ผลการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ฯ

ข่าวทั่วไป Monday November 13, 2017 16:06 —สำนักโฆษก

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ฯ โดยการดำเนินงานหลายเรื่องมีความก้าวหน้าโดยลำดับ เช่น การแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน ICAO ได้ถอดธงแดงออกจากประเทศไทย

วันนี้ (13 พ.ย.60) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 คณะกรรมการขับเคลื่อน ปฏิรูปด้านความมั่นคง ลดความเหลื่อมล้ำ การเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เรื่องที่เป็นวาระเร่งด่วน การแก้ไขปัญหาการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ครั้งที่ 9/2560 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พลโท คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม และคณะ ได้แถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าผลการดำเนินการการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันพยายามเร่งรัดแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด โดยมีแผนขับเคลื่อนและปฏิรูปการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย และแผนปฏิบัติการอันเนื่องจากผลการหารือระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (ด้านแรงงาน) พร้อมนำผลการดำเนินงานที่ได้มาจัดทำรายงานผลการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (TIP Report) รายงานความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) และรายงานสถานการณ์การใช้แรงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายของประเทศไทย (Findings on the worst Forms of Child Labor) โดยมีเป้าหมายสำคัญให้ได้รับการจัดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ในระดับ Tier2 ในเดือนมิถุนายน 2561 และสามารถปลดใบเหลือง IUU ได้ในเดือนธันวาคม 2560 โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ 3 เรื่อง คือ 1. การป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน โดยประเทศไทยถูกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา จัดอันดับอยู่ใน Tier2 Watch List เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งหากประเทศใดที่ถูกจัดอันดับอยู่ Tier2 Watch List มาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว หากในปีถัดไปยังไม่สามารถแสดงได้ว่าได้มีการยกระดับการดูแลการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ได้อย่างมีนัยสำคัญก็จะถูกจัดอันดับเป็น Tier3 โดยอัตโนมัติ และอาจส่งผลให้ถูกระงับความช่วยเหลือซึ่งไม่ใช่ด้านมนุษยธรรม ตลอดจนความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องกับการค้าจากสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ประเทศไทยสามารถยกระดับการดำเนินการไปอยู่ใน Tier2 รัฐบาล โดยคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย (อกคร.) และกระทรวงแรงงาน ยังคงให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้ปรับปรุงแผนการขับเคลื่อนและปฏิรูปการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย ประจำปี 2560 ให้เป็นไปตามข้อเสนอดังกล่าวและมุ่งเน้นขับเคลื่อนและบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีผลการดำเนินงาน 5 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านปฏิรูปกฎหมาย ออกกฎหมายลำดับรอง 4 ฉบับ ตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 2) ด้านการบังคับใช้กฎหมาย เช่น จัดทำระบบ Batch Scan Face Detection เพื่อสนับสนุนการตรวจและบังคับใช้กฎหมายด้านแรงงานในภาคการประมง พัฒนาระบบติดตามผลการตรวจและคุ้มครองแรงงาน/คนหางาน ฯลฯ 3) ด้านการป้องกัน/ช่วยเหลือ เช่น เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เพิ่มแรงจูงใจให้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ให้ความร่วมมือในการสืบสวนและดำเนินคดี ตรวจบังคับใช้กฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คนขอทาน เพิ่มช่องทางการร้องทุกข์ร้องเรียน ฯลฯ 4) ด้านขับเคลื่อนการปฏิรูปตามมาตรฐานสากล เช่น ขับเคลื่อนการปฏิบัติตามนุสัญญาว่าด้วยการค้ามนุษย์แห่งอาเซียน พิจารณารับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 188 ฉบับที่ 98 และพิธีสารภายใต้อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 29 และร่วมร่างมาตรฐานและแนวทางระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานต่างด้าว และ5) ด้านการปฏิบัติการข่าวสารเพื่อทำความเข้าใจกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ประชาสัมพันธ์เชิงรุกและชี้แจงการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมายของไทย ผ่านสื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่อประชาคมโลก เป็นต้น

2. การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ด้านแรงงาน) สหภาพยุโรป (EU) ได้ให้ใบเหลืองประกาศเตือนประเทศไทย เนื่องจากปัญหากรทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) โดย หนึ่งประเด็นสำคัญที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษคือการใช้แรงงานบังคับในเรือประมง ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน แต่ยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อความมั่นคง ความน่าเชื่อถือ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งกระทรวงแรงงาน ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการตามแผนปฏิบัติการอันเนื่องจากผลการหารือระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (ด้านแรงงาน) ประจำปี 2560 โดยมีผลการดำเนินการที่สำคัญ ประกอบด้วย ด้านการประสานงาน ด้านการพัฒนากฎหมาย ด้านการป้องกัน การดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมาย ด้านการคุ้มครองผู้เสียหาย และด้านการเคลื่อนย้ายแรงงาน และ 3. รายงานสถานการณ์การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศรายงานสถานการณ์และการจัดการการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด (Findings on the worst Forms of Child Labor) ประจำปี 2016 เลื่อนอันดับการดำเนินงานของประเทศไทยจากระดับที่มีความสำคัญปานกลาง (Moderate Advancement) เป็นระดับที่มีความสำเร็จมาก (Significant Advancement) ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ส่งผลให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือในระดับสากลเพิ่มขึ้น เพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าไทยไปยังต่างประเทศ อันจะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจภายในประเทศขยายตัว ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำในที่ประชุมว่า รัฐบาลยังคงต้องดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วนต่อไป โดยให้นำข้อเสนอที่ได้หารือร่วมกับสหภาพยุโรป ไปทบทวนและต่อยอดให้เป็นยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืนต่อไป และยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในการดูแลสิทธิแรงงานคนไทยและต่างประเทศอย่างเท่าเทียมกันตามหลักสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานระหว่างประเทศ พร้อมเน้นให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานร่วมกันให้มากขึ้น ทั้งเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และไม่ให้มีการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐโดยเด็ดขาด การยกร่างกฎหมาย พ.ร.บ. ป้องกันแรงงานบังคับ ให้สามารถรองรับพิธีสารอนุสัญญาระหว่างประเทศ การส่งเสริมและยกระดับการคุ้มครองการตรวจสภาพการทำงานในภาคประมงให้มากขึ้น การส่งเสริมสิทธิ์ในการรวมตัวเพื่อการเจรจาต่อรองของแรงงานทุกกลุ่มโดยแก้กฎหมายให้ครอบคลุม ตลอดจนการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดระเบียบที่พักแรงงานต่างด้าว

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมรับทราบผลการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน ตามที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ICAO ได้มีหนังสือแจ้งยืนยันว่าประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องอย่างมีนัยสำคัญด้านความปลอดภัยการบินพลเรือนอย่างเป็นทางการ โดยเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2560 ICAO SSC Committee ได้พิจารณาเห็นชอบให้ประเทศไทยพ้นจากประเทศที่มีข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concerns) และด้วยผลจากมติดังกล่าว สถานภาพในเว็บไซต์ของ ICAO ในส่วนของ Safety Audit Result ซึ่งเคยมีรูปธงแดงอยู่ด้านหน้าชื่อประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2558 ได้รับการถอดออก ทำให้ประเทศไทยสามารถ “ปลดธงแดง” ได้สำเร็จ

รวมทั้ง ที่ประชุมรับทราบการจัดระเบียบรถรับจ้างสาธารณะประเภทแท็กซี่ ซึ่งสถิติข้อมูลจำนวนเรื่องร้องเรียนของรถแท็กซี่จากศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน (1584) พบว่าในปี พ.ศ. 2560 มีการแจ้งเรื่องร้องเรียนรถแท็กซี่จำนวน 43,804 เรื่อง ส่วนเรื่องข้อร้องเรียนที่พบอย่างต่อเนื่องและมีปัญหามากที่สุด คือ การปฏิเสธรับผู้โดยสาร แสดงกิริยาไม่สุภาพ และขับรถประมาทน่าหวาดเสียว จากปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้ใช้บริการหันไปใช้บริการรถแท็กซี่นอกระบบที่ให้บริการเรียกรถผ่าน Application บนมือถือ เช่น UBER GRAB CAR เป็นต้น โดยมองข้ามถึงความปลอดภัยจากการใช้บริการรถแท็กซี่นอกระบบที่ขาดการกำกับ ดูแลจากหน่วยงานภาครัฐ ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว กรมการขนส่งทางบกจึงดำเนินการยกระดับมาตรฐานรถแท็กซี่เกิดโครงการ TAXI OK เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับความปลอดภัยและเกิดประโยชน์สูงสุด โดย กรมการขนส่งทางบก จะมีการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ TAXI OK ในวันที่ 14 ธันวาคม 2560 โดยผู้ใช้บริการสามารถเรียกใช้บริการรถแท็กซี่ที่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัยผ่านทางแอพพลิเคชั่น DLT TAXI OK ทั้งนี้ คาดว่าจะมีรถแท็กซี่จดทะเบียนใหม่และรถแท็กซี่เก่า (ภาคสมัครใจ) เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 10,000 คัน รถแท็กซี่ที่เข้าสู่ระบบ TAXI OK สังเกตได้จากสัญลักษณ์ ดังนี้ 1) รถแท็กซี่ที่จดทะเบียนใหม่มีโป๊ะรูปแบบใหม่ของ TAXI OK ติดบนหลังคา และ 2) รถแท็กซี่เก่า (ภาคสมัครใจ) มีสติกเกอร์สัญลักษณ์ TAXI OK ที่หน้ากระจกรถ

------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ