นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 20

ข่าวทั่วไป Monday November 13, 2017 15:53 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 20

วันนี้ (13 พ.ย. 60) เวลา 14.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 20 ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติฟิลิปปินส์ (PICC) กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับท่านนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง เข้าสู่การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 20 ในโอกาสที่ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน จะครบรอบ 15 ปีในปีหน้า ไทยสนับสนุนการจัดทำวิสัยทัศน์เพื่อความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน ค.ศ. 2030 เพื่อส่งเสริม ความร่วมมือให้ได้รับผลประโยชน์ร่วมกันบนพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่า มีแนวทางดังนี้

ประการแรก ไทยสนับสนุนการส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคระหว่างอาเซียนกับจีน รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและรถไฟความเร็วสูงในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน และการเชื่อมโยงข้อริเริ่มด้านความเชื่อมโยงต่าง ๆ ในอนุภูมิภาคและภูมิภาคให้เสริมซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะ “แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. 2025” (MPAC 2025) “บีอาร์ไอ” (BRI) “จีเอ็มเอส” (GMS) และแม่โขง-ล้านช้าง ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงที่ไร้รอยต่อและเป็นระเบียงเศรษฐกิจอย่างแท้จริง โดยนายกรัฐมนตรีเสนอให้ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย หรือ “เอไอไอบี” (AIIB) ร่วมกับสำนักเลขาธิการอาเซียนศึกษาวิธีการเชื่อมโยงข้อริเริ่มด้านความเชื่อมโยงของอาเซียนและจีนให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันให้มากที่สุด นอกจากนี้ ควรมีการส่งเสริมความร่วมมือในมิติอื่น ๆ เช่น ด้านกฎระเบียบ ด้านดิจิตัล ระหว่างประชาชนกับประชาชน และเอกชนกับเอกชนด้วย จึงเห็นควรศึกษาเรื่องการจัดทำระบบ “ซีไอคิว” (CIQ) ที่มีประสิทธิภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนระหว่างกัน

การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนในลักษณะ “ไทยแลนด์พลัสวัน” และการลงทุนในโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) หรือ “อีอีซี” (EEC) ในภาคตะวันออกของไทย และการลงทุนของไทยและอาเซียนในจีนในลักษณะพลัสวัน จะก่อให้เกิดเครือข่ายความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และมีส่วนช่วยเชื่อมโยงเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงกับจีนโดยผ่านประชาคมอาเซียน ทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในห่วงโซ่มูลค่าของเอเชีย-แปซิฟิกและของโลก ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างด้านการพัฒนาและกระจายความเจริญไปสู่ประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างทั่วถึง จึงสนับสนุนให้จีนเพิ่มการลงทุนในอาเซียนให้มากขึ้น

ประการที่สอง ไทยสนับสนุนการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างกัน นโยบาย

ไทยแลนด์ 4.0 และนโยบายของประเทศอื่น ๆ ที่ให้ความสำคัญกับการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศซึ่งจะได้รับประโยชน์จากการกำหนดให้ปี ค.ศ. 2018 เป็นปีแห่งนวัตกรรมอาเซียน-จีน ดังนั้น อาเซียนและจีน จึงอาจดำเนินโครงการวิจัยร่วมด้านนวัตกรรมในสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน อาทิ นวัตกรรมการเกษตรที่ยั่งยืน และการสาธารณสุข การส่งเสริมบทบาทของ “เอ็มเอ็สเอ็มอีส์” (MSMEs) และ “อีคอมเมิร์ซ” (E-Commerce) โดยใช้ประโยชน์จากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ยุคที่ 4 จะช่วยขยายตลาด การค้าและการลงทุน ทำให้หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-จีนเข้มแข็งมากขึ้น

ประการที่สาม นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื้อใจระหว่างอาเซียนกับจีนเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค เกี่ยวกับปัญหาทะเลจีนใต้ ไทยขอร่วมกับผู้นำอาเซียน-จีนสนับสนุนให้เริ่มต้นการเจรจาจัดทำ “ซีโอซี” (COC) ให้เสร็จโดยเร็ว และปฏิบัติตาม “ดีโอซี” (DOC) อย่างเต็มที่ ในช่วงเวลาที่เจรจา COC ยังไม่แล้วเสร็จ อาเซียนและจีนควรพัฒนาโครงการความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมและส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกัน ไทยจึงพร้อมที่จะเสนอโครงการความร่วมมือด้านการปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล ซึ่งอาจรวมถึงปะการังและการขจัดขยะทางทะเล เป็นต้นเพื่อเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และเพื่อให้ทะเลจีนใต้เป็นทะเลแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ