วันนี้ (15 ก.ย.60) เวลา 13.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม
ภายหลังการประชุม นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบนโยบายสำคัญภายใต้นโยบาย “ประเทศไทย 4.0” ได้แก่ นโยบายยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่ โดยที่ประชุมเห็นชอบให้เปิดให้การส่งเสริมกิจการที่จะช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยคือ ธุรกิจที่นำเทคโนโลยีโดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือการออกแบบทางวิศวกรรมมาปรับเปลี่ยนการผลิตภาคเกษตรดั้งเดิมให้ทันสมัยขึ้น เช่น ระบบโรงเรือนอัจฉริยะ ระบบการควบคุมการใช้ทรัพยากร เช่น น้ำ ปุ๋ย และระบบตรวจจับหรือติดตามสภาพต่าง ๆ โดยผู้ให้บริการด้านนี้จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 5 ปี นอกจากนี้ยังมีมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการภาคการเกษตรรายเดิมยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรไปสู่มาตรฐานสากล ที่ประเทศไทยมีผู้ได้รับการรับรองน้อย เช่น มาตรฐานการปฎิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) มาตรฐานระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร (ISO 22000) เป็นต้น เพื่อให้สินค้าเกษตรของไทยได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากลและสามารถขยายตลาดได้มากยิ่งขึ้น โดยจะให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปี ในวงเงินไม่เกินร้อยละ 50 ของเงินลงทุนที่ใช้ในการยกระดับมาตรฐาน โดยกำหนดให้ยื่นคำขอรับส่งเสริมภายในสิ้นปี 2563
พร้อมกับเห็นชอบนโยบายสนับสนุนการใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์อัตโนมัติ สำหรับผู้ประกอบการรายเดิมหรือผู้ลงทุนใหม่ที่มีการใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์อัตโนมัติจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในวงเงินไม่เกินร้อยละ 50 ของเงินลงทุนและเพื่อให้เป็นการสนับสนุนการใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ในประเทศหากมีการใช้ของในประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของมูลค่าเครื่องจักรทั้งหมดก็จะได้รับสิทธิเพิ่มจากเดิมจำกัดไม่เกินร้อยละ 50 มาเป็นไม่เกินร้อยละ 100 ทั้งนี้ มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพข้างต้น รวมถึงมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพโดยการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานทดแทน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การวิจัยพัฒนา กำหนดให้ยื่นคำขอรับส่งเสริมภายในสิ้นปี 2563
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบมาตรการเพิ่มขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และทรัพยากรมนุษย์ เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนเพิ่มเติม โดยให้กิจการในกลุ่ม A1 และ A2 ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สูงสุด 8 ปี สามารถขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการหากมีการลงทุนเพิ่มในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งขยายขอบเขตกิจการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งในปัจจุบันใช้ชื่อกิจการ “สถานฝึกฝนวิชาชีพ” ให้เปลี่ยนเป็น “กิจการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” ซึ่งจะครอบคลุมเทรนนิ่งเซ็นเตอร์ และสถาบันการศึกษาภาคเอกชนด้วย
พร้อมกันนี้ บอร์ดบีโอไออนุมัติให้ส่งเสริมการลงทุนจำนวน 3 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 28,227 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. บริษัท ตันจง ซูบารุ ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ทั่วไปเงินลงทุนทั้งสิ้น 5,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง โดยบริษัทจะสร้างโรงงานผลิตรถยนต์นั่งอเนกประสงค์รุ่นที่ใช้เทคโนโลยีที่เป็นเอกลักษณ์และมีประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยสูงสุดของรถยนต์ซูบารุในประเทศไทย จากเดิมมีฐานการผลิตอยู่แล้วที่มาเลเซีย ได้ขยายฐานการผลิตมายังประเทศไทย เนื่องจากเห็นโอกาสและการเติบโตด้านยอดขายทั้งในไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยบริษัทจะใช้ชิ้นส่วนในประเทศ เช่น ถุงลมนิรภัย กระจก เบาะนั่ง เป็นต้น ซึ่งเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1,824 ล้านบาทต่อปี
2. นายเกียรติศักดิ์ เลิศศิริอมร ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการเขตอุตสาหกรรม เงินลงทุนทั้งสิ้น 20,476 ล้านบาท โดยเป็นการพัฒนาพื้นที่ขนาด 9,832 ไร่ ตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านบึง และอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายในการพัฒนาบริเวณชายฝั่งตะวันออก (Eastern Seaboard) มีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมบริการสาธารณูปโภคหรืออุตสาหกรรมสนับสนุน และอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รวมถึงพัฒนาให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์
3. บริษัท เอเชีย คอมโพสิต แมททีเรียล (ไทยแลนด์) จำกัด ขยายกิจการผลิตเส้นใยไฟเบอร์กลาส (Fiberglass Roving) เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,751 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง โดยเส้นใยไฟเบอร์กลาสเป็นวัสดุเสริมแรงให้กับพลาสติกในการขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่นอกจากมีความแข็งแรง ยังเป็นฉนวนกันความร้อน ซึ่งระหว่างปี 2558-2563 ความต้องการไฟเบอร์กลาสของตลาดโลกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 สำหรับผลิตภัณฑ์ตามโครงการนี้มีคุณสมบัติทนทานต่อการกัดกร่อนเหมาะสำหรับใช้ผลิตท่อที่ต้องการความแข็งแรงสูง หรือใช้ทอเป็นผืนผ้าทำเครื่องนุ่งห่ม รวมถึงการนำไปผลิตใบพัดกังหันลมผลิตไฟฟ้า คาดว่าจะใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น แร่ Pyrophyllite, Quartz sand และ Limestone มูลค่ากว่า 196 ล้านบาทต่อปี
---------------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
(ข้อมูลจากฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน)
ที่มา: http://www.thaigov.go.th