วันนี้ (12 ธันวาคม 2560) เวลา 13.30 น. ณ บริเวณห้องโถงชั้นล่าง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ในประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรี ได้แถลงสร้างความเข้าใจในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กับคณะรัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งเป็นประเทศจากทวีปยุโรปที่เข้ามาพบ และคาดว่าจะเป็นผลดีต่อประเทศไทย เนื่องจากตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่ผ่านมา ในส่วนของกระทรวงต่าง ๆ ได้พบปะพูดคุยกับประเทศ EU รวมถึงการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ และได้อธิบายกับทุกประเทศที่เข้ามา เพื่อความเข้าใจกับการขับเคลื่อนประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา และแผน Road Map ของประเทศไทยด้วย
ส่วนการเลือกตั้ง เป็นไปตามแผน Road Map ที่วางไว้ และอยู่ในระหว่างร่างกฎหมายลูก เมื่อแล้วเสร็จก็เข้าสู่กระบวนการเลือตั้ง ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด การเลื่อนเป็นไปตามห้วงเวลาที่สำคัญ ๆ ของบ้านเมือง รัฐบาลคำนึงถึงความปลอดภัยของสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทุกประเทศเข้าใจเป็นอย่างดี ขอให้ประชาชนทุกคนเข้าใจตรงกันในส่วนนี้ ในส่วนกฎหมายลูกต้องผ่านคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องและส่งต่อไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีวาระในการพิจารณา ซึ่ง ใน สนช.ก็มีทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมพิจารณา และเข้าสู่พระราชบัญญัติการเลือกตั้งซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายลูกอยู่แล้ว
สำหรับเรื่องการเดินหน้าโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้น ทุกคนทราบดีว่าติดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม พื้นที่ป่า ขอให้นักสิทธิมนุษยชนทราบด้วยว่า ถ้ายังมีการต้านกันเหมือนเดิมจะมีผลกระทบด้านน้ำท่วมในฤดูฝน และปัญหาน้ำแล้ง เมื่อสร้างไม่ได้ก็เกิดผลกระทบเสียหายแต่ละปีเป็นหมื่นล้านบาท แต่หากจะสร้างจริง ก็ต้องดูว่าสร้างความเสียหายต่อพื้นที่ป่ามากน้อยแค่ไหน คุ้มค่าหรือไม่ จะจัดสรรที่อยู่ใหม่ให้ประชาชนได้อย่างไร ต้องมาตรวจสอบว่า หากต้องสร้างเขื่อนจะเสียพื้นที่ป่าไปแค่ไหนอย่างไร ปลูกป่าเพิ่มเติมได้หรือไม่ รวมทั้งการจัดการบริหารพื้นที่เสี่ยง ขอย้ำว่าต้องสร้างพื้นที่เก็บน้ำขนาดใหญ่ไว้รองรับน้ำจากเหนือไหลไปสู่ภาคกลางและสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งหมด ส่วนบริเวณพื้นที่ตอนล่างก็หาเส้นทางระบายน้ำเพิ่มเติม ประชาชนต้องให้ความร่วมมือ รัฐบาลพร้อมช่วยเหลือในทุก ๆ ด้าน ที่ผ่านมาเกิดจากการไม่ได้วางแผนอย่างเป็นระบบ วันนี้ต้องคิดว่าจะใช้ประโยชน์จากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อลดความเสียหายในช่วงที่น้ำท่วมหรือช่วงภัยแล้งด้วย
นอกจากนี้ ในประเด็นเรื่องการเตรียมการลงพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ในวันที่ 13 ธันวาคม 2560 นั้น นายกรัฐมนตรีจะลงไปดูปัญหาที่ชาวกาฬสินธุ์ร้องเรียน เรื่องน้ำท่วมเส้นทางคมนาคม เพื่อเร่งสำรวจว่าเกิดน้ำท่วมตอนไหน ในช่วงฤดูฝนตกชุกหรือไม่ มีการระบายน้ำจากเขื่อนลำปาวเข้ามาสมทบหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลจะได้เข้าตรวจสอบและเร่งแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยจะพยายามแก้ไขปัญหาให้ได้มากที่สุด
สำหรับเรื่องการแก้ไขปัญหาราคายางพารานั้น ได้แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ส่วนที่ 1 ยางพาราที่อยู่ในคลังต้องเก็บไว้ก่อนนำไปแปรรูป ส่วนที่ 2 ซื้อยางจากเกษตรกรเพิ่มเติม นำไปผลิตและใช้ภายในประเทศ โดยนำไปใช้กับส่วนราชการ ซึ่งต้องนำมาแปรรูปก่อนนำไปใช้งาน โดยมีบริษัทที่รับยางในส่วนนี้ไปแปรรูป เช่นยางรองพื้น พื้นยางคอกสัตว์ พื้นยางใช้ในสนามกีฬา สู่กระบวนการประมูล จัดซื้อ จัดจ้าง ส่วนที่ 3 เห็นควรลดพื้นที่การปลูกยางในส่วนของภาครัฐ เช่น องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ โดยหยุดการกรีดยาง อีกทั้งอยู่ในระหว่างหามาตรการเยียวยาด้านแรงงาน และตัดยางในพื้นที่บุกรุกทั้งหมดที่เป็นของนายทุน ขณะเดียวกันในส่วนของภาคเอกชนและเกษตรกรที่มีพื้นที่การปลูกยางพาราจำนวนน้อยนั้น อยู่ในระหว่างการหามาตรการดูแลเยียวยาโดยเร็ว
.......................................................................
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th