วันนี้ (พฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม 2560) เวลา 13.20 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานในพิธีเริ่มการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) โดยมีนายนายหวัง เสี่ยวเทา รองประธานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ ผู้แทนสาธารณรัฐประชาชนจีน พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี ณ มอหลักหินรัชกาลที่ 5 ต. กลางดง อ. ปากช่อง จ. นครราชสีมา
นายกรัฐมนตรีได้ กล่าวแสดงความยินดีที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเริ่มการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) รัฐบาลมีนโยบายมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยให้มีความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมภายในอนุภูมิภาคและภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงทางระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้เกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยโครงการก่อสร้างการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงจะเป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงประเทศไทยกับประเทศต่างๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) สาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งสนับสนุนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของอาเซียน
โครงการ ฯ นี้จะเชื่อมโยงกับโครงข่ายคมนาคมของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนตามนโยบาย One Belt, One Road ที่มีรากฐานมาจากเส้นทาง สายไหมในอดีต ซึ่งมีความสำคัญในด้านภูมิศาสตร์โลก การติดต่อทางการค้า ทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งสร้างศักยภาพและโอกาสใหม่ทางการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยว ก่อให้เกิดการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจโดยรอบเส้นทาง อันจะนำไปสู่การยกระดับประเทศไทยให้เป็นประเทศรายได้สูง เกิดการกระจายความเจริญอย่างทั่วถึง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และลดความเหลื่อมล้ำในภาพรวม นับเป็นการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน และที่สำคัญโครงการดังกล่าวสามารถช่วยประหยัดเวลาในการเดินทาง ประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้รถ ลดปัญหามลพิษ และลดความสูญเสียเนื่องจากอุบัติเหตุ
หลังจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม จัดทำแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ การปฏิรูปกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศที่เน้นการเจริญเติบโตจากเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผังเมือง กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณสองข้างทางตามแนวเส้นทางการพัฒนาระบบราง และจัดตั้งสถาบันวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง ในการทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการงานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อดำเนินงานพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาบุคลากรทั้งระดับวิศวกรและช่างเทคนิคสำหรับรองรับการพัฒนาระบบขนส่งทางรางต่อไป
อนึ่ง เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาล ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ ในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2569 เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐานเส้นทางกรุงเทพฯ – นครราชสีมา – หนองคาย และเส้นทางแก่งคอย – ท่าเรือมาบตาพุด ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มีการหารือทวิภาคีร่วมกัน ตามรูปแบบความร่วมมือทางรถไฟระหว่างรัฐกับรัฐ (G2G) โดยเริ่มก่อสร้างเส้นทางกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทางรวม 252 กิโลเมตร จำนวน 6 สถานี ประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที ใช้ประเภทรถโดยสาร EMU (Electric Multiple Unit) CR series ความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม.
ที่มา: http://www.thaigov.go.th