ทั้งนี้ เรื่องแรก ในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) นั้น จากผลการตรวจติดตามความก้าวหน้าในเรื่องดังกล่าว โดยสหภาพยุโรปที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 7 - 15 กันยายน 2560 ได้มีการตรวจสอบในหลายประเด็น เช่น เรื่องของการป้องกันและการนำเข้าสัตว์น้ำสู่ประเทศไทย เรื่องการนำเข้า-ส่งออก เรื่องการออกใบรับรองของการจับสัตว์น้ำและการแปรรูปสัตว์น้ำ เรื่องการตรวจสอบเรือประมงในประเด็นที่ต้องหาความชัดเจนในกลุ่มเรือที่ถูกทำลาย ถูกจม หรือถูกขายให้ต่างประเทศ โดยเรื่องเหล่านี้ต้องทำการสำรวจข้อมูลและหาหลักฐานเพิ่มเติม รวมไปถึงเรื่องมาตรการควบคุมเรือนอกน่านน้ำและเรือขนถ่ายซึ่งรัฐบาลทำได้ดี ส่วนเรื่องการตรวจสอบศูนย์เฝ้าระวังและการป้องกันประเมินความเสี่ยง ทางสหภาพยุโรปได้แนะนำและให้ใช้ข้อมูลที่มีอยู่มาวิเคราะห์ และจัดทำคู่มือประเมินความเสี่ยงในการบริหารจัดการงานให้มากขึ้น ส่วนเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายได้มีการปรับปรุงเร่งรัดการดำเนินคดี โดยเฉพาะคดีเรื่องประมงนอกน่านน้ำ ซึ่งได้ดำเนินการให้สิ้นสุดโดยเร็ว ส่งผลสำคัญต่อการได้ใบการประเมินการพ้นใบเหลือง รวมทั้งเรื่องของการจัดส่งใบประเมินและความก้าวหน้าในครั้งต่อไป โดยรัฐบาลได้ส่งผลรายงานให้กับทางสหภาพยุโรปไปแล้วเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ที่ผ่านมา ขณะนี้คณะผู้แทนไทยได้เดินทางไปที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม (18 - 19 ธันวาคม 2560) เพื่อเจรจาทำความเข้าใจในรายละเอียดของเรื่องนี้ให้ชัดเจนและครบถ้วน
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการที่รัฐบาลจะรับซื้อเรือประมงคืนที่สมาคมประมงเสนอมา โดยมีเรือประมงที่จะไม่ทำการประมงอีกจำนวนประมาณ 1,900 ลำ โดยการซื้อคืนจะดำเนินการควบคู่ไปกับขั้นตอนการควบรวมใบอนุญาต โดยประธานที่ประชุมได้ขอให้เร่งรัดดำเนินการโดยเร็วที่สุดเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับชาวประมง ทั้งนี้ผลการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลทำให้เรือที่ออกทำการประมงมีอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม โดยคาดว่าภายในวันที่ 27 ธันวาคม 2560
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการเรื่องของการจัดตั้งกองทุนพัฒนาเรือประมงเพื่อช่วยเหลือชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากปฏิรูปด้านการประมง ทั้งนี้ กรมประมงได้เสนอว่าจะนำเงินค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนเรือประมงทุก 2 ปี ซึ่งมีวงเงินประมาณ 130 ล้านบาท มาใช้เป็นกองทุนพัฒนาเรือประมง ตลอดจนเห็นชอบเรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งจะช่วยเหลือผู้ประกอบการเรือประมงที่ได้รับผลกระทบโดยทางธนาคารออมสินได้เสนอโครงการนี้ ในวงเงินสินเชื่อ 650 ล้านบาท คาดว่าคงจะช่วยเหลือได้อย่างเป็นระบบกับชาวประมงที่ได้รับผลกระทบ โดยประธานที่ประชุมได้ย้ำให้ทุกส่วนราชการต้องทุ่มเทและใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการชับเคลื่อนแก้ปัญหาฯ เพื่อปลดล็อคใบเหลืองให้ได้ โดยแนะนำให้ใช้หลักนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ เพื่อแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืนต่อไป
โฆษกกระทรวงกลาโหมแถลงเพิ่มเติมอีกว่า การแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันนั้น รัฐบาลได้เร่งรัดดำเนินการการผลักดันการส่งออกปาล์มน้ำมัน โดยมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ไปพิจารณาดำเนินการในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ อีกทั้ง แนวทางที่ได้หารือร่วมกันกับเกษตรกรรายย่อยจาก 8 จังหวัด เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งได้ยื่นข้อเสนอให้มีการแก้ปัญหานี้อย่างเป็นระบบในเรื่องของมาตรการเพิ่มใช้น้ำมันปาล์มในสต๊อก รวมทั้งมาตรการแก้ปัญหาเชิงระบบเพื่อสนับสนุนให้มีการพัฒนาคุณภาพปาล์มอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันกระทรวงพลังงานได้ประสานผู้ค้าน้ำมันปาล์มดิบเพื่อนำไปผลิตเป็นไบโอดีเซล พร้อมย้ำให้โรงงานไฟฟ้ากระบี่รับซื้อน้ำมันปาล์มส่วนนี้ไปด้วย ตลอดจนให้กระทรวงพาณิชย์อำนวยความสะดวกในเรื่องของการส่งออกให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ส่วนกระทรวงคมนาคมดำเนินการนำไบโอดีเซลไปใช้ทางด้านรถไฟและรถสาธารณะอื่น ๆ ด้วย อีกทั้งให้กรมศุลกากรกวดขันตรวจสอบปราบปรามการลักลอบนำเข้าปาล์มน้ำมันผ่านชายแดนอย่างจริงจัง
นอกจากนี้ ในเรื่องผลสืบเนื่องจากเรื่อง ICAO (องค์การบินพลเรือนระหว่างประเทศ) นั้นทางคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือนได้ชี้แจงความคืบหน้าการดูแลปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการปลดธงแดงในมาตรฐานการบินแล้วก็ตาม โดยเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2560 ทาง ICAO ได้มีหนังสือแจ้งผลรายงานการตรวจสอบรักษาความปลอดภัย ซึ่งถือเป็นการแจ้งอย่างเป็นทางการ โดยมีการระบุถึงระดับคะแนนที่เกี่ยวกับประสิทธิผลของการนำมาตรฐาน ICAO มาปฏิบัติในประเทศไทย โดยทาง ICAO ได้เข้ามาตรวจสอบเมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยคะแนนเดิมก่อนการตรวจสอบอยู่ที่ 34.20 เปอร์เซ็นต์ แต่หลังการตรวจสอบฯ พบว่าคะแนนเพิ่มเป็น 41.11 เปอร์เซ็นต์ ส่วนความต่อเนื่องในเรื่องของการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่หรือ AOC นั้น ขณะนี้ทำเสร็จสิ้นแล้ว 13 สายการบิน และอยู่ในระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนที่ 3 - 4 รวมทั้งดำเนินการกับเรื่องเอกสารอีก 9 สายการบิน ถือว่าเป็นความต่อเนื่องของ ICAO ที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จในเรื่องดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้พิจารณาในประเด็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลความคืบหน้าในการปฏิรูประบบผลกระทบสิ่งแวดล้อมของประเทศ ซึ่งไม่ว่าจะเป็น EIA (Environmental Impact Assessment) หรือ EHIA (Environmental Health Impact Assessment) ส่งผลให้ประเทศไทยมีการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม พร้อมสอดรับกับรูปแบบและทิศทางการพัฒนาโครงการต่าง ๆ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ นอกจากนี้ มีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม อาทิ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือการปรับปรุงกฎกระทรวงของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้สอดรับกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยเร็วต่อไป
*****************************************************
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th