รมว. ทส. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ครั้งที่ 3/2560

ข่าวทั่วไป Thursday December 7, 2017 14:31 —สำนักโฆษก

รอง นรม. พลเอกประวิตรฯ มอบหมาย รมว. ทส. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) พร้อมแผนแม่บทการบริการจัดการแร่ พ.ศ. 2560-2564

วันนี้ (7 ธันวาคม 2560) เวลา 10.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ปฏิบัติหน้าที่แทนในการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ครั้งที่ 3/2560 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยตัวแทนหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และมีนายทศพร นุชอนงค์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี และนายจุลพงษ์ ทวีศรี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการร่วมของการประชุมฯ ซึ่งสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) พร้อมแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560-2564 ซึ่งมีเป้าหมายของแผนฯ ดังกล่าว เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรแร่แบบองค์รวม พร้อมสนับสนุนวัตถุดิบให้เป็นฐานการผลิตเพื่อการพัฒนาประเทศ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ดีของประชาชน โดยกำหนดยุทธศาสตร์เป็น 4 ด้าน ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจำแนกเขตแหล่งแร่ที่สอดคล้องกับแนวนโยบาย “ประเทศมีความมั่นคงของฐานทรัพยากรแร่และวัตถุดิบ” ยุทธศาสตร์ที่ 2 การกำหนดนโยบายการบริหารจัดการแร่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดสอดคล้องกับแนวนโยบาย “การนำแร่มาใช้ประโยชน์ต้องมีคุณภาพ” ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนากลไกการกำกับดูแลและอำนวยความสะดวกสอดคล้องกับแนวนโยบาย “การพัฒนากลไกการบริหารจัดการแร่ตามหลักธรรมาภิบาล” และยุทธศาสตร์ที่ 4 การเสริมสร้างและส่งเสริมการมีส่วนร่วมสอดคล้องกับแนวนโยบาย “การเสริมสร้างและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแร่”

ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประกาศมีบัญชีทรัพยากรแร่เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับการบริหารจัดการแร่ในภาพรวมของประเทศ โดยการสำรวจจัดทำฐานข้อมูล ธรณีวิทยาแหล่งแร่ การจำแนกเขตพื้นที่ศักยภาพแร่ และกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง โดยมีกลไกการกำกับดูแลและอำนวยความสะดวก พร้อมให้สังคมและชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแร่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันมีกรอบหรือทิศทางหลักในการใช้องค์ความรู้เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดเสริมสร้างเพื่อขับเคลื่อน พร้อมมีแผนปฏิบัติการที่มีความเชื่อมโยงในระดับต่าง ๆ ในเชิงบูรณาการ โดยมีการติดตามและประเมินผลอย่างได้มาตรฐานและโปร่งใส จากนั้นที่ประชุมจะได้นำเสนอเรื่องดังกล่าวที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

.................................................................................

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ