สรุปประเด็นนายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วันศุกร์ที่ 12 มกราคม 2561

ข่าวทั่วไป Friday January 12, 2018 15:44 —สำนักโฆษก

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวกับประชาชนผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในวันศุกร์ที่ 12 มกราคม 2561 เวลา 20.15 น. ในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ พ.ศ.2561 นี้ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ได้ประทานคติธรรมลงในหนังสือวันเด็กของกระทรวงศึกษาธิการ ใจความสำคัญกล่าวถึงวิธีการครองตนเป็นคนดี เป็นที่รักของทุกคน วิธีหนึ่งเรียกว่า อัตถจริยา ได้แก่ การบำเพ็ญประโยชน์ การประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น สอดคล้องกับปัจจุบันนิยม ที่เรียกว่า จิตอาสา ตามที่เป็นพระราโชบายของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งคนไทยทุกคนได้รับรู้รับทราบกิจกรรมตามโครงการจิตอาสา “เราทำความดี ด้วยหัวใจ”มาอย่างต่อเนื่อง

และในโอกาสเดียวกันนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราโชวาท สำหรับเด็กและเยาวชน ความว่า “บ้านเมืองเรามีสิ่งดีงามมากมายที่บรรพบุรุษได้สร้างสมไว้ให้เรา เด็กทุกคนผู้เป็นอนาคตของชาติจึงมีหน้าที่สืบสานและรักษาสิ่งดีงามเหล่านั้นไว้ พร้อมทั้งสร้างเสริมพัฒนาให้เจริญงอกงามยิ่ง ๆ ขึ้นไป”

นายกรัฐมนตรีจึงขอให้ลูกหลานไทยทุกคน ได้รับคติธรรม และพระราโชวาท ดังที่ได้กล่าวมานั้นเพื่อน้อมนำไปใช้ในการดำรงชีวิต และในการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุขต่อไป ซึ่งเด็กและเยาวชนเป็นกำลังสำคัญที่จะพาบ้านเมืองไทยให้รุ่งเรืองสืบไปและขอให้ระลึกอยู่เสมอว่า “พลังแห่งความศรัทธา” จากจุดเล็ก ๆ จากคนตัวเล็ก ๆ แต่เมื่อรวมตัวกัน ด้วยพลังความสามัคคีแล้วย่อมมีอานุภาพสูง นายกรัฐมนตรีจึงขอให้ลูกหลานของเราแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ใช้พลังเหล่านั้นเพื่อสังคมและประเทศชาติ

โดยคำขวัญของนายกรัฐมนตรี เนื่องในวันเด็กปีนี้ คือ “รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี” ทั้งนี้ ผมขอให้เด็กไทยในยุค “ไทยแลนด์ 4.0” ได้รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัล และสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ใหม่ได้สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ จะไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย ถ้าเด็กของเราขาดซึ่งครูที่มากด้วยคุณภาพ และศักยภาพ เพราะครู นักเรียน มีความผูกพัน เชื่อมโยงกัน เหมือนเหตุและผล เมื่อเหตุดี ผลก็งดงาม ตามมาด้วย ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงขอมอบคำขวัญ เนื่องในโอกาสวันครู ครั้งที่ 62 ประจำปี 2561 ซึ่งตรงกับวันที่ 16 มกราคม 2561 ว่า “ศิษย์ดี ก็ด้วยครูดี มีศรัทธา” ก็คือ ต่างฝ่ายต่างมีศรัทธาให้แก่กันและกัน ที่สำคัญทั้ง 2 ฝ่ายต้องมีศรัทธาในสิ่งที่ทำ คือ ความดี และการสร้างคุณประโยชน์ให้กับส่วนรวมและประเทศชาติ

วันเด็กปีนี้ นายกรัฐมนตรีไม่เพียงแต่มีคำขวัญ และมีการจัดงานตามปกติเท่านั้น แต่รัฐบาลจะให้ของขวัญแก่เด็กและสังคมไทย เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการจัดให้มีสถานีวิทยุเด็กและครอบครัวเป็นช่องทางเฉพาะ ทั้งคลื่นจะมีรายการหลากหลายว่าด้วยเด็กและครอบครัว เพราะเด็กเป็นอนาคตของชาติ จะทำอย่างไรให้เด็กที่เกิดน้อยลงให้มีคุณภาพให้ได้ เพราะพวกเขาต้องเติบโตกลายมาเป็นกำลังหลักในยุคต่อไป

ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติให้ความสำคัญกับเด็กเล็กไว้เป็นครั้งแรก โดยในมาตรา 54 วรรคสองว่า “...รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามวรรคหนึ่งเพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย...” รัฐบาลจึงจะให้ของขวัญวันเด็ก แก่เด็กและครอบครัว ด้วยการมอบความรู้ที่ถูกต้องเหมาะสมกับพัฒนาการเด็กทุกช่วงวัย ด้วยการนำร่องทำสถานีวิทยุเด็กและครอบครัวโดยเฉพาะ 1 คลื่นเต็ม ๆ ไม่มีรายการอื่นปะปน โดยมอบนโยบายให้กรมประชาสัมพันธ์ไปเร่งศึกษา มามีข้อติดขัดประการใดให้เสนอทางแก้ไขมาด้วยเพื่อเป้าหมายในการพัฒนาเด็กทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน

ในด้านการบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินการด้านกระบวนการยุติธรรม เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง สังคมน่าอยู่ เป็นที่ยอมรับของสากลและนานาประเทศ เป็นอีกหนึ่งงานสำคัญที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาโดยตลอด รวมถึงมีผลการดำเนินงาน ตามภารกิจด้านกระบวนการยุติธรรมนี้ ซึ่งมีนโยบายหลัก 6 ประการ ดังนี้

1. การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จากสถิติ “ผู้ต้องขังคดียาเสพติด” ทั่วประเทศมากถึงร้อยละ 72 ของผู้ต้องขังทั้งหมดรัฐบาลนี้จึงต้องเร่งดำเนินการและใช้มาตรการที่เข้มงวด โดยใน 9 เดือนแรกของปี 2560 สามารถจับกุม และดำเนินคดีผู้ต้องหาในคดีเกี่ยวกับยาเสพติด ได้ถึง 2 แสนกว่าราย รัฐบาลนี้ และ คสช. ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งการป้องกันที่ต้นเหตุ และการปราบปรามเพื่อระงับเหตุ ในส่วนของการปราบปรามยาเสพติดนั้น รัฐบาลได้กระชับความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อปฏิบัติการเชิงรุก ณ แหล่งผลิต สกัดกั้นเส้นทางขนย้ายเข้าสู่ชายแดนไทย ด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ข่าวกรอง เพื่อร่วมกันปราบปราม ทำลายขบวนการค้ายา ทั้งภายนอกและภายในประเทศ ที่สำคัญอีกด้าน คือ “โครงการช่วยฟื้นฟูผู้ติดยา เพื่อคืนคนดีสู่สังคม” ให้สามารถกลับมาเป็นคนที่ดีมีคุณภาพ ประกอบสัมมาอาชีพเพื่อเลี้ยงปากท้องของตนเองและครอบครัวได้ พร้อมสร้างบรรยากาศปลอดภัยจากยาเสพติดนอกรั้วบ้านส่วนในทุกหลังคาเรือนนั้น ความอบอุ่นในครอบครัวจะเป็นเกราะป้องกันลูกหลานให้รอดพ้นสิ่งเสพติด และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

2. การสร้างความปลอดภัยและสงบสุขในสังคม พบว่าในปี 2560 ที่ผ่านมา มีการรับแจ้งคดีอาญา ลดลงจากปี 2559 ร้อยละ 10 โดยฝ่ายความมั่นคงได้เน้นการป้องกันที่ต้นเหตุ อาทิ การสร้างภูมิคุ้มกันในกลุ่มเด็กและเยาวชน รวมทั้งไม่ให้กระทำความผิดทางอาญา ไม่มั่วสุมแข่งรถ ไม่รวมกลุ่มตีกัน รวมถึงสนับสนุนสถานศึกษาทำงานร่วมกับเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการป้องกันการทำความผิดของเยาวชน การแก้ไขปัญหา และการฟื้นฟูผู้กระทำผิดร่วมกันอย่างยั่งยืน

3. การยกระดับการอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยในปี 2559 ประเทศไทยมีดัชนีหลักนิติธรรม (Rule of Law index) อยู่ในลำดับที่ 46 จาก 113 ประเทศทั่วโลกโดยแม้จะมีคะแนนสูงสุดในด้านความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัย แต่ยังจะต้องปรับปรุงในเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ด้านประสิทธิภาพของระบบและกลไกการดำเนินการ โดยเฉพาะด้านคดีอาญาที่ผลการประเมินอยู่ที่ลำดับที่ 11 จาก 15 ประเทศในภูมิภาค พร้อมสนับสนุนและผลักดันให้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ที่ได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรม ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นโจทก์หรือจำเลย โดยในปี 2560 มีผู้ได้รับการอนุมัติให้ใช้เงินทุนจากกองทุนยุติธรรม จำนวน 2,500 กว่าราย นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาองค์ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมในพื้นที่ การช่วยประชาชนในการจ่ายค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา เกือบ 12,000 ราย รวมทั้งมีการจัดตั้งคลินิกยุติธรรม ปัจจุบันมีอยู่ 86 แห่งทั่วประเทศ และให้ความช่วยเหลือประชาชนไปแล้ว ราว 44,000 รายด้วย

4. การพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ให้ทันสมัย สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม และความต้องการของประชาชน รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนตลอดจน การเพิ่มระบบการเยี่ยมผู้ต้องขังด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์

5. การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมด้านความมั่นคง โดยเฉพาะปัญหาการค้ามนุษย์ ที่ไทยถูกจัดให้อยู่ในระดับกลุ่มที่ 2 ในบัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามองของสหรัฐฯ ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเร่งด่วนมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดให้เป็นวาระแห่งชาติ และมีแผนแม่บทในการดำเนินงานอย่างชัดเจน โดยจะต้องมีการพัฒนาข้อมูลให้ดีขึ้น มีการยกระดับการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไปเกี่ยวข้องมีการสร้างกลไกการแจ้งเหตุ รวมทั้งมีการคุ้มครอง และช่วยเหลือผู้เสียหายอย่างเป็นระบบ

6. การเสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ เพื่อจัดการกับความขัดแย้ง ด้วยการจัดตั้ง ศูนย์ประสานงานข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง และมีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ในการสร้างสภาวะที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมและชุมชน เสริมสร้างให้สังคมไทยให้เป็นสังคมที่เคารพกติกา และปลูกฝังสันติวัฒนธรรมหรือวัฒนธรรมของการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ ตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับชาติ

สุดท้ายนี้ “ก้าวต่อไปของประเทศไทย” นั้น นอกจากการปรับปรุงและพัฒนางานด้านยุติธรรมของประเทศอย่างต่อเนื่อง ให้ได้ผลเป็นรูปธรรมแล้ว รัฐบาลได้น้อมนำพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงให้สติย้ำเตือนความรับผิดชอบของรัฐบาล และข้าราชการทุกคน ดังนี้ “...หลักที่ว่าทุกคนต้องทราบถึงกฎหมาย และต้องทำตามกฎหมายนั้น รู้สึกว่าบางครั้งก็ใช้ไม่ได้ เพราะว่ากฎหมายไม่ถึงประชาชน ต้องนึกบ้างว่าเป็นความผิดทางราชการ ที่ไม่สามารถจะนำกฎหมายไปให้ถึงประชาชน...”

ดังนั้น นายกรัฐมนตรีขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน ที่มีกฎหมายในความรับผิดชอบของตนในการบังคับใช้ ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องกฎหมายนั้น ๆ แบบเชิงรุกล่วงหน้า เพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้อง ไร้ข้อสงสัย อีกทั้งให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้สิทธิขั้นพื้นฐาน คำปรึกษา และการให้บริการด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม อย่างทั่วถึงโดยเท่าเทียมและเป็นธรรม รวมทั้งเรื่องยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ที่นายกรัฐมนตรีอยากให้ทุกคน ทุกฝ่ายและทุกภาคส่วนได้ให้ความสนใจประเด็นดังกล่าว

ขณะเดียวกัน ภาครัฐและผู้ที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องพร้อมประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้และความเข้าใจอย่างทั่วถึง ภาคประชาชนเองก็ต้องตระหนัก และขวนขวายเช่นกันเพราะนี่จะเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศไทย และสำคัญต่ออนาคตของบ้านเมืองโดยเฉพาะเยาวชนและนักศึกษาควรให้ความสนใจด้วยการเข้ามามีส่วนร่วม เพราะอนาคตของชาติ ก็คือชีวิตของทุกไทยทุกคนในวันข้างหน้า

…………………………………………….

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ