วันนี้ (25 ก.ย.60) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมาย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) (บอร์ดส่งเสริมเอสเอ็มอี) ครั้งที่ 1/2560 โดยมี นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับ SMEs ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน พร้อมกับเห็นชอบจัดสรรเงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ภายใต้โครงการร่วมลงทุนเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขันของธุรกิจไทย จำนวน 150 ล้านบาท เพื่อให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) นำไปใช้ดำเนินงานตามมาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับ SMEs ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นไปตามแผนปฏิบัติการส่งเสริม SMEs ประจำปี 2560-61 โดยเปลี่ยนแปลงการใช้เงินกองทุนดังกล่าว จากมาตรา 34 (3) แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2543 (เงินช่วยเหลืออุดหนุนการดำเนินการ....ร่วมทุน....) ไปเป็นมาตรา 34 (2) (เงินช่วยเหลือส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ เพื่อนำไปใช้ดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการส่งเสริม SMEs) และมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ดำเนินการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในการเปลี่ยนแปลงการใช้เงินภายใต้โครงการเงินร่วมลงทุนเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขันของธุรกิจไทย ไปเป็นการใช้เงินภายใต้มาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับ SMEs ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากเงินภายใต้โครงการเงินร่วมลงทุนเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขันของธุรกิจไทยดังกล่าว คณะรัฐมนตรีได้มีมติไว้เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2546 ให้จัดสรรเงินจากงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศมาเข้ากองทุนฯ โดยให้แยกบัญชีไว้เป็นการเฉพาะ
สาระสำคัญของมาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับ SMEs ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินบาทให้กับ SMEs ที่ประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ด้วยการอบรมให้ความรู้แก่ SMEs กลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งสนับสนุนให้มีประสบการณ์และสามารถใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยมีแนวทางการดำเนินงานคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ธสน. สมาคมธนาคารไทย จัดอบรมให้ความรู้แก่ SMEs ที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และการใช้คูปอง และอาจรวมเรื่องอื่นที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ เช่น วิธีชำระเงิน การบริหารความเสี่ยงด้านการค้าระหว่างประเทศ การจัดทำบัญชีและภาษีเบื้องต้น การขอสินเชื่อกับธนาคาร เป็นต้น พร้อมกับสนับสนุนให้ SMEs ที่ประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยสนับสนุนคูปอง เพื่อซื้อ FX Options ซึ่งจะมีการดำเนินการทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และมีการจัดทำสื่อเพื่อเผยแพร่ในระยะยาว ด้านคุณสมบัติของ SMEs ที่มีสิทธิ์เข้าร่วมดำเนินการตามมาตรการฯ คือ เป็นผู้ประกอบการส่งออก/นำเข้าที่มียอดขายไม่เกิน 400 ล้านบาทต่อปี (พิจารณาคัดเลือก SMEs ที่มียอดขายไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี เป็นลำดับแรก) เป็นสมาชิกของ สสว. และผู้เข้าอบรมจะต้องเป็นเจ้าของกิจการ หรือผู้มีอำนาจตัดสินใจเท่านั้น โดยลักษณะของคูปองและเงื่อนไขการใช้คูปอง จะจัดทำคูปองภายใต้วงเงิน 30,000 บาทต่อราย ไม่สามารถซื้อขาย เปลี่ยนมือ แลกเปลี่ยนหรือทอนเป็นเงินสดได้ SMEs สามารถใช้คูปองได้กับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมดำเนินการตามมาตรการฯ ใช้คูปองได้จนกว่าจะครบวงเงิน หรือหมดอายุ (เบื้องต้นกำหนดอายุคูปองไว้ที่ สิ้นสุด 30 มิถุนายน 2561) สำหรับการทำธุรกรรม FX Options นั้น SMEs สามารถใช้คูปองเพื่อการซื้อ FX Options เท่านั้น โดยซื้อได้เฉพาะ FX Options ขั้นพื้นฐาน (Plain Vanilla Options) และสามารถใช้สิทธิ์เมื่อใดก็ได้ในช่วงเวลาที่กำหนด (American Options) ในส่วนของหัวข้อหลักสูตรการอบรม จะเน้นการให้ความรู้เรื่องการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และการใช้คูปอง ทั้งนี้ มีการกำหนด SMEs กลุ่มเป้าหมายที่ประมาณ 5,000 ราย มีระยะเวลาดำเนินการตามมาตรการฯ 11 เดือน นับตั้งแต่วันเปิดตัวจนกระทั่งวันสิ้นสุดการดำเนินการตามมาตรการฯ
นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบตามที่ฝ่ายเลขานุการรายงานความคืบหน้าในการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดและขนาดย่อม พ.ศ. 2543 โดยสรุปว่า ในคราวประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 49/2560 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อพิจารณา และคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาร่างไปแล้ว จำนวน 6 ครั้ง โดยเห็นชอบมาตรา 1,2,3 และคาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2560
-----------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th