วันนี้ (13 พ.ย. 60) เวลา 13.15 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ในโอกาสครบรอบ 40 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ ณ Summit Hall ศูนย์การประชุมนานาชาติฟิลิปปินส์ (PICC) กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีและกล่าวต้อนรับประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ได้มาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งแรกซึ่งปีนี้ถือว่าเป็นโอกาสดีเพราะเป็นปีครบรอบ 40 ปีของความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ และเป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนถึงความสำคัญที่สหรัฐฯ ให้กับอาเซียนและภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
บทบาทและความสำคัญของสหรัฐฯ ในภูมิภาคไม่เคยลดลง แต่ยิ่งมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งสหรัฐฯ สามารถร่วมมือกับอาเซียนในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อธำรงไว้ซึ่งความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนในภูมิภาค วิกฤติการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีสืบเนื่องจากพฤติกรรมของเกาหลีเหนือถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อภูมิภาคและประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นพ้องกับประธานาธิบดีทรัมป์ ในเรื่องนี้ตามที่ได้หารือกันที่กรุงวอชิงตัน เมื่อเดือนที่ผ่านมาว่าทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ไขวิกฤตการณ์นี้อย่างจริงจังโดยเร็ว นอกจากนี้ บนพื้นฐานของฉันทามติของอาเซียนนั้น อาเซียนสามารถมีบทบาทในเรื่องนี้โดยร่วมผลักดันเกาหลีเหนือให้ยุติโครงการอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธโดยเร็ว เพื่อนำไปสู่คาบสมุทรเกาหลีที่มีสันติภาพ เสถียรภาพ และปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งนี้ โดยยึดแนวทางสันติวิธี
สำหรับสถานการณ์ในทะเลจีนใต้นั้นในช่วงที่อาเซียนและจีนเจรจา COC ยังไม่แล้วเสร็จ ทั้ง 2 ฝ่ายควรพัฒนาโครงการความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายในทะเลจีนใต้ เช่น โครงการปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล เพื่อสร้างความไว้ใจในพื้นที่ทะเลนี้ ทั้งนี้ เพื่อให้ทะเลจีนใต้เป็นทะเลแห่งสันติภาพ เสถียรภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกทั้งเคารพสิทธิในการเดินเรือและการบินซึ่งเป็นหลักการสากล
นอกจากนี้ ปัญหาผู้พลัดถิ่นและการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขร่วมกันด้วยเหตุผลด้านมนุษย์ธรรมเป็นหลัก ในเวลาเดียวกัน ควรมีการแก้ไขปัญหาที่ต้นทางโดยเน้นการส่งเสริมความปรองดองและการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อไม่ไห้มีผลกระทบต่อประเทศปลายทาง อาเซียนพร้อมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ในการรับมือกับความท้าทายอื่น ๆ เช่น แนวคิดสุดโต่ง การก่อการร้าย ความมั่นคงทางไซเบอร์ จึงหวังว่า สหรัฐฯ จะสนับสนุนการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือด้านข้อมูล เพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติในภูมิภาค อาเซียนและสหรัฐฯ ควรร่วมมือในการเสริมสร้างความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมภูมิภาคและพร้อมสร้างภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์ร่วมกัน
แต่บทบาทของสหรัฐฯ มิใช่จำกัดเพียงแค่ความมั่นคงเท่านั้น หากแต่สหรัฐฯ ยังเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจสำคัญที่จะร่วมมือกับอาเซียนอย่างเข้มแข็งผ่านแผนปฏิบัติการอาเซียน-สหรัฐฯ ที่จะก่อให้เกิดกรอบการค้าระหว่างกันอย่างมีกฎเกณฑ์ เสรีและเป็นธรรม และขยายช่องทางเศรษฐกิจดิจิทัลร่วมกับอาเซียน ไทยยินดีที่หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ มีความคืบหน้าในส่วนของการลงทุนการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และความร่วมมือด้านพลังงาน ทั้งนี้ โดยยึดหลักของธรรมาภิบาล
นอกจากนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนจะสร้างโอกาสให้กับทั้งสหรัฐฯ และอาเซียน อย่างไรก็ดี นอกจากการส่งเสริมบรรษัทภิบาลและการวางกฎเกณฑ์แล้ว ทุกประเทศต้องร่วมมือกันทำให้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ปลอดภัยจากภัยไซเบอร์อย่างจริงจังด้วย จึงขอเชิญสหรัฐฯ มาสนับสนุนการพัฒนาแนวคิดที่จะตั้งศูนย์ไซเบอร์อาเซียน
ทั้งนี้อาเซียนและสหรัฐฯ ควรร่วมมือกันเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างประชาชนต่อไป โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวกับเยาวชน ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต โดยอาจสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจยุคใหม่ที่สร้างสรรค์และทำประโยชน์ให้กับสังคม เหล่านี้สะท้อนได้ดีว่า อาเซียนและสหรัฐฯมีเป้าหมายเดียวกันคือ “การสร้างหุ้นส่วน และภูมิภาคที่มั่นคง มั่งคั่ง และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
ที่มา: http://www.thaigov.go.th