วันนี้ (14 พ.ย. 60) เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงนายกรัฐมนตรี ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 20 ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติฟิลิปปินส์ (PICC) กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีแสดงความชื่นชมความสำเร็จของความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสามในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา จนถือได้ว่าเป็นกรอบความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดกรอบหนึ่งที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง และยินดีที่จะร่วมรับรองปฏิญญามะนิลาในโอกาสครบรอบ 20 ปีของความร่วมมืออาเซียนบวกสาม เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกให้เข้มแข็ง และขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกอย่างยั่งยืน
ประการแรก ต้องเสริมสร้างความเชื่อมโยงที่ไร้รอยต่อในภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะระหว่างอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี โดยพัฒนาแนวคิดความเป็นหุ้นส่วนอาเซียนบวกสาม ด้านความเชื่อมโยง ที่ผู้นำอาเซียนบวกสามได้รับรองตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งจะช่วยให้กลุ่มประเทศอาเซียน บวกสามเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่มีการรวมตัวที่แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น การส่งเสริมความเชื่อมโยงควรเน้นหลายมิติพร้อม ๆ กัน เช่น ด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านกายภาพ ด้านกฎระเบียบ ด้านดิจิทัล และระหว่างเอกชนกับเอกชน และประชาชนกับประชาชน เพื่อให้เกิดพื้นที่เศรษฐกิจที่มีความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ
ไทยเสนอให้อาเซียนบวกสามร่วมกันพัฒนาแนวคิดความเป็นหุ้นส่วนอาเซียนบวกสามด้านความเชื่อมโยง โดยอาจใช้ประโยชน์จากผลการประชุมอาเซียนบวกสามว่าด้วยเรื่องการส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งเสนอแนะให้เน้นการจัดทำโครงการ ที่ก่อให้เกิดรายได้ โดยอาจให้รับการสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และธนาคาร เพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) ซึ่งทั้งสองสถาบันน่าจะพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันเพื่อสนับสนุนความเชื่อมโยงอาเซียนบวกสามและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกต่อไป
ประการที่สอง ประเทศบวกสามควรใช้ประโยชน์จากการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวของประชาคมอาเซียน ด้วยการเพิ่มปริมาณการค้าและการลงทุนในอาเซียนให้มากขึ้น เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย ในขณะนี้อาเซียนจะเร่งรัดการอำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น การลดต้นทุนธุรกรรมทางการค้าภายในภูมิภาคลงร้อยละ 10 ภายในปี ค.ศ. 2020 การพิจารณาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (ASEAN Single Window) การจัดทำระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ด้วยตนเองของอาเซียน และการจัดการกับมาตรการที่มิใช่ภาษี เป็นต้น
ทั้งนี้ อาเซียนบวกสามมีความคืบหน้าในความร่วมมือในหลากหลายสาขา อาทิ ด้านการเงิน โดยเห็นได้จากมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralization: CMIM) และด้านการเกษตร ในการนี้ โดยที่ประเทศบวกสามมีความก้าวหน้าทั้งทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม และพลังงานสะอาด เป็นต้น นายกรัฐมนตรีหวังว่าประเทศในอาเซียนบวกสามจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการค้นคว้าวิจัย และการเสริมสร้างความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการรวมตัวทางเศรษฐกิจในกรอบอาเซียนบวกสามอย่างต่อเนื่องต่อไป ในระยะยาว หากทั้ง 13 ประเทศสามารถต่อยอดความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสามให้มีความใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นในด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งดำเนินการตามแผนงานความร่วมมืออาเซียนบวกสามอย่างเต็มที่
นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า เราจะสามารถสร้างพื้นฐานที่จะยกระดับอาเซียนบวกสามให้เป็นประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก ตามข้อเสนอแนะของกลุ่มวิสัยทัศน์เอเชียตะวันออก รุ่นที่ 2 เพื่อส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่มีความเข้มแข็งและความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ภายใต้กรอบอาเซียนบวกสาม ซึ่งจะทำให้ภูมิภาค เอเชียตะวันออกสามารถรักษาสถานะและพลวัตด้านเศรษฐกิจให้ยั่งยืนต่อไปในระบบเศรษฐกิจโลก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th