รัฐบาล โดยกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ได้จัดทำโครงการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนผู้รับบริการที่มีต่อกระบวนการบังคับคดี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 เพื่อสำรวจการรับรู้ และความเข้าใจ ตลอดจนความเชื่อมั่นของประชาชน ผู้รับบริการ ผู้มีส่วนได้เสีย หน่วยงานภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของกรมบังคับคดีเพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนางาน รวมทั้งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของกรมบังคับคดี ซึ่งถือเป็นการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนผู้รับบริการที่มีต่อกระบวนการบังคับคดีเป็นครั้งแรก
นอกจากนี้ การดำเนินงานของรัฐบาล โดยกรมบังคับคดีได้รับการประเมินโดยธนาคารโลกตามกรอบการจัดอันดับความยาก – ง่ายในการประกอบธุรกิจของโลก (Ease of Doing Business) ที่เกี่ยวกับตัวชี้วัดที่ 9 เรื่องการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง (Enforcing contracts) และตัวชี้วัดที่ 10 เรื่องการแก้ไขปัญหาการล้มละลาย (Resolving Insolvency)
ทั้งนี้ เพื่อให้การสำรวจมีความเป็นมาตรฐาน น่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับ มีความเป็นกลาง และปราศจากอคติในการสำรวจ จึงได้มอบให้สำนักวิจัยซูเปอร์โพล ซึ่งเป็นผู้ประเมินอิสระจากหน่วยงานภายนอกเป็นผู้ดำเนินการโครงการดังกล่าว โดยผลสรุปจากการสำรวจพบว่าร้อยละ 98.4 เชื่อมั่นว่าการทำงานของกรมบังคับคดีมีส่วนช่วยในด้านการค้า การลงทุนและส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ และในส่วนตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ (การบริการ) และร้อยละ 86.95 เชี่อมั่นต่อกระบวนการบังคับคดีในภาพรวมที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนหรือผู้รับบริการ
สำหรับกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งที่เกี่ยวกับการบังคับคดีแพ่ง บังคับคดีล้มละลาย การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ การชำระบัญชี การไกเกลี่ย ข้อพิพาท ซึ่งป็นการดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล และมีผลต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนมีส่วนในการเสริมสร้างความเชื่อมั่น ให้กับนักลงทุนโดยแผนปฏิบัติการราชการ 4 ปี (พ.ศ. 2559 – 2562) ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 การยกระดับการบังคับคดีให้เป็นสากล และอำนวยความยุติธรรมอย่างทั่วถึงและเสมอภาค ซึ่งได้กำหนดเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ ระบบบังคับคดีสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนและภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ และได้กำหนดตัวชี้วัด เรื่องร้อยละความเชื่อมั่นในกระบวนการบังคับคดีที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนผู้รับบริการ
ที่มา: http://www.thaigov.go.th