รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานร่วมกับจีนเปิดงานสัมมนาวิชาการ หัวข้อ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” กับ “ประเทศไทย 4.0” สู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน
วันนี้ (8 พฤศจิกายน 2560) เวลา 09.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นตรงกับเวลา 08.00 น.ประเทศไทย) ณ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยนาย สวี่ โย่วเซิง (Mr.Xu Yousheng) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐมนตรีช่วยทบวงกิจการชาวจีนโพ้นทะเลปักกิ่ง ได้เป็นประธานร่วมในพิธีเปิดโครงการสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย – จีน ครั้งที่ 6 ภายใต้หัวข้อ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”และ”ประเทศไทย 4.0” สู่ความมั่นคง มั่งคั่งร่วม (“The Belt and Road” and “Thailand 4.0” Towards Common Prosperity) ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติร่วมกับมหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Huagiao University ,HQU) สถาบัน China Society for Southeast Asian Studies (CSSAS) และสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย – จีน
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการจัดโครงการสัมมนาครั้งนี้ เพื่อให้นักวิชาการไทยและนักวิชาการจีน ได้นำเสนอผลงานทางวิชาการ การวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นไทย – จีน สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยร่วมกันในประเด็นที่คล้ายคลึงกันหรือเชื่อมโยงกันต่อไป รวมถึงประสานงานส่งเสริมให้มีการนำความรู้หรือองค์ความรู้ที่ได้รับจากการศึกษาวิจัยมาเป็นข้อมูลในการจัดทำนโยบายหรือยุทธศาสตร์ของรัฐบาลต่อไป และผลักดันให้มีการนำนโยบายหรือยุทธศาสตร์ดังกล่าวไปใช้ในการกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศและแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ได้มีการปาฐกถาพิเศษทางด้านยุทธศาสตร์ไทย –จีน โดย ศาสตราจารย์ ดร.สุรชัย ศิริไกร กรรมการที่ปรึกษาศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย – จีน และหัวข้อการพัฒนาโครงการ EEC ของไทย โดยนางปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวในพิธีเปิดงานว่า การสัมมนาในครั้งนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นการสานต่อจากการจัดสัมมนาครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2555 ซึ่งได้รับเกียรติอย่างสูงจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาฯ ครั้งนั้น จึงถือเป็นการสานต่อความจริงใจและจริงจังในความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสองประเทศ สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียนโดยเฉพาะประเทศไทย
การเข้าร่วมเส้นทางสายไหมทางทะเลตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาลจีน นับเป็นความร่วมมือที่สำคัญของทั้งสองประเทศที่ต่างอำนวยประโยชน์ซึ่งกันและกัน จึงกล่าวได้ว่ายุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางทะเลของประเทศจีนเป็นยุทธศาสตร์ที่เอื้อประโยชน์ต่อประเทศไทย โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาประเทศในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของไทย การดึงการลงทุนและถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศจีน
นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีปัจจัยที่เอื้อให้มีบทบาทเป็นผู้ประสานงานของอาเซียนกับประเทศจีน จึงเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงโครงการต่าง ๆ ระหว่างประเทศจีนและอาเซียนด้วย จึงเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ไทย – จีน ให้แน่นแฟ้นมากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบัน ประเทศไทยได้กำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศที่เรียกว่า Thailand 4.0 โดยใช้เป็นกรอบยุทธศาสตร์ที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า จึงเห็นควรที่จะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันอย่างกว้างขวาง ในการดำเนินความร่วมมือต่างๆ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางทะเลและนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อนำมาพัฒนาให้เกิดผลดียิ่งขึ้นต่อไป
จากนั้นในเวลา 11.00 น.(ตามเวลาท้องถิ่นตรงกับเวลา 10.00 น. ประเทศไทย) คณะของรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งประกอบด้วย ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ นางปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ พลเอก สุรสิทธิ์ ถนัดทาง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย – จีน พลเรือตรี โกวิท อินทร์พรหม ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม ดร.โภคิน พลกุล นายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย – จีน นายพิริยะ เข็มพล เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง นายมงคล สินสมบูรณ์ รักษาการกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้พบปะตัวแทนนักศึกษาไทยที่ได้รับทุนข้าราชการและทุนเส้นทางสายไหมทางทะเลที่มาให้การต้อนรับ พร้อมทั้งเยี่ยมชมนิทรรศการผลงานของนักศึกษาไทยดังกล่าว
ต่อจากนั้น รองนายกรัฐมนตรีและคณะได้เข้าร่วมประชุมเจรจาความร่วมมือกับฝ่ายจีนแบบโต๊ะกลม (Round Table) ซึ่งนำโดยนาย สวี่ โย่วเซิง (Mr.Xu Yousheng) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐมนตรีช่วยทบวงกิจการชาวจีนโพ้นทะเลปักกิ่ง ผู้บริหารรัฐบาลเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน ผู้บริหารมหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้บริหารสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งประเทศจีน และผู้บริหารหน่วยงานของจีนที่เกี่ยวข้อง โดยมีประเด็นในการเจรจาความร่วมมือระหว่างกันครั้งนี้ เพื่อผลักดันแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย – จีน ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เป็นสักขีพยาน ณ เมืองเซี่ยเหมิน แห่งนี้ เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2560 ให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะความร่วมมือในระดับทวิภาคีและภูมิภาค ด้วยการใช้ประโยชน์จากคณะกรรมการร่วมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการระหว่างไทย – จีน ในฐานะกรอบการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศ
…………………………………………………………………………….
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ข้อมูลโดย พลอากาศเอก มณฑล สัชฌุกร
โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง)
ที่มา: http://www.thaigov.go.th