วันนี้ (28 พ.ย.60) เวลา 14.00 น. ณ อาคารวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 3/2560 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงแผนการพัฒนาภาคใต้และภาคใต้ชายแดนว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับจังหวัดภาคใต้และภาคใต้ชายแดน เพราะทั้งหมดคือประเทศไทย โดยภาคใต้ถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเกษตร ประมง การท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ซึ่งแม้ภาคใต้จะมีความแตกต่างทางด้านศาสนาและวัฒนธรรมแต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้แบบสังคมพหุภาคี โดยรัฐบาลมีหน้าที่ที่จะต้องขับเคลื่อนทุกภาคส่วนในภาคใต้และภาคใต้ชายแดนให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด โดยเฉพาะการสร้างการเชื่อมโยงทางกายภาพในเรื่องโครงข่ายคมนาคมทั้งระบบ ทั้งทางบก ทางทะเล ทางอากาศ และระบบราง (รถไฟทางคู่ การขยายรถไฟเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน) การปรับปรุงด่านศุลกากร การเจรจาเชื่อมต่อระหว่างกันเรื่องการขนส่งการสัญจรไป-มา ทั้งสินค้าและประชาชน รองรับการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวในพื้นที่ รวมถึงการค้นหาศักยภาพในพื้นที่ให้พบเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาภาคใต้ไปสู่เป้าหมาย โดยเฉพาะด้านการเกษตร จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็ว รวมไปถึงการสร้างความเจริญเติบโตและเข้มแข็งจากภายในให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นและภูมิภาค อันจะส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตโดยรวมของประเทศ ทั้งนี้ภายใน 1 ปี รัฐบาลจะพยายามดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยจะเร่งรัดจัดสรรงบประมาณลงไปในพื้นที่เพื่อให้ถึงมือประชาชนได้มากที่สุด โดยท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการภายใต้กฎหมายที่กำหนดและเป็นไปอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ และเกิดความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน
สำหรับการเชื่อมโยงด้านการขนส่งและระบบโลจิสติกส์กับประเทศเพื่อนบ้านภายในอาเซียน รัฐบาลได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนงาน IMT-GT (ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย) ซึ่งขณะนี้บางเรื่องอยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษาในรายละเอียดและความคุ้มค่า รวมถึงคำนึงถึงความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน
ส่วนการแก้ไขปัญหาประมงในภาคใต้นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้องกับ IUU และดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งกฎหมายในประเทศและต่างประเทศ โดยคำนึงถึงการรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำและธรรมชาติที่มีอยู่ควบคู่ไปพร้อมกัน รวมทั้งการดำเนินการต่าง ๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการทำประมงพื้นบ้าน และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ขณะที่การใช้อุปกรณ์จับปลาต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและสภาพแวดล้อม คำนึงถึงผลประโยชน์โดยรวมเป็นสำคัญ อันจะทำให้สามารถป้องกันปัญหาการกีดกันทางการค้าจากต่างประเทศได้ โดยยืนยันรัฐบาลพร้อมรับฟังข้อเสนอจากทุกฝ่าย
----------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th