วันนี้ (25 มกราคม 2561) เวลา 15.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีได้แถลง เกี่ยวกับความคืบหน้าของการจัดทำแผนปฏิรูปประเทศไทยร่วมกับนายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในกิจกรรม “สื่ออยากรู้ รัฐบาลอยากเล่า” โดยมีใจความสำคัญว่า
เรื่องการปฏิรูปประเทศ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ11ด้านและเพิ่มอีก 2 ด้าน รวมเป็น 13 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการเมือง มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน 2) ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน นายกฤษฎา บุญราช เป็นประธาน 3) ด้านกฎหมาย นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน 4) ด้านกระบวนการยุติธรรม นายอัชพร จารุจินดา เป็นประธาน 5) ด้านเศรษฐกิจ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นประธาน 6) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายรอยล จิตรดอน เป็นประธาน 7) ด้านสาธารณสุข นพ.เสรี ตู้จินดา เป็นประธาน 8) ด้านสื่อสารมวลชนเทคโนโลยีสารสนเทศ นายจิระชัย มูลทองโร่ย เป็นประธาน 9) ด้านสังคม นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็นประธาน 10) ด้านพลังงาน นายพรชัย รุจิประภา เป็นประธาน 11)ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน อีก 2 ด้าน คือ ด้านการศึกษา นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน และคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจและการศึกษา พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน ซึ่งขณะนี้ทั้ง 11 ด้าน ไม่นับด้านการศึกษาและด้านตำรวจ ได้ดำเนินการเสร็จแล้ว และได้ส่งให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปย่อสรุปให้เป็นรูปเล่ม โดยจะใช้เล่มนี้เป็นแผนการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ส่วนอีก 2 ด้านดังกล่าว เมื่อเขียนเสร็จแล้ว จะนำมาเพิ่มในแผนภายหลัง
สำหรับรายละเอียดของแผนปฏิรูปในแต่ละด้าน ยังคงต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้เกิดความเหมาะสม และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างแผนปฏิรูปแล้ว คาดว่าประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะมีการนำแผนฯ เสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติให้ความเห็นชอบ และช่วงปลายเดือนมีนาคม หรือต้นเดือนเมษายนประเทศไทยจะมีการนำแผนการปฏิรูปประเทศมาใช้ ซึ่งทุกส่วนราชการต้องปฏิบัติตาม
รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึง คำว่า “ปฏิรูป” หรือ Reform ว่า จะต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นระบบมีเป้าหมายถึงจะเรียกว่า “ปฏิรูป”ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องมานานแล้ว เนื่องจากเกิดความไม่พึงพอใจในระบบที่มีอยู่ รวมทั้งเกิดจากการบีบคั้นทางภาวะเศรษฐกิจ กระแสโลกาภิวัตน์และแรงกดดันจากต่างประเทศ โดยวัตถุประสงค์สำคัญของการปฏิรูปคือ เพื่อให้สังคมและประเทศชาติดีขึ้น
แผนการปฏิรูปนั้น เมื่อมีการประกาศใช้แล้ว จะมีอายุ 5 ปี และสามารถแก้ไขได้ ไม่เหมือนยุทธศาสตร์ชาติที่แก้ได้แต่แก้ยาก ส่วนคณะกรรมการฯ ยังคงมีหน้าที่ในการติดตามสอดส่องดูแลว่า หน่วยงานต่าง ๆ ได้ดำเนินการตามแผนปฏิรูปหรือไม่ หากไม่ปฏิบัติตามแผนฯ กรรมการปฏิรูปสามารถแจ้งให้หน่วยงานนั้น ๆ แก้ไขให้ถูกต้อง หากยังละเมิดไม่ปฏิบัติตาม คณะกรรมการปฏิรูปสามารถร้องเรียนไปที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้หน่วยงานเร่งรัดแก้ไขให้ถูกต้องตามแผนปฏิรูปในเรื่องนั้น ๆ หากยังคงไม่ปฏิบัติตามอีกคณะรัฐมนตรีสามารถใช้มาตรการลงโทษ ตามระเบียบวินัยข้าราชการ และรัฐบาลต้องทำรายงานเสนอสภาฯ ทุก 3 เดือน ซึ่งสภาจะหามาตรการในการดำเนินการต่อไป
รองนายกรัฐมนตรี อธิบายถึงแนวทางการปฏิรูปว่า มีการปรับแก้เพื่อให้สอดคล้องสถานการณ์ในปัจจุบัน และอำนวยความสะดวกให้กับหน่วยงานและประชาชนในด้านต่าง ๆ อาทิ
ด้านการปฏิรูประบบราชการ จะมีการนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ในระบบราชการเพื่อความทันสมัย สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างรวดเร็ว โดยคณะกรรมการปฏิรูปเสนอให้ทบทวนความเป็นนิติบุคคล ของส่วนราชการใหม่ เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และการใช้งบประมาณ เพราะปัจจุบันส่วนราชการของไทยเป็นนิติบุคคล มีอำนาจ มีงบประมาณในแต่ละหน่วยงาน และมีอำนาจการตัดสินใจด้วยตัวเอง ทำให้การบริหารจัดการ และการใช้งบประมาณมีความซ้ำซ้อน
ด้านกฎหมาย คณะกรรมการปฏิรูปเสนอให้ทบทวนความจำเป็นของกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายหลายมาตรา แม้บางมาตรายังไม่เคยใช้แต่ยังมีอยู่ โดยจะมีการออกพระราชบัญญัติกฎหมายเพื่อกำหนดรายละเอียดของกฎหมาย และคณะกรรมการร่างกฎหมายเท่าที่จำเป็น ในส่วนการพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อร่างกฎหมายตามแผนปฏิรูป เมื่อนายกรัฐมนตรีลงนามแล้ว จะเสนอต่อรัฐสภาพิจารณาให้แล้วเสร็จ ก่อนเสนอต่อวุฒิสภาพิจารณา
ด้านเศรษฐกิจ คณะกรรมการปฏิรูปเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบูรณาความยากจน เพื่อยกระดับการทำงานแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน
ด้านพลังงาน คณะกรรมการปฏิรูปเสนอให้มีการส่งเสริมการการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้ โดยเฉพาะการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล ขยะ และแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) พร้อมให้จัดตั้ง Single Command กระทรวงพลังเพื่อให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ
ด้านสาธารณสุข คณะกรรมการปฏิรูปได้ให้ความสำคัญเรื่องการรักษาพยาบาลในเบื้องต้นก่อนจะส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาล โดยเสนอให้จัดตั้งแพทย์ครอบครัวทุกตำบล เพื่อทำหน้าที่ดูแล รักษาผู้ป่วยในเบื้องต้น พร้อมกับเป็นหน่วยเคลื่อนที่ลงพื้นที่ไปหาผู้ป่วย แทนการให้ผู้ป่วยเดินทางมารักษาที่โรงพยาบาล
พร้อมกล่าวว่า วันนี้ถือว่าเป็นการเปิดตัวการประชาสัมพันธ์การปฏิรูปประเทศครั้งแรก และต่อจากนั้นประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่ละด้าน จะมีการกำหนดวัน เวลา เพื่อแถลงฯ และประชาสัมพันธ์ถึงรายละเอียดของการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ ให้ประชาชนได้รับทราบในโอกาสต่อไป
***********************
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th