รอง นรม.วิษณุฯ ชี้แจงความคืบหน้า การดำเนินงานด้านกฎหมายปราบปรามการทุจริต

ข่าวทั่วไป Friday January 26, 2018 16:12 —สำนักโฆษก

รองนายกรัฐมนตรีชี้แจงความคืบหน้ากฎหมายปราบปรามการทุจริต เผย ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับผลประโยชน์ส่วนรวม อยู่ระหว่างการตรวจแก้ไขของกรรมาธิการ สนช. ยืนยัน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ 2560 จะช่วยลดการทุจริตได้

วันนี้ (25 ม.ค.61) เวลา 13.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินงานด้านกฎหมายของรัฐบาลแก่สื่อมวลชน ในกิจกรรม “สื่ออยากรู้ รัฐบาลอยากเล่า” หัวข้อ “กฎหมายหลายรส กับอนาคตประเทศไทย” และแถลงเรื่อง “แผนปฏิรูปประเทศไทย” โดยมีบรรณาธิการ คอลัมนิสต์ รวมถึงสื่อมวลชนไทยและสื่อมวลชนจากต่างประเทศเข้าร่วมกิจกรรม

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินงานด้านกฎหมายของรัฐบาล ในส่วนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ว่า ในปัจจุบันมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบของประเทศไทย คือ 1. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ สำนักงาน ป.ป.ช. 2. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ สำนักงาน ป.ป.ท. 3. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ สำนักงาน ปปง. 4. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. 5. กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI และมีศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ หรือ ศอตช. ที่จะบูรณาการการและตรวจสอบการทำงานร่วมกับ 5 หน่วยงานดังกล่าว ทั้งนี้ หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตทุกหน่วยงานมีกฎหมายบังคับใช้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะการทุจริตยังมีช่องว่างอยู่มาก ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลได้คิดไว้ในปี 2557 เมื่อถึงปี 2560 สิ่งที่คิดไว้นั้นได้ล้าสมัย จึงได้มีการพยายามออกฎหมายแก้ไล่ตาม ซึ่งในวันนี้หลายหน่วยงานยืนยันว่าพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 สามารถช่วยเรื่องการแก้ไขปัญหาการทุจริตได้มาก เพราะเมื่อมีการติดต่อกับหน่วยงานราชการจะสามารถกำหนดเวลาได้แน่นอน ทำให้ไม่มีโอกาสเกิดการทุจริตเรียกรับเงิน หรือหากมีการเรียกรับเงิน ก็จะไม่ค่อยมีใครให้ เพราะประชาชนรู้ว่างานจะเดินไปตามเวลาในคู่มือที่กำหนดไว้ และถ้าทำงานไม่ทันตามกำหนดเวลาก็สามารถฟ้องร้องได้ เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องไปจ่ายเงิน

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขณะนี้มีกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่อยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. คือ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับผลประโยชน์ส่วนรวม (Conflict of Interest) ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการตรวจแก้ไขในชั้นของกรรมาธิการ สนช. ที่จะต้องมีการตรวจสอบให้รอบคอบ เพราะหากกฎหมายกว้างเกินไปก็อาจจะทำให้มีปัญหาในการตีความ ทั้งนี้ การพิจารณากฎหมายใน สนช. มีกำหนดเวลาจำกัด หากไม่แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดก็จะต้องมีการขอขยายเวลาต่อ สนช.

ขณะที่กฎหมายอีกฉบับคือ พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการจัดหาพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งแต่เดิมคือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ (ระเบียบพัสดุ) ที่ใครฝ่าฝืนระเบียบพัสดุก็ไม่ความผิดและไม่มีโทษ ถ้าจะมีโทษต้องไปยึดโทษตามกฎหมาย โดยขณะนี้ได้ยกเลิกระเบียบพัสดุ และออก พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างฯ ซึ่งมีความผิดและมีโทษครอบคลุมผู้ที่ทำผิดทั้งหมด ทั้งนี้ แต่เดิมนั้นรัฐวิสาหกิจไม่อยู่ภายใต้ระเบียบพัสดุ แต่วันนี้มี พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างฯ ที่ทำให้ทั้งองค์การมหาชน ส่วนราชการส่วนกลาง ราชส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น องค์กรอิสระ เข้ามาอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างฯ ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ช่วยลดการทุจริตลงไปได้ แต่อย่าคาดหวังว่าจะลดได้ 100 เปอร์เซ็นต์ จะได้กี่เปอร์เซ็นต์ก็ยังดีกว่าที่ไม่มี พ.ร.บ. หรือมี พ.ร.บ. แล้วไม่มีคุณภาพ

สำหรับกรณีที่ผู้ที่กระทำการทุจริตคอร์รัปชัน หรือคนที่จงใจปกปิดการทุจริตเป็นคนที่มีอำนาจ หรืออยู่ในอำนาจ มีพวกพ้อง ทำให้กฎหมายของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมีอยู่ ไม่สามารถไปดำเนินการกับคนเหล่านี้ได้นั้น รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กฎหมายไม่ได้ยกเว้นให้กับผู้ใด หากมีการยกเว้น ก็จะมีการระบุไว้ เช่น สำหรับพฤติกรรมนั้นให้ทำอย่างนั้น แต่ไม่ได้ยกเว้นให้ผู้มีอำนาจวาสนาบารมีใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าจะมีการยกเว้นก็คือการใช้กฎหมายที่ไม่ได้ผล ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่และการบังคับใช้กฎหมาย การกระทำความผิดถ้ามีอายุความก็จะยาว หากรอดไปได้ในเวลาหนึ่งก็จะไม่สามารถรอดได้ตลอดไป สุดท้ายแล้วก็จะต้องโดนความผิด

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า หลายเรื่องในวันนี้ที่เป็นคดีความ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาเมื่อ 5 ปี 10 ปีที่แล้ว ในสมัยรัฐบาลก่อน ๆ แล้วรัฐบาลนั้น ๆ พ้นวาระไป วันนี้หยิบขึ้นมาถึงได้มีเรื่อง วันนี้มีศาลอาญาคดีทุจริตที่ได้ตั้งขึ้นใหม่แยกออกมาจากศาลปกติ ซึ่งจะมีเฉพาะคดีทุจริตเท่านั้นที่มาขึ้นที่ศาลนี้ ทำให้ศาลพิจารณาคดีได้อย่างรวดเร็ว โดยตั้งแต่ที่มีการตั้งศาลอาญาคดีทุจริตขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา คดีทุจริตที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลอาญาคดีทุจริต สามารถดำเนินการเสร็จสิ้นในเวลา 3-6 เดือน ทั้งนี้ คดีทุจริตที่ศาลอาญาคดีทุจริตพิจารณานั้น รวมถึงคดีจงใจปกปิดทรัพย์สิน และคดีทุจริตทุกเรื่องที่ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ส่งให้อัยการฟ้องศาล

------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ