. Yu Xiaosong) ประธานสภา CCPIT จีน เพื่อส่งเสริม ขยายการค้า เศรษฐกิจ ความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งความสัมพันธ์ทางธุรกิจอื่นๆ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข่าวสารทางด้านพาณิชย์ อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจระหว่างประเทศทั้งสอง 3. การลงนามสัญญาซื้อขายที่ดิน ระหว่างนายดิเรก วินิชบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจน จำกัด (มหาชน) และนายโจว ยูเชิง (Mr. Zhou Yucheng) ประธานกรรมการ บริษัท China Worldbest Group Co., Ltd. โดยมีมูลค่าการซื้อขายที่ดินกว่า 400 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งโรงงาน สิ่งทอสำหรับใช้ในครัวเรือนที่ จ. ระยอง
ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีลงนาม นายจู หรงจี นายกรัฐมนตรีจีนและภริยา ได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน เพื่อเป็นเกียรติแด่นายกรัฐมนตรีและภริยา พร้อมคณะ ที่ห้องฟูเจี้ยน มหาศาลาประชาชน ในตอนเย็นวันเดียวกัน ในเวลา 16.00 น โดยประมาณ นายกรัฐมนตรีและภริยาพร้อมด้วยคณะ ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายหลี่ เผิง ประธานสภาประชาชนแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน และนายจู หลิง ภริยา โดยในตอนค่ำ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง จะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำ แด่นายกรัฐมนตรีและคณะ
ฝ่ายสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักโฆษก โทรภายใน 8055 โทร 6299292,6299491 โทรสาร 2814450
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ