วันนี้ (14 พ.ย. 60) เวลา 12.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวในการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ ในโอกาสครบรอบ ๔๐ ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหภาพยุโรป ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติฟิลิปปินส์ (PICC) กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าปีนี้เป็นปีที่มีความสำคัญของอาเซียนและสหภาพยุโรปหรืออียู กล่าวคือ การครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-อียู การครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งอาเซียน และการครบรอบ 60 ปีของสนธิสัญญากรุงโรม ซึ่งได้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อระลึกถึงโอกาสดังกล่าว
ในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-อียู ในช่วงสองปีครึ่งที่ผ่านมา ไทยเห็นความก้าวหน้าในความสัมพันธ์หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น (1) การที่อียูจะเข้าร่วมกิจกรรมในฐานะแขกของประธานของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกเป็นครั้งแรกในวันนี้ (2) การจัดทำแผนงานอาเซียน-อียู ด้านการค้าและการลงทุน ปี 2560-2561 และการเห็นชอบร่วมกันที่จะจัดทำร่าง์กรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อียู เพื่อรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงฯ ในเร็ววัน (3) การเจรจาความตกลงการขนส่งทางอากาศแบบครอบคลุม (ASEAN-EU Comprehensive Air Transport Agreement) เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนทั้งสองภูมิภาค (4) การออกแถลงการณ์ร่วมอาเซียน-อียู ว่าด้วยการปฏิบัติตามความตกลงปารีส เพื่อเป็นการยืนยันความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ (5) การจัดทำแผนปฏิบัติการอาเซียน-อียู ฉบับใหม่ สำหรับช่วงปี 2561-2565 สำเร็จ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมพลวัตความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับอียูให้ดำเนินต่อไปด้วยดีในอนาคต
สหภาพยุโรปในเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นแหล่งลงทุนอันดับ 1 แหล่งนักท่องเที่ยวอันดับ 2 และคู่ค้าอันดับ3 ของประชาคมอาเซียน จึงถือว่าเป็นหุ้นส่วนสำคัญโดยธรรมชาติที่อาเซียนพร้อมที่จะกระชับความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องต่อไป ในการนี้ ประเด็นที่อาเซียนและสหภาพยุโรปควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษมีดังนี้
การส่งเสริมภูมิภาคนิยมและพหุภาคีนิยม ในฐานะอาเซียนและอียูเป็นตัวอย่างที่ก้าวหน้าที่สุดในเรื่องของการรวมตัวกันในภูมิภาค อีกทั้งเป็นพลังสำคัญที่สนับสนุนระบบพหุภาคีนิยม ทั้งสองฝ่ายจึงควรร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อช่วยสร้างระเบียบระหว่างประเทศที่มีกฏเกณฑ์และตั้งอยู่บนหลักการของการเคารพซึ่งกันและกัน การส่งเสริมผลประโยชน์และค่านิยมร่วมกัน และการปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของมนุษย์ โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยมีความเข้าใจและคำนึงถึงความหลากหลายระหว่างประเทศและระหว่างภูมิภาค
การมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง คือ หลักการสำคัญหนึ่งสำหรับการรวมกลุ่มกันในภูมิภาคและระบบพหุภาคีข้างต้น นายกรัฐมนตรีเชื่อว่าไม่มีการรวมตัวกลุ่มใดที่จะยั่งยืนและคงอยู่ตลอดไปหากเราไม่สามารถตอบสนองผลประโยชน์ของประชาชนในภูมิภาค รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการรวมตัวกัน ดังนั้น เพื่อยืนยันและผลักดันหลักการดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานอาเซียน-อียู และผู้ประสานงานอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงได้ริเริ่มจัดการประชุมอาเซียน-อียู ว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ASEAN-EU Dialogue on Sustainable Development) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 ที่กรุงเทพฯ โดยร่วมกับคณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง และสร้างศักยภาพของประชาชนในการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการพัฒนาประเทศและภูมิภาค
ในส่วนของไทย รัฐบาลมุ่งเน้นนโยบายที่ส่งเสริมผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม หรือการส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นต้น ทั้งนี้โดยใช้แนวทางประชารัฐเพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง
โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณอียูที่สนับสนุนแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน (Initiative for ASEAN Integration) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่า อียูตระหนักถึงความแตกต่างในระดับการพัฒนาและความพร้อมของประเทศสมาชิกอาเซียนและความพยายามที่จะลดช่องว่างดังกล่าวให้แคบลง
ที่มา: http://www.thaigov.go.th