นายกรัฐมนตรีปาฐกถาพิเศษ ดิจิทัลกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทย 4.0 ย้ำรัฐบาลใส่ใจดูแลประชาชนทุกคน ด้วยการวางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลทั่วประเทศ

ข่าวทั่วไป Friday September 22, 2017 15:10 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเปิดงาน Thailand Digital Big Bang 2017 เผยรัฐบาลขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลให้คนไทยได้ประโยชน์ สร้างนักรบโลกไซเบอร์ 1,000 คนเฝ้าระวังแก้ปัญหาโครงข่ายทางไซเบอร์ ย้ำรัฐใส่ใจดูแลประชาชนด้วยการวางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลทั่วประเทศ

วันนี้ (21 ก.ย.60) เวลา 09.30 น. ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน Thailand Digital Big Bang 2017 ภายใต้แนวคิด Digital Transformation Thailand พร้อมปาฐกถาพิเศษ “ดิจิทัลกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทย 4.0” ที่จัดโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี คณะทูตานุทูต ปลัดกระทรวง ผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดจนภาคเอกชน และสื่อมวลชน

เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางถึง ได้ถ่ายภาพ Actcatcher 360 องศา ที่บริเวณหน้าห้องชาเลนเจอร์ ก่อนชมวิดีทัศน์โลกเปิด เราปรับ ประเทศเปลี่ยน พร้อมรับฟังการกล่าวรายงานโดยนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จากนั้น นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และองค์กร Global Entrepreneurship Network Asia จำนวน 5 ฉบับ

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบโล่รางวัลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี จำนวน 5 รางวัล แล้วกล่าวเปิดงาน Thailand Digital Big Bang 2017 และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ดิจิทัลกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทย 4.0 สรุปสาระสำคัญว่า ในเรื่องการขับเคลื่อนดิจิทัล จะต้องมีการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน เพื่อให้เกิดความมั่นคง ปลอดภัย เชื่อมั่น เดินหน้าไปสู่การใช้ดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในวันนี้และอนาคต เมื่อโลกเปลี่ยน คนก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้ไปสู่วิสัยทัศน์ของชาติคือความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนให้ได้ โดยการเจริญเติบโตของดิจิทัล รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในเรื่องการใช้ประโยชน์จากดิจิทัลและเทคโนโลยีที่เจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะดิจิทัลจะเป็นตัวเร่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่จะนำพาขับเคลื่อนทั้งเศรษฐกิจและคน ไปสู่การเปลี่ยนแปลง ซึ่งรัฐบาลพยายามจะผลักดันประเทศให้เดินหน้าด้วยวิทยาศาสตร์ นวัตกรรมและเทคโนโลยี ด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม ข้อมูล ทุนมนุษย์ และทรัพยากรอื่น ๆ เพื่อยกระดับการขับเคลื่อนต่าง ๆ ให้มั่นคง แข็งแรง ยั่งยืน เปลี่ยนโฉมหน้าประเทศให้เป็นผู้นำในยุค Digital Transformation และวันนี้เรากำลังเดินหน้าประเทศด้วยการปฏิรูป จึงต้องใช้ดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้เป็นรูปธรรม เพื่อต้องการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสของประชาชนอย่างทั่วถึงทั่วประเทศ

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในการสร้างนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อปรับฐานเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อการเชื่อมโยงประเทศไทยสู่โลก รัฐบาลได้เน้นความสำคัญใน 3 ด้าน คือ ด้านที่ 1 คนไทยทุกคนต้องพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลไปด้วยกัน โดยรัฐบาลจะต้องจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศ เพื่อจะกระจายความเจริญและสร้างโอกาสให้กับชุมชนไปทั่วทุกภูมิภาค ให้ประชาชนเข้าถึงการบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในแต่ละพื้นที่อย่างทั่วถึง พลิกโฉมโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศด้วยโครงการเน็ตประชารัฐ เพื่อขยายปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ผ่านเคเบิลใยแก้วนำแสงไปยังหมู่บ้าน เชื่อมกับโรงเรียน โรงพยาบาล เทศบาลตำบลทั้งหมด รวมถึงมีจุดกระจายสัญญาณ Free Wi-Fi หมู่บ้านละ 1 จุด เพื่อให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยเน็ตประชารัฐจะทำให้ประเทศไทยมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านเคเบิลใยแก้วนำแสงครอบคลุมทั่วประเทศทั้งหมด 74,965 หมู่บ้านภายในปี 2561

“ถือว่าเราได้ทำเรื่องนี้ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เรื่องการลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ ก็เพื่อจะลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนทุกคนในประเทศ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่มีคุณภาพสูง มีความทั่วถึงและเท่าเทียม จะก่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน การสร้างงานในท้องถิ่น ซึ่งผมได้มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยบริษัทไปรษณีย์ไทยจำกัด สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และกระทรวงพาณิชย์ กำลังเร่งพัฒนาแพลตฟอร์ม E – Commerce สำหรับสินค้าและบริการจากชุมชน เพื่อให้ประชาชนในชุมชนสามารถส่งสินค้า และบริการ ขึ้นมาขายบนระบบออนไลน์ผ่านระบบออนไลน์ตรง หรือผ่านร้านค้าประชารัฐ ร้านค้า SMEs, OTOP และร้านขายของชำ ร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ ในชุมชนที่มีระบบ Point-of-Sale หมู่บ้านละ 1 จุดทั่วประเทศ ซึ่งเป็นระยะแรก ที่ในระยะสั้น ภายในปี 2561 จะมีร้านค้าเหล่านี้ถึง 10,000 แห่งทั่วประเทศ จะมีสินค้าและบริการจากชุมชนรวมกันทั่วประเทศประมาณ 50,000 รายการ และจะสามารถสร้างรายได้ให้แก่หมู่บ้าน หมู่บ้านละประมาณ 300,000 บาทต่อปี ระยะกลางภายในปี 2564 จะขยายไปครบ 74,965 หมู่บ้าน ระยะยาวจะขยายไปถึงการนำสินค้าและบริการจากชุมชนไปขายยังทั่วโลก” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลมีโครงการพัฒนา Smart Farmers ให้ผู้ประกอบการเกษตรคนรุ่นใหม่เป็นเกษตรกรดิจิทัล โดยเริ่มพัฒนา 30,000 รายในปีนี้ และ 200,000 รายในปี 2564 ซึ่งต่อไปจะสามารถขยายผลมาช่วยคนไทยกว่า 17 ล้านคนที่ทำอาชีพการเกษตร และจะมีการขยายผลไปในระดับประเทศแบบเดียวกับโครงการ “เน็ตประชารัฐ” ซึ่งจะสามารถขจัดความยากจนให้หมดจากประเทศไทยได้ ขณะที่ในเรื่องของสาธารณสุข จะต้องมีการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ และสาธารณสุข โดยเฉพาะด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ผ่านกระบวนการศึกษาทางไกลระหว่างแพทย์ประจำโรงพยาบาลกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของศูนย์แพทยศาสตร์ชั้นคลินิกในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข หรือ e Health Strategy โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาทุนมนุษย์ด้าน e Health และเทคโนโลยีสารสนเทศการจัดการความรู้ด้านการแพทย์ และสุขภาพสำหรับประชาชน เพื่อจะเป็นแนวทาง เป็นกลยุทธ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาทรัพยากรบุคคลสาธารณสุขด้าน Health IT

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปถึงด้านที่ 2 ว่า รัฐบาลจะมุ่งเน้นการพัฒนาและขับเคลื่อนนวัตกรรมดิจิทัล ปรับฐานเศรษฐกิจของประเทศไทยผ่านโครงการ Digital Park Thailand ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลกำลังออกแบบอยู่ใกล้จะแล้วเสร็จ จะสร้างบนพื้นที่ 600 กว่าไร่ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี อยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการลงทุน การสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านดิจิทัลในภูมิภาค ตามนโยบายโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่จะมุ่งเน้นการดึงดูดนักลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทย ผ่านกลไกส่งเสริมการลงทุน นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่น เช่น การยกเว้นภาษี 300% สำหรับการวิจัยและการพัฒนาดิจิทัลในภาคเอกชน การยกเว้นภาษี 200% สำหรับ SMEs ของไทยที่ลงทุนด้านดิจิทัลและการให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเพิ่มเติม ผ่านกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย นอกจากนั้น ยังมีการจัดตั้งสถาบันไอโอที (Internet of Things: IoT) ให้เป็นศูนย์ขับเคลื่อนการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีไอโอที และเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจะต้องสร้างความร่วมมือกับบริษัทเอกชนมากกว่า 300 ราย และหน่วยงานวิจัยและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศและทั่วโลก สร้างเครือข่ายความเป็นเลิศด้านไอโอที พัฒนาเทคโนโลยีและเครื่องมือพื้นฐานที่จำเป็น ให้ความรู้และคำปรึกษาด้านเทคโนโลยีแก่ภาคอุตสาหกรรม และจะจับคู่ธุรกิจผู้ประกอบการดิจิทัลของไทยเข้ากับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ยานยนต์ เกษตรและอาหาร การแพทย์ เป็นต้น จำนวนอย่างน้อย 1,000 ราย ภายในปี 2564 ทำให้การลงทุนและใช้จ่ายด้านดิจิทัลที่เป็นรูปธรรมจะได้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

สำหรับด้านที่ 3 รัฐบาลมุ่งเน้นการเชื่อมโยงประเทศไทยไปสู่โลก โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษในการบูรณาการเชื่อมโยงความร่วมมือกับต่างประเทศทุกประเทศ ทั้งทางกายภาพและแนวปฏิบัติ ซึ่งมีความก้าวหน้ามากมาย ตั้งแต่การเชื่อมโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กำลังเร่งขยายการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศผ่านทั้งระบบเคเบิลใต้น้ำไปสู่ประเทศจีน (ฮ่องกง) และเคเบิลบนดินเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่จะเชื่อมไทยกับประเทศ CLMV ไทยกับอาเซียน ไทยกับโครงการ One–Belt-One-Road ของประเทศจีน ซึ่งมี 20 กว่าประเทศที่มีส่วนร่วมอยู่ในโครงการเหล่านี้ เพราะตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของไทยจะทำให้ไทยสามารถเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน การแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตที่สำคัญของเอเชีย หรือ World Connectivity แห่งใหม่ในเอเชียได้ไม่ยากนัก

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงประเด็นที่สำคัญมากในยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลคือ การสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เนื่องจากภัยคุกคามเหล่านี้ไม่มีพรมแดน ซึ่งกระทรวงดิจิทัลฯ มีเครือข่ายด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์กับต่างประเทศที่เข้มแข็ง และกำลังเร่งสร้างผู้เชี่ยวชาญ ที่เรียกว่านักรบไซเบอร์จำนวน 1,000 คนในปีหน้า เพื่อจะดูแลเรื่องการรักษาความปลอดภัย เฝ้าระวัง แก้ปัญหา เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด

“ ผมขอย้ำว่ารัฐบาลจะใส่ใจดูแลประชาชนทุกคน ด้วยการวางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลทั่วประเทศ เพื่อจะสร้างรายได้ให้ประชาชนในชุมชน ผ่าน E-Commerce และยกระดับคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ การเรียนรู้ การเข้าถึงบริการของรัฐ การทำการเกษตรยุคใหม่ เพื่อให้คนไทยมีรายได้ที่สูงขึ้นและลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ซึ่งในหลักการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานไว้แล้ว ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามห่วงสองเงื่อนไข ความมีเหตุมีผล ความพอประมาณ การมีภูมิคุ้มกันที่ดีภายใต้ความรู้และคุณธรรม เหล่านี้จะเป็นภูมิคุ้มกันให้เราไม่พลาดพลั้งในการลงทุน ในการประกอบอาชีพ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า รัฐบาลได้เร่งดำเนินการปรับฐานเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมดิจิทัลผ่านโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ หรือ Digital Park Thailand โดยต้องการให้ไทยเป็นผู้นำด้านการค้าการลงทุนและการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาค นอกจากนั้น รัฐบาลยังมีความสัมพันธ์อันดีกับต่างประเทศ และองค์กรนานาชาติก็เห็นความสำคัญตรงนี้ และเสนอที่จะมาร่วมงานด้วยมากทั้งภาคธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยกันขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศมาโดยตลอด แต่อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จะต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนให้ได้ ซึ่งรัฐบาลจะทำโครงสร้างพื้นฐานและมาตรการต่าง ๆ รองรับ ซึ่งระยะแรกอาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง เพราะเรากำลังพลิกฟื้น กำลังเดินหน้าประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีก็อยากเห็นประเทศไทยมีความพร้อมในทุกๆ ด้าน รวมถึงพี่น้องคนไทยทุกคนมีความอยู่ดีกินดี

ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรี ทำพิธีเปิดงาน Thailand Digital Big Bang 2017 พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการ ณ บริเวณภายในอาคารชาเลนเจอร์ 1-2 ก่อนเดินทางกลับ

-------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ