นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ครั้งที่ 2/60 เห็นชอบแนวทางแก้ไขปัญหาราคายาง เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัปดาห์หน้า
วันนี้ (15 ธ.ค.60) เวลา 13.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ครั้งที่ 2/2560 ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง
นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดการประชุมตอนหนึ่งว่า วันนี้เป็นการประชุมเรื่องสำคัญ เนื่องจากจะต้องมีการปรับเปลี่ยนมาตรการดำเนินการเกี่ยวกับยางธรรมชาติในหลายมาตรการด้วยกัน เพื่อให้เกิดผลดีกับการประกอบกิจการในประเทศไทย เพราะยางพาราเป็นสินค้าสำคัญของประเทศ เนื่องจากมีผู้ที่เกี่ยวข้องในวงจรและห่วงโซ่นี้เป็นจำนวนมาก ทั้งผู้ประกอบการและเกษตรกร ซึ่งวันนี้ทุกคนต้องพยายามทำให้ปัญหาทางการเกษตรหลุดพ้นจากปัญหาของการเมืองทั้งหมดให้ได้ โดยต้องหามาตรการที่ทั้งฝ่ายของรัฐ ฝ่ายของผู้ประกอบการหรือฝ่ายของเกษตรกรยอมรับ ซึ่งรัฐบาลในขณะนี้ ต้องการจะแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดความยั่งยืนครบวงจร
ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุม กนย. จะนำผลการหารือแนวทางแก้ปัญหาราคายางพาราให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติในสัปดาห์หน้า โดยมี 8 มาตรการที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและเกษตรกรชาวสวนยาง อาทิ การชดเชยดอกเบี้ยและเงินทุนต่าง ๆ ซึ่งเชื่อว่าจะค่อย ๆ ดีขึ้นทั้งระบบ โดยราคายางจะต้องสอดรับกับราคาตลาดและสถานการณ์ยางโลกด้วย
ด้านนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงผลการประชุมว่า ที่ประชุม กนย. เห็นชอบมาตรการดูแลเกษตรกรชาวสวนยาง ที่ได้ผ่านที่ประชุมคณะกรรมการยางแห่งประเทศไทย และนำเข้าพิจารณาในที่ประชุม กนย. ในวันนี้ ประกอบด้วย 3 มาตรการเฉพาะหน้า ได้แก่ มาตรการที่ 1 การรณรงค์ให้ส่วนราชการใช้ยางที่ผลิตในประเทศ ที่แต่เดิมมีการใช้ยางในหลักหมื่นตัน แต่ขณะนี้มีการใช้ยางมากขึ้นเป็น 1.8 แสนตันซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมาย ที่จะสามารถดูดซับปริมาณยางในตลาดออกได้ โดยจำนวนการใช้ยางของส่วนราชการจะต้องใช้ให้เสร็จภายใน 1 ปี ซึ่งมีงบประมาณที่รองรับเรียบร้อยแล้ว มาตรการที่ 2 การเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการยางส่งออก โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยตามความเป็นจริงให้ไม่เกินร้อยละ 3 มาตรการที่ 3 การช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง แบ่งเป็น เกษตรกรที่ลดเลิกการปลูกยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะมีเงินชดเชยให้เกษตรกรเจ้าของสวนยางในอัตรารายละ 4,000 บาท ส่วนยางที่ปลูกอยู่ในพื้นที่ของส่วนราชการ เช่น องค์การป่าไม้ กยท. หรือกรมวิชาการเกษตร จะหยุดกรีดยางเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม 61- มีนาคม 61 โดยทั้ง 3 มาตรการนี้เป็นมาตรการเฉพาะหน้าที่จะช่วยทำให้ปริมาณยางลดลง เป็นผลให้ราคายางสูงขึ้น ส่วนมาตรการอื่น ๆ ประกอบด้วย การลดพื้นที่ปลูกยาง การปรับเปลี่ยนอาชีพ เป็นมาตรการระยะกลางและระยะยาวที่จะมีการดำเนินการต่อไป
พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการนำยางมาใช้ทำถนนว่า มีหน่วยต่าง ๆ ที่ดำเนินการ ได้แก่ หน่วยทหาร คือกรมการทหารช่าง กับหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กระทรวงคมนาคม คือกรมทางหลวงชนบท กับกรมทางหลวง กระทรวงมหาดไทย คือกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือถนนของกรมชลประทานในเขตชลประทานทั้งหมด ทั้งนี้ ในเรื่องการทำถนน จะมีงบประมาณในการทำถนน แต่ไม่ใช่ว่าจะมาทุ่มงบประมาณให้กับยางทั้งหมด ถนนเส้นหนึ่งจะมีหิน ปูน ทราย ซึ่งจะมีส่วนหนึ่งประมาณ 3-20 เปอร์เซ็นต์ที่จะนำมาซื้อยาง โดยปกติถนน 5-20 เปอร์เซ็นต์จะเป็นยางสังเคราะห์ แต่ในครั้งนี้กระทรวงคมนาคมกับนักวิชาการมหาวิทยาลัยได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถเปลี่ยนจากยางสังเคราะห์เป็นยางธรรมชาติได้
สำหรับยางที่รับซื้อได้มีการระบุไว้ชัดเจนว่าให้เป็นน้ำยางสดที่รับซื้อจากเกษตรกรโดยตรง มีการเขียนในข้อกำหนดการประกาศประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างว่า ผู้ที่ประมูลรับจ้างก่อสร้างทางต้องซื้อยางที่ผสมจากน้ำยางสด ที่จัดจำหน่ายโดยการยางแห่งประเทศไทย เพื่อป้องกันการนำยางเก่ามาขาย ซึ่งมาตรการนี้จะทำให้ปริมาณยางในปัจจุบันลดลงได้เป็นรูปธรรม
“รัฐบาลมีความจริงใจและจริงจังในการใช้ 3 มาตรการดังกล่าว ซึ่งน่าจะทำให้ราคายางดีขึ้น แต่ขอย้ำว่าเป็นมาตรการเบื้องต้นเท่านั้น มาตรการระยะยาวคือการลดพื้นที่ปลูกยางและการปรับเปลี่ยนอาชีพเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้พี่น้องเกษตรกรมีความยั่งยืนในเรื่องรายได้ ขณะที่เป้าหมายราคายางในขณะนี้คือ จะพยายามทำให้เกษตรกรขายยางได้ในราคาต้นทุนเป็นอย่างต่ำ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าว
-------------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th