วันนี้ (10 พ.ย. 2560)เวลา 15.30 น. ณ ห้อง Da Nang Ballroom โรงแรม Furama Resort Da Nang นครดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมเต็มคณะระหว่างผู้นำเอเปคกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรี และผู้นำจากชิลี ปาปัวนิวกินี และรัสเซีย ได้เข้าหารือกลุ่มย่อยกับผู้แทน ABAC จากเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ อีก 8 คน ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ และสหรัฐฯ ภายใต้หัวข้อ “การส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืน ครอบคลุมและมีนวัตกรรม และการส่งเสริมความเป็นสากลของวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมและรายย่อย (MSMEs)”
นายกรัฐมนตรีหารือกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ในเรื่องมาตรการกระตุ้นการมีส่วนร่วมของ MSMEs ในตลาดสากล และความร่วมมือจากภาคธุรกิจในด้านดังกล่าว โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า MSMEs ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยในไทยผู้ประกอบการ MSMEs มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 99.7 ของจำนวนกิจการทั้งหมด และ MSMEs ก่อให้เกิดการจ้างงานถึงร้อยละ 80 ของการจ้างงานทั้งหมด รวมถึงสร้างมูลค่าให้กับ GDP ถึงร้อยละ 40 ของ GDP ประเทศ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีจำนวนมาก เกือบทั้งหมดเป็นวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม ซึ่งยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการประกอบธุรกิจ ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงมีความพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อการส่งเสริมการเติบโต MSMEs ให้มีศักยภาพในการแข่งขันในระดับสากล และสามารถใช้ประโยชน์จากการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงปรับตัวให้เท่าทันยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในยุคดิจิทัล
ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือ MSMEs ด้านการเงิน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลไทยได้จัดตั้งกองทุนพัฒนา SMEs ตามแนวประชารัฐ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม ในวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้ SMEs พัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงตามยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศไทยที่สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ ภาคการเกษตร อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และการท่องเที่ยว เป็นต้น รัฐบาลไทยได้อนุมัติ สินเชื่อ SME Transformation Loan ที่เน้นสนับสนุน SMEs
ที่ส่งออกหรือขยายธุรกิจในต่างประเทศ ในขณะเดียวกัน ได้จัดตั้งโครงการสินเชื่อประชารัฐเพื่อ Micro SMEs สนับสนุนวิสาหกิจรายย่อยและวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้วิสาหกิจเหล่านี้ปรับปรุงกิจการและนำเงินมาหมุนเวียนเพื่อสร้างศักยภาพในการเติบโตต่อไปในอนาคต
สำหรับมาตรการที่ไม่ใช่การเงิน ไทยเน้นเสริมสร้างศักยภาพให้ MSMEs ก้าวสู่การเป็น Smart MSMEs โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการจัดหลักสูตรการอบรมในลักษณะ SME Academy เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและความเป็นสากลของ MSMEs โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะสำหรับe-commerce การสร้างองค์ความรู้ด้านการตลาด การพัฒนามาตรฐานสินค้าและบริการให้เทียบเท่าคุณภาพสากล และการให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการค้าและการลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงการจัดทำบัญชีอย่างถูกต้องเพื่อพัฒนาธุรกิจที่มั่นคง เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังสนับสนุนในเรื่องการขยายตลาด การวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการสร้างมูลค่าอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการ “คูปองนวัตกรรม” ที่เป็นการให้เงินช่วยเหลือในรูปแบบคูปองเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาสินค้า และส่งเสริมนวัตกรรมผ่านทางผู้ให้บริการนวัตกรรม โครงการ “Pro Active” ที่ส่งเสริมให้ SMEs ไปออกบูธในงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสในการขยายตลาด โครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับโต ซึ่งรวบรวมที่ปรึกษาผู้มีความรู้และประสบการณ์ในการให้คำแนะนำและจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจให้แก่ SMEs เป็นต้น
นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงตัวอย่างการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมของไทยเพิ่มเติม เช่น การจัดตั้งศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation Center หรือ ITC) โดยการจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้และเตรียมความพร้อมให้ MSMEs ก้าวสู่ยุคดิจิทัล การจัดตั้งศูนย์บริการ SMEs ครบวงจร หรือ One Stop Service Center (OSS) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ MSMEs เข้าถึงข้อมูลองค์ความรู้และบริการต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ MSMEs เกี่ยวกับการลงทุนในต่างประเทศ โดยในอนาคต นายกรัฐมนตรีหวังว่า จะขยาย OSS ไปยังเขตเศรษฐกิจอาเซียนอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ ไทยมีโครงการสร้างความแข็งแกร่งให้ MSMEs ด้านการเกษตร โดยมีเป้าหมายบ่มเพาะผู้ประกอบการ MSMEs และสตาร์ทอัพให้เป็น Smart Farmer กว่า 5000 ราย เพื่อให้สามารถแปรรูปสินค้าและขยายการเข้าสู่ตลาด e-commerce ด้านการเกษตรที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังได้จัดตั้ง “กลไกประชารัฐ”เพื่อให้ภาคเอกชน โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐ ในการสนับสนุนทั้ง MSMEs สตาร์ทอัพ และกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) เข้าสู่ตลาดสากลอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเชื่อมโยงตลาด ให้ MSMEs และสตาร์ทอัพ นำประสบการณ์โดยตรงเหล่านี้ไปใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างครบวงจร โดยโครงการดังกล่าวสามารถเพิ่มพูนศักยภาพและสร้างรายได้ให้กับบริษัทขนาดย่อม 57 ราย ที่เข้าร่วมโครงการตลอดระยะเวลา 1 ปี กว่า 500 ล้านบาท นายกรัฐมนตรีหวังว่า ในอนาคต ABAC จะมีเข้ามามีบทบาทในการสร้างเครือข่ายที่เป็นรูปธรรมเพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดใหญ่กับ MSMEs ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมบริษัทชั้นนำในภูมิภาคเป็นพี่เลี้ยงให้กับ MSMEs
ที่มา: http://www.thaigov.go.th