โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีขอเป็นตัวแทนพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคน ในการยกย่องชื่นชม “ศิลปินแห่งชาติ” ประจำปี 2560 ที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) เมื่อวันที่ 19 มกราคม ที่ผ่านมา ซึ่งจะเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานโล่เชิดชูเกียรติ และเข็มประกาศเกียรติคุณ จากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันศิลปินแห่งชาติวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่กำลังจะมาถึงนี้ นับเป็นรางวัลสูงสุดในชีวิตสำหรับศิลปินที่มีคุณสมบัติและผลงานเป็นที่ประจักษ์ ได้รับการยอมรับในสังคมไทย นายกรัฐมนตรีขอให้พวกเราทุกคนและสังคมโดยรวม ได้ใช้สติ ทบทวน สิ่งที่พูดเมื่อสักครู่ ว่าเรารู้อย่างลึกซึ้งถึงความเป็นไทยหรือไม่ และพร้อมที่จะหลอมรวมกับความเป็นสากล โดยที่ไม่หลงประเด็น
ทั้งนี้ ไทยนิยมไม่ใช่การสร้างกระแสชาตินิยมเหมือนที่บางคน ไม่เข้าใจสังคมของตน ชาตินิยมจะใช้ได้ดี สำหรับป้องกันภัยคุกคามจากภายนอกประเทศ จากการทำสงคราม หรือจากการเข้ามาครอบงำทางความคิดด้วยหลักคิดลัทธิของชาติอื่น เพื่อสร้างสำนึกความรักชาติและไทยนิยม ซึ่งไม่ใช่ประชานิยม เพราะประชานิยมเป็นการให้ในลักษณะยัดเยียดว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่เหมาะสมกับประชาชน ด้วยการสร้างแนวคิด “บริโภคนิยม” แตกต่างจากไทยนิยมที่เป็นการต่อยอด ขยายผลจากประชารัฐ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการระเบิดจากข้างในด้วยการมีส่วนร่วม เกิดเป็น 3 ประสาน คือ ราษฎร์ – รัฐ – เอกชน เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาและสร้างการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน เพราะตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ แก้โจทย์ปัญหาที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชน ด้วยกลไกประชารัฐ เพื่อสร้างความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ให้กับบ้านเมือง ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นมรดกของชาติ มาเป็นหลักคิดสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีพระราชดำรัสให้ “สืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชปณิธาน เพื่อสร้างสุขให้ปวงชนชาวไทย” และน้อมนำศาสตร์พระราชา “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ เพื่อนำพาประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักของการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง เพื่อการพัฒนาประเทศและการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างยั่งยืน
การพัฒนาประเทศในยุคดิจิทัลตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” โดยให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม ในมิติวัฒนธรรม ความเป็นไทย ตามหลักคิดไทยนิยม และโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพของประเทศ ไปพร้อม ๆ กัน นายกรัฐมนตรีจึงอยากวาดภาพอนาคต และความเป็นไปได้ให้ทุกคนได้เห็นว่ารัฐบาลจะขับเคลื่อนโครงการ EEC อย่างไร โดยแผนปฏิบัติการลงทุน แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 หรือระยะเร่งด่วน ระหว่างปี 2560-2561 ที่ต้องดำเนินการทันที เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจภายใน EEC ระยะที่ 2 ระหว่างปี 2562-2564 เป็นแผนงานต่อเนื่อง เพื่อให้โครงข่ายการขนส่งสามารถรองรับกิจการทางเศรษฐกิจ ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และระยะต่อไป เริ่มตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป เป็นแผนงานเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ EEC อย่างยั่งยืน รวมถึงการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย
ทั้งนี้ จะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ และโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ (1) มอเตอร์เวย์ พัทยา - มาบตาพุด แหลมฉบัง - ปราจีนบุรี และชลบุรี - อ.แกลง จ.ระยอง (2) รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามท่าอากาศยาน รถไฟทางคู่ ช่วงแหลมฉบัง - มาบตาพุด รถไฟ ช่วงระยอง –จันทบุรี - ตราด และรถไฟเชื่อม EEC – ทวาย - กัมพูชา รวมทั้งสถานีบรรจุและยกสินค้ากล่อง (ICD) ฉะเชิงเทรา (3) ท่าเรือแหลมฉบัง เฟสที่ 3 ท่าเรือมาบตาพุด เฟสที่ 3 และอาคารผู้โดยสารท่าเรือจุกเสม็ด (4) การยกระดับท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา อาทิ การสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน
การประชุมสุดยอดอาเซียน - อินเดีย ครั้งนี้ (25 ม.ค. 61) ถือว่ามีความพิเศษ เพราะปกติประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจามักจะจัดในภูมิภาคอาเซียน แต่เนื่องจากเป็นโอกาสครบรอบการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและอินเดีย ที่เริ่มต้นอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2535 หรือเกือบ 30 ปีมาแล้ว อีกทั้ง อินเดียยังเป็นประเทศคู่ค้าและหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่สำคัญของอาเซียน รวมถึงเป็นหนึ่งสมาชิกของความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค ซึ่งเป็นโอกาสที่จะทบทวนในเรื่องยุทธศาสตร์ของอินเดียที่จะมีต่ออาเซียน และประเทศเอเชียแปซิฟิก นับว่าเป็นช่องทางสำหรับแนวนโยบายมุ่งตะวันออก หรือ Act East ของนายกรัฐมนตรีอินเดีย ที่จะเพิ่มบทบาทของอินเดียในประเทศอาเซียนและเอเชียแปซิฟิกอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างสมดุลอำนาจกับประเทศใหญ่อื่น ๆ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านการเมืองและการปกครองของโลก อีกทั้ง ยังสอดรับเป็นอย่างดีกับนโยบาย Look West ของไทยในการหาลู่ทางขยายตลาดการค้าการลงทุน และการสร้างพันธมิตรในอินเดียซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ และมีประชากรมาก รวมทั้งมีศักยภาพทางเทคโนโลยีสูงด้วย
สำหรับผลลัพธ์จากการประชุม ได้มีการหารือในเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันทั้งด้านการค้าและการลงทุน เพื่อให้เพิ่มมูลค่าการค้าได้ตามเป้าหมายภายในปี 2022 ดังนั้น นอกจากเราจะต้องเสริมสร้างกิจกรรมภายในให้แข็งแกร่ง ยืนได้ด้วยตนเองแล้ว ประเทศไทยก็จะต้องขยายโอกาสไปภายนอกประเทศ เพิ่มความร่วมมือกับมิตรประเทศ เพื่อสร้างโอกาส กระจายตลาด เพิ่มรายได้ทางการค้าและเพิ่มศักยภาพของประเทศผ่านการลงทุน รวมถึงส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีในเวทีโลก
ด้วยเหตุนี้ นายกรัฐมนตรีจึงให้ความสำคัญอย่างมากต่อนโยบายระหว่างประเทศ ทั้งในลักษณะการเจรจาทวิภาคี และการหารือในลักษณะของการเป็นกลุ่มประเทศ โดยในปี 2560 ที่ผ่านมา ได้เปิดโอกาสให้ประเทศไทยได้ชี้แจงประชาสัมพันธ์ประเทศ และทิศทางนโยบายของภาครัฐ เพื่อดึงดูดการค้าและการลงทุน จากต่างประเทศจึงเป็นที่น่ายินดีว่า ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ และปีหน้า ปีละ 0.2% จากเดิมที่เคยประมาณว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตได้ร้อยละ 3.7 ในปี 2561 และ 2562 ช่วงนี้ก็จะปรับสูงขึ้นเป็นร้อยละ 3.9 ซึ่งการปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ จะเป็นสัญญาณว่า เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของประเทศไทยจะขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้เดิม ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งออกของประเทศไทย ซึ่งภาคเอกชนไทยจะมีความสามารถและมีศักยภาพ แต่ควรมีการป้องกันความเสี่ยงไว้ล่วงหน้า โดยต้องมีการประมาณตน มีภูมิคุ้มกัน และเน้นการพึ่งพาตนเองให้มากด้วยการทำงานเชิงรุกร่วมกัน สำหรับระยะยาว ภาครัฐเองก็จะเดินหน้าตามแผนปฏิรูปประเทศ รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล ที่จะช่วยปรับโครงสร้างให้ประเทศในภาพรวมมีความสามารถในการแข่งขัน และการปรับเศรษฐกิจภายในประเทศให้แข็งแกร่ง รองรับความเสี่ยงต่าง ๆ ได้ดีขึ้นอีกด้วย
…………………………………….
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th