วันนี้ (11 กันยายน 2560) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี (เดิม) ชั้น 2 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ (กยส.) ครั้งที่ 2/2560 ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบในหลักการ ร่างแผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์การพัฒนาสตรี พ.ศ. 2560-2564 ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1.ปรับเปลี่ยนเจตคติของสังคมในประเด็นความเสมอภาคและเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง โดยกำหนดแนวทางการพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมที่มีความเป็นธรรม มีความยุติธรรม และปราศจากการเลือกปฏิบัติต่อคนในสังคมไทย 2.เสริมพลัง เพิ่มบทบาท และพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่สตรีทุกกลุ่ม และทุกระดับ เน้นการกำหนดแนวทางเพื่องเร่งพัฒนาศักยภาพ พร้อมเพิ่มบทบาทสตรีในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ตลอดจนเสริมสร้างสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของสตรีในสังคมไทยทุกเพศทุกวัย 3.พัฒนาเงื่อนไขและปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาสตรีที่มีประสิทธิผลและเสมอภาค เพื่อเป็นยุทธศาสตร์ที่เร่งพัฒนาเงื่อนไขและปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งจะเอื้อให้เกิดพัฒนาศักยภาพการพัฒนาสตรี และการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของสตรีในสังคมไทยทุกกลุ่มทุกวัย 4.กำหนดมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน คุ้มครอง ช่วยเหลือ และเยียวยา โดยเน้นกำหนดแนวทางการพัฒนาสตรีที่ยังเป็นปัญหาสำคัญ คือ ความรุนแรงในครอบครัว ชุมชน และสังคม และ 5.สร้างความเข้มแข็งของกลไก และกระบวนการพัฒนาสตรี ให้ความสำคัญในการพัฒนา และสร้างความเข้มแข็งของกลไกทุกระดับ พร้อมเสริมสร้างกระบวนการพัฒนาสตรีให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอีกด้วย
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้รับทราบผลการนำเสนอรายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญา ว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women – CEDAW) ฉบับที่ 6-7 (ฉบับรวม) ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ 1.ประเด็นด้านบวก คณะกรรมการฯ ยินดีต่อพัฒนาการของประเทศไทยในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี นับตั้งแต่รายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 5 ของไทย 2.ข้อห่วงกังวลและข้อเสนอแนะนั้น คณะกรรมการฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะให้ประเทศไทยพิจารณาดำเนินการในหลายด้าน รวมทั้งสิ้น 21 ประเด็น โดยที่ประชุมเห็นควรนำไปบรรจุในแผนยุทธศาสตร์ด้วย เพื่อลดการปฏิบัติงานที่ซ้ำซ้อน และ 3.ประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการฯ ขอให้ฝ่ายเลขานุการของที่ประชุมนำไปดำเนินการต่อไป
อย่างไรก็ตาม ข้อห่วงกังวลและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ รวมทั้งสิ้น 21 ประเด็น นั้นในบางข้อยังต้องเสนอชี้แจงกลับไป เนื่องจากข้อมูลบางข้อไม่ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นข้อมูลที่ไม่ชัดเจนและมีผลต่อประเทศชาติ ซึ่งบางข้อได้รับการแก้ไขไปแล้ว และบางข้ออยู่ในระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดทำหนังสือชี้แจงเพื่อให้ข้อมูลตรงตามข้อเท็จจริงที่เป็นปัจจุบันต่อไป
******************************************
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th