วันนี้ (20 พ.ย.60) เวลา 13.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการศึกษา ตรวจเยี่ยมและรับฟังการบรรยายสรุปการจัดการศึกษาของวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ และการจัดการศึกษาในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ณ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ชี้แจงถึงการดำเนินงานจัดการเรียนการสอนเพื่อผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) โดยมีสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นหน่วยงานหลักในการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านวิชาชีพ ทั้งในระดับฝีมือ ระดับเทคนิค และระดับเทคโนโลยี ซึ่งได้จัดทำแผนแม่บท ได้แก่ แผนพัฒนาการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2560-2579 เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการศึกษาอาชีวศึกษาของประเทศที่จะสอดคล้องกับเป้าหมายและทิศทางของการพัฒนากำลังคนตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยเฉพาะการสร้างความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนา และการเสริมสร้างศักยภาพคนอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ สอศ. จึงได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ในจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา จำนวนทั้งหมด 13 ศูนย์ ภายใต้การดำเนินงานตาม 5 ภารกิจ ได้แก่ (1) การเป็นฐานข้อมูลกลาง (2) การส่งเสริมสมรรถนะผู้เรียนเข้าสู่มาตรฐานอาชีพ (3) การส่งเสริมการระดมทรัพยากรและความร่วมมือ (4) การจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับการมีงานทำ (5) การวิจัยและพัฒนา เพื่อขับเคลื่อนแผนงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีลักษณะการทำงานแบบประชารัฐ ซึ่งมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเด็กอาชีวะให้มีศักยภาพตามความต้องการของ EEC
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายให้ข้าราชการและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเน้นย้ำการขับเคลื่อนการบริหารทางการศึกษาที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในสังคมโลกที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น และสำหรับประเทศไทยในปัจจุบันที่เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 4.0 จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่นักเรียนนักศึกษาภายในประเทศจะต้องมีความรู้ความสามารถที่ตอบสนองกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้ง First S-Curve และ New S-Curveว เพื่อจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจึงเน้นย้ำให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการในพื้นที่สานต่อความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างแข็งขันและมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน
วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ใช้การจัดการศึกษาที่เรียกว่า “สัตหีบโมเดล” ซึ่งเน้นเรียนจริง รู้จริง และทำจริง โดยความร่วมมือ 3 ฝ่าย คือ สถานศึกษา สถานประกอบการ และสมาคมหรือองค์กรวิชาชีพ โดยมีรูปแบบ S-M-L ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาโดยใช้ระยะเวลาการเรียนเป็นตัวกำหนดโครงการสร้างหลักสูตร และใช้ค่าตอบแทนเพื่อเป็นแรงจูงใจให้แก่นักเรียนนักศึกษาที่เข้ามาเรียนและได้ทำงานระหว่างเรียน ทั้งนี้วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นหนึ่งใน 6 วิทยาลัยเทคนิคนำร่องของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยเฉพาะหลักสูตรอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งมีอัตราเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความต้องการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบิน ที่มีความรู้ความสามารถ รวมทั้งช่างอากาศยาน หรือ Aircraft Mechanic เพื่อรองรับแผนการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินไทย ซึ่งในปัจจุบันยังขาดแคลนวิศวกรอากาศยานและช่างอากาศยานเป็นจำนวนมาก ที่จะสามารถช่วยในการซ่อมบำรุง ดูแลรักษาเครื่องบินที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในอุตสาหกรรมการบินของไทย ที่มา: http://www.thaigov.go.th