วันนี้ (18 ม.ค. 61) เวลา 14:00 - 15:00 น. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วยนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสื่อมวลชนในงาน Meet the Press หัวข้อ "2561 ปีแห่งดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย" โดย นางสาววรรณศิริ ศิริวรรณ เป็นพิธีกรดำเนินรายการ พร้อมถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live ให้ประชาชนได้รับทราบอีกช่องทางหนึ่ง และสื่อมวลชนสาขาต่าง ๆ เข้าร่วมซักถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
พร้อมกันนี้ ได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนที่เข้าร่วมฯ ซักถามในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และการเตรียมความพร้อมของประชาชนรองรับการขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดย กระทรวงดิจิทัลฯ ได้มีการดำเนินโครงการที่สำคัญที่จะก้าวต่อไป เพื่อนำประเทศไทยไปสู่ยุคดิจิทัล เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การพัฒนาคน ธุรกิจ และเทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนการเตรียมระบบป้องกันความปลอดภัยในการใช้อินเตอร์เน็ตและระบบไซเบอร์เมื่ออินเทอร์เน็ตครอบคลุมทุกหมู่บ้าน รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ Digital Thailand, Big Data กฎหมายดิจิทัล เพื่อรองรับธุรกรรมยุคใหม่ และไปรษณีย์ยุค 4.0 เป็นต้น
สำหรับการเตรียมความพร้อมประชาชนรองรับโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร โดยเฉพาะการขยายอินเทอร์เข้าไปสู่ทุกหมู่บ้านและชุมชน “เน็ตประชารัฐ” เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลและใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเท่าเทียม พร้อมลดความเหลื่อมล้ำ นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวเพื่อเป็นการกระจายความเจริญไปสู่ประชาชนทุกพื้นที่ด้วยระบบอินเทอร์เน็ตผ่านเคเบิลใยแก้วนำแสง เปรียบเช่นการสร้างถนนในสมัยก่อนที่มีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมหรือถนนต่าง ๆ เพื่อกระจายความเจริญไปสู่ประชาชนในพื้นที่ โดยปีนี้รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะวางระบบอินเทอร์เน็ตผ่านเคเบิลใยแก้วนำแสงเข้าถึงทุกหมู่บ้านทั่วประเทศไทย ทั้งนี้เมื่อเดือนธันวาคม 2560 ที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการโครงการ “เน็ตประชารัฐ” พร้อมจัดให้มีจุดให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย (Wi-Fi) โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายกับผู้ใช้บริการ หมู่บ้านละ 1 จุดให้บริการครอบคลุมหมู่บ้านเป้าหมายห่างไกล ที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าถึงติดตั้งแล้วเสร็จ ครบจำนวน 24,700 หมู่บ้าน เมื่อนับรวมกับหมู่บ้านที่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าถึงอยู่แล้วก็จะเหลือประมาณ 20 % ซึ่งภายในปีนี้จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จครอบคลุมทุกหมู่บ้านตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
สำหรับการใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชน และประชาชนในพื้นที่นั้น ได้ดำเนินกิจกรรมคู่ขยาย คือ การฝึกอบรมครู กศน. จำนวน 1,000 คน ให้เป็นวิทยากรแกนนำ สร้างการรับรู้ การใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐ 5 ครั้ง ทั่วประเทศ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 22 ธันวาคมปีที่แล้ว เช่นกัน ระยะต่อไป คือ การนำความรู้ไปพัฒนาขยายเครือข่ายสู่ผู้นำชุมชนในท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นผู้เชื่อมโยงขยายความรู้ไปสู่ประชาชนในหมู่บ้านเน็ตประชารัฐ ประมาณ 1,000,000 คน ภายในปีนี้ เพื่อนำไปสู่การซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการใช้ประโยชน์ อย่างคุ้มค่าในอนาคต ส่วนประโยชน์ที่จะได้รับทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ด้านการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ได้แก่ ส่งเสริมให้ประชาชนและผู้ด้อยโอกาส เข้าถึงความรู้และบริการของรัฐ เช่น การรักษาพยาบาลทางไกล การเข้าถึงข้อมูลการดูแลสุขภาพ และเพิ่มประสิทธิภาพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เสริมสร้างความรู้พัฒนาฝีมือ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ และเพิ่มรายได้ เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารทางการเกษตรได้มากขึ้น และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปช่วยสร้างมูลค่าทางการค้าเพื่อให้สินค้าเกษตร เป็น Smart Farmer และเพิ่มศักยภาพศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร
ในส่วนด้านเศรษฐกิจ โอกาสการทำธุรกิจ เช่น การซื้อขายในรูปแบบ e-Commerce การค้าขายออนไลน์ ของร้านค้าประชารัฐรักสามัคคี ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจชุมชน (OTOP) ทั่วประเทศ ให้สามารถแข่งขันได้ทั้งในตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ สามารถประกอบธุรกิจที่ไหนก็ได้ในประเทศไทย รวมทั้ง ส่งเสริมการท่องเที่ยวและการให้บริการ ให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น สามารถเข้าถึงข้อมูลการเดินทาง ที่พัก ที่ช้อปปิ้ง และร้านค้า ร้านอาหาร ที่สำคัญ คือ การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในภาพรวม นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวย้ำถึงเรื่องที่จะต้องเร่งดำเนินการเตรียมวางระบบความปลอดภัยด้านไซเบอร์ในโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศหลักภาคต่าง ๆ ที่คาดว่ามี ความเสี่ยง เช่น กลุ่มด้านพลังงาน การเงินการคลัง ไฟฟ้า ประปา สาธารณสุข ความมั่นคง และโทรคมนาคม เป็นต้น โดยกระทรวงดิจิทัลฯ จะเป็นผู้ดำเนินการวางระบบให้หน่วยงานเจ้าของข้อมูลเพื่อให้สามารถดูแลความปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศหลักของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งได้มีการเตรียมการพัฒนากำลังคนทางด้านไซเบอร์และคอมพิวเตอร์รองรับการดำเนินการดังกล่าว เบื้องต้นกำหนดเป้าหมายเร่งพัฒนากำลังคนด้านไซเบอร์ จำนวน 1,000 คน โดยขณะนี้ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากประเทศอาเซียนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์พัฒนาบุคลากรทางด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะตั้งที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยนายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในคณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นเพื่อเตรียมการดูแลเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์ ตลอดจนการพิจารณาจัดตั้งหน่วยงานที่จะประสานงานกับหน่วยงานเกี่ยวข้องกับงานด้านไซเบอร์ทั้งหมดทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการพัฒนากฎหมายไซเบอร์ เพื่อให้การดูแลเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์เป็นไปด้วยความรวดเร็วทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ส่วนการดำเนินการในเรื่องของ Big Data เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน เช่น การอำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจ โดยใช้ระบบดิจิทัลมาบริหารจัดการในเรื่องต่าง ๆ ให้เกิดความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งในปีนี้ Big Data ถือเป็นวาระสำคัญดิจิทัลไทยแลนด์ โดยจะดำเนินการจัดระบบข้อมูล Big Data ในภาครัฐให้เป็นระบบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันอย่างครบวงจร ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปวิเคราะห์ต่อและใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งการใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการบริหารในระดับต่าง ๆ ของประเทศ ตลอดจนการดูแลช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้สามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐ เช่น การเข้าถึงสาธารณสุขมูลฐาน เป็นต้น
................................................................................................
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th