วันนี้ (25 ธ.ค .60) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพบปะหารือร่วมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน ผู้บริหารท้องถิ่นและผู้แทนเกษตรกรในภาคเหนือ เรื่องทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคเหนือ โดยมี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และผู้บริหารส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ซึ่งผลการหารือสรุปข้อสั่งการในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1.1 การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางอากาศ โดยขอให้พิจารณา (1) เร่งรัดโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่แห่งที่ 2 ตามผลการศึกษาที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศึกษาไว้ (2) ปรับปรุงพัฒนาท่าอากาศยาน ประกอบด้วย การขยายทางวิ่งท่าอากาศยานลำปาง แพร่ น่าน และการพัฒนาประสิทธิภาพระบบการให้บริการประชาชนของท่าอากาศยานพิษณุโลก
ข้อสั่งการ : ให้กระทรวงคมนาคม รับข้อเสนอไปเร่งพิจารณาในรายละเอียดและจัดลำดับความสำคัญตามความจำเป็นเร่งด่วนต่อไป
1.2 การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางบก โดยขอให้พิจารณาเร่งรัดดำเนินการ (1) โครงการมอเตอร์เวย์เชียงใหม่- เชียงราย (2) สร้างศูนย์การขนส่งสินค้าไปสู่การขนส่งหลายรูปแบบ (Multi Modals Transportation Logistics Center) ตำบลบึงพระ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก และเชื่อมต่อไปยังสถานีรถไฟศิลาอาสน์ จังหวัดอุตรดิตถ์ (3) พัฒนาระบบรถไฟฟ้ารางเบาหรือ Light Rail Transit System (LRT) โดยรัฐบาลลงทุนเอง หรือร่วมทุนกับเอกชน (Public Private Partnership : PPP) (4) ก่อสร้างทางหลวง แนวใหม่ (เชียงใหม่–เลี่ยงเมืองลำพูน) จากทางหลวงหมายเลข 1141 บรรจบกับทางหลวงหมายเลข 106 (5) พัฒนาโครงการข่ายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101 จังหวัดกำแพงเพชร-สุโขทัย-อุตรดิตถ์-แพร่-น่าน-พะเยา-เชียงราย เพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลก และเส้นทาง R3A R3B และ (6) เพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง โดยการขยายช่องทางจราจร ดังนี้ 1) ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 เป็น 4 ช่องทางจราจร (กม.28-507-153+903) และสำรวจออกแบบช่วง อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง–อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เชื่อมต่อไปยัง อำเภอแม่สะเรียง–อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน 2) ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1091 อำเภอจุน–อำเภอปง–อำเภอเชียงม่วน–จังหวัดน่าน 3) ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 115 กำแพงเพชร-พิจิตร- พิษณุโลก และ 4) ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21 หล่มสัก–เพชรบูรณ์–ท่าลี่–เลย
ข้อสั่งการ : ให้กระทรวงคมนาคม รับข้อเสนอไปเร่งพิจารณาในรายละเอียดและจัดลำดับความสำคัญตามความจำเป็นเร่งด่วนตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้การพิจารณาให้คำนึงถึงความเหมาะสมด้านการลงทุนในรูปแบบร่วมทุนกับเอกชน (Public Private Partnership : PPP) ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และประโยชน์ที่ประชาชนในพื้นที่จะได้รับต่อไปในอนาคต
1.3 การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางบก โดยขอให้พิจารณาเร่งรัดศึกษาออกแบบเส้นทาง (1) การก่อสร้างสะพานเชื่อมโยงเศรษฐกิจภูมิภาค ทางหลวงหมายเลข 1026 ตอนผาเวียง-ปากนาย (กม.75+957) เพื่อบรรจบทางหลวงหมายเลข 1339 ตอนน้ำปาด-ปากนาย (กม.101+218) และ (2) เส้นทางสายแม่สอด–ตาก เชื่อมทางหลวงหมายเลข 12 เพื่อเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก
ข้อสั่งการ : ให้กระทรวงคมนาคม รับข้อเสนอไปเร่งพิจารณาในรายละเอียดและจัดลำดับความสำคัญตามความจำเป็นเร่งด่วนต่อไป
1.4 การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางราง โดยขอให้พิจารณาเร่งรัดสำรวจออกแบบเส้นทางรถไฟจากลำนารายณ์ จังหวัดลพบุรี-เพชรบูรณ์ เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายโครงการรถไฟทางคู่ภาคเหนือและโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่รัฐบาลอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอน
ข้อสั่งการ : ให้กระทรวงคมนาคม รับไปพิจารณาเร่งรัดศึกษาความเหมาะสมของการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางรางที่เสนอ โดยให้สำนักงบประมาณรับไปพิจารณางบประมาณสำหรับดำเนินการตามขั้นตอนโดยด่วน ทั้งนี้ ในการจัดลำดับความสำคัญการขนส่งทางบกและทางราง ควรให้ความสำคัญกับเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดภายในกลุ่มจังหวัดและระหว่างกลุ่มจังหวัด เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ
ขอให้พิจารณาสนับสนุนการดำเนินการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ในลุ่มน้ำหลักของภาคเหนือที่สำคัญ ประกอบด้วย (1) ตอนบนของลุ่มน้ำ ก่อสร้างแหล่งเก็บกักน้ำ ทบทวนกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับการพัฒนา และความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ศึกษาการผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำ เช่น โครงการ กก-อิง-น่าน เป็นต้น (2) ตอนล่างของลุ่มน้ำ ก่อสร้างฝาย/ประตูระบายน้ำ ปรับปรุงระบบส่งน้ำ ปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และ (3) ลุ่มน้ำยม ขอให้พิจารณา 1) เร่งดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อก่อสร้างแหล่งเก็บกักน้ำตามลำน้ำสาขาในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำยม 2) เร่งดำเนินการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ผันน้ำเลี่ยงเขตเศรษฐกิจที่มีมูลค่าความเสียหายสูงในเขตจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร และ 3) เร่งก่อสร้างประตูระบายน้ำในพื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำยม
ข้อสั่งการ : เห็นชอบในหลักการและมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับไปพิจารณาจัดลำดับความจำเป็นเร่งด่วนการดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำหลักของภาคเหนือตามที่เสนอ โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์/ฟื้นฟู/เพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำ การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก/ภัยแล้งที่เกิดจากการไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำตามลำน้ำสาขาในลุ่มน้ำหลัก โดยเฉพาะลุ่มน้ำยม โดยให้เร่งดำเนินการสร้างการรับรู้และความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ถึงประโยชน์ที่จะได้รับในทุกขั้นตอนเพื่อสร้างการยอมรับและสนับสนุนการดำเนินการ และหากเป็นโครงการขนาดใหญ่ให้เสนอสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พิจารณาตามขั้นตอนโดยด่วนต่อไป
ขอรับการสนับสนุน “โครงการเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกภาคเหนือ” โดยใช้ผักและผลไม้นำร่อง ได้แก่ กล้วยหอม สับปะรด กระเจี๊ยบเขียว ขิง มะม่วง ข้าว ไผ่ และพืชสมุนไพร ในลักษณะครอบคลุมการผลิตต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เพื่อเป็นอาหารอนาคต (Functional food/Healthy food)
ข้อสั่งการ : ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ ภาคเอกชน สถาบันเกษตรกรแห่งชาติ สถาบันการศึกษาในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับไปพิจารณาในรายละเอียดในการสนับสนุนโครงการฯ โดยให้คำนึงถึงความสอดคล้องกับพื้นที่ Zoning by Agri-Map คุณภาพวัตถุดิบและแปรรูปสินค้าที่ได้มาตรฐานตรงความต้องการของตลาด ความคุ้มค่าในการดำเนินการ และต้องไม่เป็นภาระรัฐในอนาคต รวมทั้งให้กลุ่มเกษตรกร องค์กรพัฒนาเอกชนและสถาบันพัฒนาองค์การชุมชนมีส่วนร่วมดำเนินการตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
4.1 การส่งเสริมและอำนวยความสะดวกทางการค้า การค้าชายแดน การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับเมียนมา โดยขอให้พิจารณาสนับสนุน (1) การอำนวยความสะดวกการผ่านแดน โดยการทำ Visa on Arrival (VOA) ณ ด่านชายแดนไทยและเมียนมา (2) การทำความตกลงทวิภาคีการเปิดเดินรถส่วนบุคคลเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างไทย-เมียนมา (3) การอนุญาตให้รถขนส่งของเมียนมาเข้ามาขนส่งสินค้าในฝั่งไทยด้านด่านแม่สอด จังหวัดตาก (4) ศึกษาเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันตก (West Economic Corridor : WEC) ในพื้นที่ จังหวัดตาก พิษณุโลก และสุโขทัย และ (5) เร่งรัดดำเนินการเพิกถอนเส้นทางในการก่อสร้างถนนเพื่อการคมนาคมและการค้าระหว่างประเทศไปยังจุดผ่อนปรนบ้านห้วยต้นนุ่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่อยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเวียงหล้า และป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่เงา-แม่สำเพ็ง ระยะทาง 9.7 กม. คิดเป็นพื้นที่ 365 ไร่ เพื่อยกระดับเป็นจุดผ่านแดนถาวรในอนาคต
ข้อสั่งการ :
4.1.1 ให้กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับไปพิจารณาสนับสนุนการอำนวยความสะดวกทางการค้า การค้าชายแดน การลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับเมียนมา โดยการทำ Visa on Arrival (VOA) ณ ด่านชายแดนไทยกับเมียนมา การทำความตกลงทวิภาคีการเปิดเดินรถส่วนบุคคล และการอนุญาตให้รถขนส่งของเมียนมาเข้ามาขนส่งสินค้าในฝั่งไทยด้านด่านแม่สอด จังหวัดตาก ตามขั้นตอนต่อไป
4.1.2 ให้ สศช. รับข้อเสนอการขอสนับสนุนให้ศึกษาเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาฯ ไปประกอบการพิจารณาการขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันตก (West Economic Corridor : WEC) ตามขั้นตอน
4.1.3 ให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักรับไปประสาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับไปพิจารณาเร่งรัดดำเนินการเพิกถอนฯ และเสนอคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนโดยด่วน และรายงานผลการดำเนินงานให้คณะรัฐมนตรีรับทราบอย่างต่อเนื่อง
4.2 ขอให้พิจารณาสนับสนุน (1) การจัดงานแสดงสินค้าศักยภาพการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปมูลค่าเพิ่มสูงภาคเหนือ (Northern Thailand Food Valley & Fruit Expo) และ (2) การจัดงานแสดงสินค้าและจับคู่ธุรกิจภาคเหนือในระดับนานาชาติ (Northern Thailand GMS Trade Fair and Business Forum)
ข้อสั่งการ : ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับไปหารือกับ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย ภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินโครงการฯ และขอรับการจัดสรรงบประมาณในปี 2561 ตามขั้นตอนต่อไป
5. ด้านการแพทย์ การบริการผู้สูงอายุ และสังคม ขอให้พิจารณาสนับสนุน (1) โครงการดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจรภาคเหนือ โดยใช้ศักยภาพของสถาบันการศึกษาในพื้นที่ในการขับเคลื่อน และ (2) ผลักดันนโยบายเมืองสมุนไพร (Herb City) และการแพทย์แผนไทยเพื่อความเป็นเลิศตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข
ข้อสั่งการ :
5.1 ให้กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน สถาบันการศึกษาในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับไปพิจารณาจัดทำแผนแม่บทการดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจรภาคเหนือ โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมของพื้นที่ที่มีศักยภาพที่พร้อมดำเนินการ รวมทั้งต้องมีรูปแบบการบริหารจัดการที่ต้องไม่เป็นภาระของรัฐในอนาคตก่อนที่จะขยายผลสัมฤทธิ์ไปยังพื้นที่อื่นต่อไป
5.2 ให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยสถาบันการศึกษาในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับพิจารณาผลักดันนโยบายเมืองสมุนไพร (Herb City) และการแพทย์แผนไทยเพื่อความเป็นเลิศ และติดตามผลสัมฤทธิ์ของโครงการเพื่อขยายไปสู่พื้นที่ที่มีศักยภาพต่อไป
6. ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว การพัฒนาการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ เมืองมรดกโลก โดยมุ่งเน้นการท่องเที่ยว เพื่อชมความสวยงามของสถานที่ และการเล่าเรื่องราวความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวของภาคเหนือให้พัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมจะนำเสนอนายกรัฐมนตรีในการลงพื้นที่จังหวัดสุโขทัยในคราวนี้ด้วย
ข้อสั่งการ : รับทราบ และให้กระทรวงคมนาคมรับไปหารือกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงวัฒนธรรม รับไปพิจารณาโครงข่ายการคมนาคมเชื่อมโยง โดยให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างจังหวัด ภูมิภาค รวมทั้งเปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้ชุมชนได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยว ทั้งในทางเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม
7.1 การส่งเสริมการปลูกไผ่สร้างป่าเศรษฐกิจ มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับไปพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอน ต่อไป
7.2 การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการท่องเที่ยว โดยขอรับการสนับสนุนการสร้างแก้มลิงทุ่งหนองค้อและทุ่งทะเลหลวง มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับไปพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
7.3 การบริหารจัดการน้ำแบบชุมชนมีส่วนร่วม : บางระกำโมเดล มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับไปพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
ที่มา: http://www.thaigov.go.th