รอง นรม. วิษณุฯ เป็นประธานเปิดโครงการประชุมราชบัณฑิตสัญจร ประจำปี 2560 พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ทิศทางการปฏิรูปประเทศไทย : การศึกษารอบแรกในการกำหนดแนวทางกลยุทธ์”

ข่าวทั่วไป Thursday September 7, 2017 16:23 —สำนักโฆษก

รอง นรม. วิษณุฯ เป็นประธานเปิดโครงการประชุมราชบัณฑิตสัญจร ประจำปี 2560 พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ทิศทางการปฏิรูปประเทศไทย : การศึกษารอบแรกในการกำหนดแนวทางกลยุทธ์”

รอง นรม. วิษณุฯ มอบนโยบายให้สำนักงานราชบัณฑิตยสภามีบทบาทสำคัญในการประมวลและบัญญัติศัพท์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ และยุทธศสตร์ชาติเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ทุกภาคส่วน

วันนี้ (7 กันยายน 2560) เวลา 09.20 น. ณ ห้องราชดำเนิน โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส ถนนหลานหลวง กรุงเทพมหานคร นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดโครงการประชุมราชบัณฑิตสัญจร ประจำปี 2560 พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ทิศทางการปฏิรูปประเทศไทย : การศึกษารอบแรกในการกำหนดแนวทางกลยุทธ์” พร้อมกล่าวเน้นให้สำนักงานราชบัณฑิตยสภามีบทบาทสำคัญในการประมวลและบัญญัติศัพท์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ซึ่งงานดังกล่าวจัดโดยสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตยสภา โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการฯ ประกอบด้วย คณะราชบัณฑิต คณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และตัวแทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จำนวนประมาณ 200 คน

โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวเปิดโครงการ พร้อมปาฐกถาพิเศษ หัวข้อดังกล่าว ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

ปัจจุบันพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 ได้มีการประกาศใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2560 และมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมีประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และรองนายกรัฐมนตรี จำนวน 1 คน เป็นรองประธาน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างฝ่ายนิติบัญัติและฝ่ายบริหาร

ทั้งนี้ จะมีคณะกรรมการโดยตำแหน่งอีก 13 คน โดย 6 คน ซึ่งมาจากฝ่ายความมั่นคง ได้แก่ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยทั้ง 6 คนจะเป็นหลักประกันในด้านความมั่นคง ซึ่งจะมีส่วนในการเขียนร่างยุทธศาสตร์ชาติในด้านที่เกี่ยวกับความมั่นคงเท่านั้น จากนั้นคนที่ 7 ประธานสภาการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) คนที่ 8 เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ คนที่ 9 ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คนที่ 10 ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คนที่ 11 ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คนที่ 12 ประธานสมาคมธนาคารไทย คนที่ 13 ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ทั้งหมดเป็นโดยตำแหน่ง อีกทั้งจะมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่เกี่ยวกับตำแหน่งอีก 17 คน โดยทางคณะได้มีการแต่งตั้งแล้ว จำนวน 12 คน และใน 12 คนนี้ ได้แก่ นายศุภชัย พานิชยศักดิ์ – นายบัณฑูร ล่ำซำ – นายกาญจน์ ตระกูลฮุน - นายชาติศิริ โสภณพนิช - นายฉาย เจียรนันท์ - นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี - นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และคนอื่น ๆ โดยขณะนี้ยังเหลืออีก 5 ที่นั่ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เตรียมแต่งตั้งในโอกาสต่อไปเพื่อจะได้ครบจำนวน 17 คน ต่อไป โดยรวมทั้งคณะจะมี 34 คน หรือซุปเปอร์บอร์ดคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จะมีการประชุมประมาณเดือนละ 1 ครั้ง โดยมีหน้าที่ในการสอดส่องและกำกับดูแล

ทั้งนี้ ได้แบ่งกรอบยุทธศาสตร์ของประเทศไทยออกเป็น 6 ด้าน ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องมีการจัดตั้งกรรมการยุทธศาสตร์ชาติขึ้นอย่างน้อย 6 คณะ คณะละ 15 คน รวม 6 คณะ ทั้งหมดรวม 90 คน รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเน้นอีกว่าขณะนี้ทางรัฐบาลได้คิดกรอบยุทธศาสตร์ชาติไว้แล้วเป็นแนวทางไว้ส่วนรวม 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านความมั่นคง แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับเรื่องด้านการทหารแต่จะครอบคลุมเกี่ยวเนื่องทางด้านต่างประเทศทั้งหมด เช่น ด้านการต่างประเทศ ด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ ด้านต่อต้านยาเสพติด ด้านการจัดระเบียบตามแนวชายแดน

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเพิ่มศักยภาพหรือความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศ เน้นในเรื่องเศรษฐกิจ เน้นเรื่องการแข่งขัน เน้นเรื่องการยกระดับคนไทย ฝีมือไทย ช่างไทย นักธุรกิจไทย อุตสหกรรมไทย ให้สามารถแข่งขันทัดเทียมกับต่างประเทศได้ในต้นทุนที่ถูก คุณภาพดี หรือสามารถการทำธุรกิจได้ง่าย และมีความสะดวก มีการส่งเสริมการลงทุน แรงงาน ค่าจ้างขั้นต่ำ การผ่อนผันกฎระเบียบต่าง ๆ เรื่องความเข้มงวดของกฎหมาย ลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาในศักยภาพของมนุษย์ พัฒนาให้คนมีคุณภาพ มีคุณธรรม มีจริยธรรม มีขีดความสามารถ เน้นเรื่องคนพิการ คนทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ หรือการเชิญชวนชาวต่างชาติเข้ามาลงทุน หรือเข้ามาอยู่อาศัย แล้วอาศัยองค์ความความรู้ของเขาเพื่อมาพัฒนาประเทศไทย แรงจูงใจในการลดภาษีให้คนต่างชาติที่เข้ามาอยู่ การสร้างความสามัคคีของคนไทย และการทำอย่างไรในการพัฒนาขีดความสามารถของคนไทย

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านลดความเหลี่อมล้ำ ลดช่องว่าง สร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม ผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ด้อยโอกาส ซึ่งยุทธศาสตร์นี้เป็นการช่วยเด็ก สตรี คนชรา คนพิการ คนทุพพลภาพ คนด้อยโอกาส รวมทั้งคนที่ยากจนหรือหรือยากไร้

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการพัฒนาทรัพยากรน้ำและการสร้างคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยุทธศาสตร์นี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรน้ำ การสร้างคุณภาพชีวิต และการเติบโตควบคู่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านบริหารจัดการกฏระเบียบต่าง ๆ ของทางราชการ เรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมาย กฎเกณฑ์ ระเบียบบริหารราชการ ระเบียบเกี่ยวกับการเบิกเงิน ระเบียบเกี่ยวกับการประมูล ระเบียบเกี่ยวกับพัสดุการจัดซื้อ การจัดจ้าง การแต่งตั้ง การโยกย้าย การเลื่อนชั้น การเลื่อนขั้น เลื่อนเงินเดือน การปราบโกง การปราบทุจริต อะไรที่กฎเกณฑ์เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ นำมาปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ทั้งนี้ การดำเนินงานของคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 คณะ จะทำงานประสานสอดคล้องกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 13 คณะ ซึ่งได้แต่งตั้งไปแล้วในการขับเคลื่อนประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี

รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า ขอให้สำนักงานราชบัณฑิตยสภามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี โดยให้มีบทบาทสำคัญในการประมวลและบัญญัติศัพท์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนทุกภาคส่วน เช่น คำว่า ปฏิรูป ยุทธศาสตร์ชาติ ประเทศไทย 4.0 กระบวนทัศน์และดิจิทัล เป็นต้น ทั้งนี้ จะได้เป็นองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี

........................................................................

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ