วันนี้ (14 ธันวาคม 2560) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตามการปฏิบัติงานตามนโยบายของรัฐบาล (คตน.) ครั้งที่ 14/2560 ซึ่งมีเนื้อหาสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้
ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี “ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการประชาสัมพันธ์ บันทึกความก้าวหน้าผลสัมฤทธิ์ และประชาชนจะได้อะไร” โดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ทางด้านการเงิน พร้อมดำเนินการพลิกฟื้นและฟื้นฟูกิจการ SME ที่ประสบปัญหาทางธุรกิจ หรือประสบภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ตลอดจนอนุมัติสินเชื่อให้ SMEแล้ว 2,333 ราย วงเงินอนุมัติรวมทั้งสิ้น 906.94 ล้านบาท (20 ก.ย.59-12 ธ.ค.60)
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ จากกรมบังคับคดีและกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพื่อเป็นการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการภาครัฐ การร้องเรียนความไม่เป็นธรรม ผ่านศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พร้อมให้คำปรึกษาทางกฎหมาย 674 เรื่อง/ราย ในส่วนกระทรวงการคลัง ได้ดำเนินการให้คำปรึกษา ไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ ช่วยเหลือด้านสินเชื่อ และดูแลฟื้นฟูศักยภาพการหารายได้ โดยอนุมัติสินเชื่อโครงการนำร่องเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบสำหรับผู้มีรายได้น้อย และ โครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน รวม 180,898 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 8,131.01 ล้านบาท
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบ เรื่องการควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์การเกษตร ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี โดยให้ “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาวิธีการควบคุมผลิตภัณฑ์การเกษตรที่ไม่ได้มาตรฐานหรือมีสารตกค้างไม่ปลอดภัย เพื่อนำออกจากตลาด และป้องกันไม่ให้ถึงผู้บริโภค พัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์การเกษตรเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค” โดยรับรองมาตรฐาน GAP เกษตรกรด้านพืช ด้านปศุสัตว์ ด้านประมง รวมจำนวน 178,989 ราย และยกระดับมาตรฐานคุณภาพการผลิตในแปลงใหญ่ กว่า 2,535 แปลง ปี 2561 ซึ่งมีแผนเก็บตัวอย่างจากสินค้าที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP ไม่น้อยกว่า 4,000 ตัวอย่าง เพื่อการเฝ้าระวังตรวจสอบสารพิษตกค้าง โดยดำเนินการกับผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าที่เป็นเจ้าของสินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน และแสดงเครื่องหมาย Q กำหนดปริมาณสารพิษตกค้างในอาหาร โดยสรุปเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ 1). ต้องตรวจไม่พบปริมาณสารพิษตกค้างจากวัตถุอันตรายทางการเกษตร ตามบัญชีหมายเลข 1 2). ตรวจพบสารพิษตกค้างได้ไม่เกินค่า MRL ตามบัญชีหมายเลข 2 และไม่เกินค่า MRL ที่กำหนดไว้ใน Codex 3) .กรณีที่มิได้กำหนดค่าไว้ตรวจพบได้ไม่เกินค่าดีฟอลต์ลิมิต (default limit) a ตามบัญชีหมายเลข 3 และ 4). ปริมาณสารพิษสูงสุดที่ปนเปื้อนจากสาเหตุที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ตรวจพบได้ไม่เกินที่กำหนดไว้ในบัญชีหมายเลข 4
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในกลุ่มเชิงพื้นที่ (Cluster) เมืองรอง และเมืองชายแดน กำหนด 8 เขตพัฒนาการท่องเที่ยว 1. เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา 2. เขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออก 3. เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ 4. เขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก 5. เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน 6. เขตพัฒนาการท่องเที่ยวมรดกโลกด้านวัฒนธรรม 7. เขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง และ 8. เขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลาง
รวมทั้งที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบ การประเมินความเหมาะสมพื้นที่ เพื่อกำหนดเป็นเขตพัฒนาการท่องเที่ยวเพิ่มเติม 6 กลุ่มพื้นที่ ดังนี้ 1. เขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตชุมชนและอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ จังหวัดแพร่ น่าน พะเยา อุตรดิตถ์ 2. เขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตสามสมุทร จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร 3. เขตพัฒนาการท่องเที่ยวผจญภัยผืนป่ามรดกโลกตะวันออก จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว สระบุรี ฉะเชิงเทรา 4. เขตพัฒนาการท่องเที่ยวยุคก่อนประวัติศาสตร์ จังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ อุดรธานี หนองบัวลำภู 5. เขตพัฒนาการท่องเที่ยวลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จังหวัดสงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช และ 6. เขตพัฒนาการท่องเที่ยวพหุวัฒนธรรมชายแดนใต้ อำเภอเบตง (ยะลา) อำเภอสุไหงโกลก (นราธิวาส) อำเภอสะเดา (สงขลา)
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง 12 เมือง ต้องห้ามพลาด ได้แก่ จังหวัด ลำปาง ลำพูน น่าน แพร่ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก เลย ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ราชบุรี สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม นครปฐม จันทบุรี สระแก้ว ตราด ระยอง ชุมพร ระนอง ตรัง สตูล นครศรีธรรมราช และ พัทลุง
ตอนท้ายของการประชุม ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบการพัฒนาระบบงานยุติธรรมชุมชน ตามข้อเสนอในแผนการปฏิรูป ปี 2560 – 2561 ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมกันทางสังคม ตลอดจนการเสริมสร้างโอกาสทางด้านอาชีพให้แก่นักโทษ ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี “ให้ กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงแรงงาน และ กระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาแนวทางในการดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมให้นักโทษที่มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพด้านต่าง ๆ สามารถประกอบวิชาชีพนั้น ให้เกิดประโยชน์ได้ในระหว่างที่ถูกคุมขังอยู่ รวมทั้งให้พิจารณาความเหมาะสมและเป็นไปได้ในการนำนักโทษดังกล่าวมาปฏิบัติงานนอกสถานที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อให้มีการนำความสามารถนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญของประเทศ” ซึ่งในปีงบประมาณ 2560 กระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการฝึกวิชาชีพให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ต้องขังและตลาดแรงงาน เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพภายหลังพ้นโทษ โดยมีการดำเนินการต่อผู้ต้องขัง จำนวน 234,833 คน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ที่กำลังจะพ้นโทษ ซึ่งจะเป็นการให้ความสำคัญในการสร้างอาชีพและส่งเสริมการมีงานทำหลังพ้นโทษให้กับผู้ต้องขัง และเป็นการผลิตกำลังแรงงานฝีมือเชิงคุณภาพในสาขาที่ตลาดแรงงานขาดแคลน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
..........................................................................
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th