วันนี้ (1 ก.พ.61) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) ครั้งที่ 1/2561 ซึ่งมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม โดยภายหลังการประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้แถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้
ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าของร่าง พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. .... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. แล้วเสร็จทุกมาตรา เมื่อวันที่ 29 ม.ค.61 และคาดว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะพิจารณาแล้วเสร็จ ภายใน ก.พ.61 พร้อมกับรับทราบความก้าวหน้าการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC ที่มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน EEC ในปี 2560 รวมเป็นเงินลงทุน 296,890 ล้านบาท โดยปี 2561 มีเป้าหมายการลงทุน 300,000 ล้านบาท (เทียบกับ 199,327 ล้านบาทในปี 2559) โดยร้อยละ 84 เป็นการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีสูง คิดเป็น 84% ของอุตสาหกรรมทั้งหมด
ที่ประชุมรับทราบตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC เพิ่มเติมมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.61 เป็นต้นไป ได้แก่ เขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ เช่น เมืองการบินภาคตะวันออก ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมในการยกเว้นภาษีนิติบุคคล เพิ่มอีก 2 ปี รวมเป็น 8 ปี และลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 50% เพิ่มอีก 5 ปี โดยมีเงื่อนไขต้องฝึกอบรมพนักงาน มากกว่า 10% ของพนักงานทั้งหมด หรือ มากกว่า 50 คน เขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 50% เพิ่มอีก 5 ปี จากเกณฑ์ปกติ โดยมีเงื่อนไขต้องฝึกอบรมพนักงาน มากกว่า 10% ของพนักงานทั้งหมด หรือมากกว่า 50 คน เขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม หรือเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 50% เพิ่มอีก 3 ปี จากเกณฑ์ปกติ โดยมีเงื่อนไขต้องฝึกอบรมพนักงาน มากกว่า 5% ของพนักงานทั้งหมด หรือมากกว่า 25 คน
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมเห็นชอบการประกาศเขตส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 19 แห่ง ซึ่งมีหลักเกณฑ์การจัดตั้งเขตส่งเสริมครบถ้วนแล้ว ทำให้มีพื้นที่ใหม่รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายอีก 26,200 ไร่ และประมาณว่าจะรองรับการลงทุนได้กว่า 1.1 ล้านล้านบาท ภายใน 10 ปีข้างหน้า โดยเขตส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรมเป้าหมาย 19 แห่ง ประกอบด้วย จ.ระยอง 6 แห่ง จ.ชลบุรี 12 แห่ง และ จ.ฉะเชิงเทรา 1 แห่ง ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมเหล่านี้ผ่านการศึกษาสิ่งแวดล้อมและเปิดดำเนินการอยู่แล้ว แต่ยังมีที่ดินเหลืออยู่ ดังนั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC จึงไม่จำเป็นต้องนำที่ดินอื่น ๆ นอกเขตนิคมอุตสาหกรรมมาประกอบอุตสาหกรรม
ที่ประชุมเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐาน ที่จัดทำโดยคณะอนุกรรมการโครงสร้างพื้นฐานฯ ซึ่งมีผู้อำนวยการ สนข. เป็นประธาน โดยให้เพิ่มเรื่องดิจิทัลและวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แผนปฏิบัติการฯ มีสาระสำคัญคือ 1. มุ่งพัฒนาโลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อ เชื่อมโยงทั้งทางบก น้ำ อากาศ ใช้พื้นที่ EEC และพื้นที่ใกล้เคียง ให้ EEC เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่น่าอยู่อาศัยแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชีย ให้ EEC เชื่อมต่อกับกรุงเทพฯ ได้อย่างสมบูรณ์ รวมกันเป็นมหานครขนาดใหญ่ ลดความแออัดของกรุงเทพฯ ในอนาคต โดยประชาชนสามารถเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ และ EEC เข้าสู่กรุงเทพฯ ใน 1 ชั่วโมงด้วยรถไฟความเร็วสูง และมีสนามบินอู่ตะเภาเหมือนเป็นสนามบินหลักแห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ ช่วยผ่อนคลายความคับคั่งของสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ 2. เพื่อให้เกิดผลในการปฏิบัติ แผนปฏิบัติการฯ ประกอบด้วยโครงการระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว รวม 168 โครงการ ในกรอบวงเงินประมาณ 1 ล้านล้านบาท และประมาณว่าการลงทุนจะเป็นเงินงบประมาณร้อยละ 30 งบลงทุนรัฐวิสาหกิจร้อยละ 10 และรัฐร่วมทุนเอกชน (PPP) ร้อยละ 60
“นายกรัฐมนตรีได้สั่งการเพิ่มเติมให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำแผนที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล อินเทอร์เน็ต เข้ามาพิจารณาให้เชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมที่นำเสนอที่ประชุมวันนี้ โดยให้นำมาผนวกกัน เพื่อพิจารณาการบริหารจัดการและการลงทุนไปพร้อมกัน รวมทั้งให้พิจารณาให้ชัดเจนว่าจะเชื่อมโยงกับระบบคมนาคมอื่น โดยเฉพาะรถไฟทางคู่ในส่วนอื่นของประเทศ ให้มีประสิทธิภาพ ถ้าทำได้ตามนี้ สนข. คาดการณ์ว่าจะลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศได้ ประมาณร้อยละ 2 ของ GDP หรือปีละ 2 แสนล้านบาท” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบแผนปฏิบัติการการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่จัดทำโดยคณะอนุกรรมการการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวฯ ที่มีผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นประธาน ซึ่งแผนปฏิบัติการฯ มีสาระสำคัญคือ 1. มุ่งยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวใน EEC สู่การท่องเที่ยวระดับโลกอย่างยั่งยืน รองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี กลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กลุ่มครอบครัวและนักธุรกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งประมาณว่าใน 4 ปีเมื่อระบบคมนาคมเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวสมบูรณ์ขึ้น จะมีนักท่องเที่ยวใน EEC เพิ่มขึ้นเป็น 47 ล้านคนจาก 30 ล้านคนในปัจจุบัน ประชาชนได้รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 5 แสนล้านบาท จาก 3 แสนล้านบาทในปัจจุบัน และเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ จึงได้เสนอโครงการภายใต้แผนฯ 53 โครงการ ในกรอบวงเงินกว่า 30,000 ล้านบาท เป็นเงินงบประมาณร้อยละ 25 งบลงทุนรัฐวิสาหกิจร้อยละ 1 และรัฐร่วมทุนเอกชน (PPP) ร้อยละ 74
ที่ประชุมยังเห็นชอบการกำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอากาศยานใน EEC ตามที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ร่วมกับ สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) กำหนดคุณสมบัติของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอากาศยานที่เป็นนิติบุคคลที่มีผู้มีสัญชาติไทยน้อยกว่าร้อยละ 51 ทั้งนี้ เพื่อประสิทธิภาพในการดำเนินการและสนับสนุนการสร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอากาศยานให้เกิดขึ้นใน EEC โดยต้องมีคุณสมบัติ เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย มีสำนักงานตั้งอยู่ในราชอาณาจักรไทย มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมของพื้นที่ EEC มีวัตถุประสงค์เพื่อการผลิตอากาศยาน หรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน หรือหน่วยซ่อมอากาศยาน ได้รับหรือมีสิทธิในใบรับรองแบบอากาศยาน หรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานที่ประสงค์จะผลิต (เฉพาะกรณีที่จะผลิต) มีขีดความสามารถที่จะผลิตอากาศยาน ส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน ตามใบรับรองแบบหรือมีขีดความสามารถในการซ่อมบำรุงอากาศยาน มีการควบคุมคุณภาพการผลิต หรือการซ่อม ทั้งนี้ จะมีการพิจารณาเงื่อนไขในการพิจารณา 2 เรื่อง คือ 1) ระดับเทคโนโลยีสำคัญที่ต้องการในการพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานของไทย 2) แผนในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากรไทย
-------------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
(ข้อมูลจากฝ่ายเลขานุการ กนศ.)
ที่มา: http://www.thaigov.go.th