วันนี้ (11 พ.ย. 2560) เวลา 9.30 น. ณ โรงแรม InterContinental นครดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเปค ช่วงที่ 1 (Retreat I) ภายใต้หัวข้อ การเติบโตอย่างมีนวัตกรรม การมีส่วนร่วม และการจ้างงานที่ยั่งยืนในยุคดิจิทัล(Innovative Growth, Inclusion and Sustainable Employment in the Digital Age) โดยภายหลังการประชุม พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณเวียดนามที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นแก่คณะผู้แทนไทย พร้อมชื่นชมเวียดนามที่จัดการประชุมเอเปคตลอดทั้งปีได้อย่างดีเยี่ยม ประเด็นสำคัญที่เวียดนามหยิบยกมีความสมดุลระหว่างการค้าการลงทุนและการเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายต่าง ๆ โดยเฉพาะการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งจะนำพาเอเปคไปสู่ยุคใหม่ซึ่งมี “นวัตกรรม” เป็นหัวใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งผลักดันให้เกิดการสร้างโอกาสและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกล
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอสิ่งที่เอเปคสามารถเริ่มดำเนินการเพื่อวางรากฐานไปสู่การเติบโตอย่างครอบคลุมและยั่งยืน ได้แก่ ประการแรก การพัฒนาทุนมนุษย์ นายกรัฐมนตรีเชื่อว่า การพัฒนาทุนมนุษย์เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของทุกสมาชิกเอเปค ซึ่งได้จัดทำกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในยุคดิจิทัล (APEC Framework on Human Resource Development in the Digital Age) เป็นแนวทางเตรียมความพร้อมบุคลากรทุกเพศทุกวัยให้มีศักยภาพเท่าทันต่อวิวัฒนาการของเทคโนโลยี โดยไทยให้ความสำคัญต่อการเตรียมกำลังคนในยุคดิจิทัลผ่านบูรณาการสะเต็มศึกษา เพื่อนำไปสู่การคิดแก้ปัญหา และการสร้างสรรค์นวัตกรรมในชีวิตประจำวันและการทำงาน รวมทั้งการวิจัยและพัฒนา การใช้ดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ และการให้ความสำคัญกับการเตรียมแรงงานในยุคดิจิทัล รวมทั้ง การปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ของสถาบันการศึกษาในทุกระดับ และบูรณาการระบบทรัพยากรการเรียนรู้ของภาครัฐให้สนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน สนับสนุนสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการใหม่ๆให้ขยายตัวอย่างเข้มแข็งและกว้างขวางทั่วประเทศในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ประการที่สอง การเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในฐานะที่เป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก ควรต้องสนับสนุนภาคการเกษตรปรับตัวเข้ากับยุคดิจิทัล เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารโลก ด้วยเหตุนี้ ไทยจึงสนับสนุนให้เกษตรกรน้อมนำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาปรับใช้กับเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเช่น Big data ในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรไปสู่เกษตรอัจฉริยะ เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเชื่อมต่อกับตลาดโลก รวมถึงรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
ประการที่สาม และการส่งเสริมธุรกิจสีเขียว การส่งเสริมให้วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสีเขียว มีส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ MSMEs มีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลก และเป็นรากฐานให้เอเปคเติบโตอย่างยั่งยืน ครอบคลุม และมีนวัตกรรม ตลอดจนผลักดันให้ภูมิภาคของเราเปลี่ยนผ่านไปสู่ “สังคมคาร์บอนต่ำ” และก่อให้เกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมสีเขียวที่กำลังเติบโตขึ้นอีกด้วย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยร่วมกับเปรูผลักดันยุทธศาสตร์เอเปคว่าด้วยการส่งเสริม MSMEs ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยั่งยืน และมีนวัตกรรม (APEC Strategy for Green, Sustainable and Innovative MSMEs) ซึ่งผู้นำเอเปคจะรับรองในปีนี้ และไทยพร้อมรับที่จะจัดทำแผนงานและดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนให้สมาชิกเอเปคนำยุทธศาสตร์ดังกล่าวไปปฏิบัติให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมต่อไป
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า การดำเนินการข้างต้นควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของการบูรณาการความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน ในส่วนของไทย มีกลไกประชารัฐ ซึ่งเป็นการสานพลังระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ส่วนเอเปค มีสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจหรือเอแบค (ABAC) และหน่วยงานพันธมิตรอีกมากมาย นายกรัฐมนตรีหวังว่า เอเปคและกลไกเหล่านี้จะประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดมากขึ้นในอนาคตเพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มก้าวสู่สังคมดิจิทัลได้อย่างเต็มศักยภาพและเท่าเทียม นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียินดีที่เวียดนามเสนอวาระการดำเนินการเพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าในการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ การเงิน และสังคม (Action Agenda for Advancing Economic, Financial and Social Inclusion) เพื่อเป็นแนวทางให้สมาชิกเอเปคเติบโตไปพร้อม ๆ กัน โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง
ที่มา: http://www.thaigov.go.th