วันนี้ (14 กุมภาพันธ์ 2561) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ครั้งที่ 2/2561 สรุปสาระการประชุม ดังนี้
ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้ารายงานจากคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการภัยพิบัติ และภาวะโลกร้อน เรื่อง การแบ่งเขตการใช้ประโยชน์และกำหนดพื้นที่คุ้มครองทางทะเลอย่างเป็นระบบ
จากนั้น ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาการรุกลำน้ำสาธารณะ (คลองลาดพร้าว) ซึ่งผลการดำเนินงานทำให้ชุมชนมีความน่าอยู่ สะอาด และเป็นระเบียบมากขึ้น สุขภาวะทางสิ่งแวดล้อมในชุมชนก็ดีขึ้นเช่นกัน ภายใต้นโยบายของรัฐบาล “คืนความสุขให้คนคลอง คืนลำคลองให้คนเมือง” ซึ่งประชาชนในชุมชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
ต่อจากนั้น ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการปรับภูมิทัศน์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แยกเป็น 3 ประเด็น ดังนี้
1. การดำเนินงานตามข้อสั่งการของประธาน กขป.๕ ด้านการจ่ายเงินช่วยเหลือและรื้อย้ายชุมชนรุกล้ำลำน้ำ จำนวน 15ชุมชน 282 หลัง รื้อย้ายแล้ว 8 ชุมชน 142 หลัง (ได้แก่ ชุมชนปากคลองบางเขนใหม่ ชุมชนเขียวไข่กา ชุมชนท่าเรือเกียกกาย ชุมชนวัดฉัตรแก้วจงกลนี ชุมชนวัดสร้อยทอง ชุมชนวัดคฤหบดี และชุมชนจรัญสนิทวงศ์ 96/1) คงเหลือ 7 ชุมชน 140 หลัง อยู่ระหว่างรอบ้านมั่นคงของ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) ซึ่งกำลังปลูกสร้างและเมื่อแล้วเสร็จก็พร้อมจะรื้อย้ายทันที
2. การจ่ายเงินช่วยเหลือและการรื้อย้ายชุมชนรุกล้ำลำน้ำ ได้มีการเจรจากับเอกชนผู้ประกอบการริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยได้ข้อยุติแล้วเพิ่มเติม จำนวน 3 ราย ได้แก่ โรงแรมรอยัลริเวอร์ โรงแรมริเวอร์ไซด์ และร้านอาหารขนาบน้ำ
3. ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง อยู่ระหว่างขอความเห็นชอบดำเนินการโดยวิธี e- bidding ตาม พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้าง 2560 โดยเสนอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอนุมัติ เพื่อให้สามารถดำเนินการในขั้นตอนต่อไปได้ ทั้ง 4 ช่วง ดังนี้ ช่วงที่ 1 จากสะพานพระราม ๗ ถึง กรมชลประทานสามเสน ช่วงที่ 2 จากกรมชลประทานสามเสน ถึง สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ช่วงที่ 3 จากสะพานพระราม ๗ ถึง คลองบางพลัด และช่วงที่ 4 จากคลองบางพลัด ถึง สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า
ต่อจากนั้น ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ได้แก่ 1.กรอบกฎหมาย 2.การจัดการกองเรือประมง 3.การติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมงผิดกฎหมาย 4.ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ และ 5.การบังคับใช้กฎหมาย ต่อจากนั้น ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานของ คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน ซึ่งมีความคืบหน้าการตรวจสอบเพื่อออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ ในการดำเนินการขั้นตอนที่ 5 การออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นและส่งมอบใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ได้ทั้งสิ้นจำนวน 14 สายการบิน จากจำนวนทั้งหมด 20 สายการบิน
ต่อจากนั้น ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานของ คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย จากการประชุม กขป. 5 เมื่อ 17 ม.ค. 61 ซึ่งมีมติเห็นชอบให้กระทรวงแรงงาน ดำเนินการเพื่อรองรับการให้สัตยาบันพิธีสารภายใต้อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ จำนวน 4 ข้อ 1. เห็นชอบให้ กระทรวงแรงงาน (รง.) ยกร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและขจัดการใช้แรงงานบังคับ เพื่อรองรับการให้สัตยาบัน P29 โดยให้มีการรับฟังความคิดเห็น ก่อนยกร่างกฎหมาย 2. ให้ รง.และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ยกร่างกฎหมายให้แล้วเสร็จภายใน เดือน ก.พ. 61 3. ให้ รง. จัดทำประชาพิจารณ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และ เสนอ ครม. ภายใน เดือน มี.ค. 61 และ 4. เมื่อ ครม.เห็นชอบในหลักการแล้ว ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจปรับปรุง และเสนอ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ภายใน เดือน เม.ย. 61 ต่อไป
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียต่อร่าง พ.ร.บ. ร้อยละ 80.3 เห็นด้วยที่จะให้มีการจัดตั้งกองทุนขึ้นมา ซึ่งจำเป็นต้องมีการเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองการจัดตั้งกองทุนหมุนเวียน (กระทรวงการคลัง เป็นฝ่ายเลขานุการ) ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการพิจารณาให้ความเห็นชอบที่อาจส่งผลกระทบต่อเวลาที่กำหนดให้เสนอคณะรัฐมนตรี ภายใน มี.ค. 61 พร้อมมีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลัง ให้คำแนะนำกระทรวงแรงงาน ในการจัดทำเอกสารขอจัดตั้งกองทุนให้มีความสมบูรณ์ และให้กระทรวงแรงงานเสนอให้คณะกรรมการกลั่นกรองการจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนที่จะเสนอร่าง พ.ร.บ. ให้ คณะรัฐมนตรีพิจารณา ภายใน มี.ค. 61
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณป้อมมหากาฬ ซึ่งได้มีความคืบหน้าตามลำดับ และได้รับความร่วมมือจากชุมชนส่วนมากเป็นอย่างดี โดยประธานที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งประชาสัมพันธ์ข้อดีของการปรับปรุงภูมิทัศน์ในครั้งนี้ให้ประชาชนเข้าใจอย่าทั่วถึง เพื่อเป็นการพัฒนาชุมชนและประเทศชาติ โดยสร้างการรับรู้ความเข้าใจภายใต้กรอบตามหลักประชารัฐ และโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง ด้วยรัฐบาลมีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการจัดระเบียบทางสังคมเพื่อทำประโยชน์ให้กับประชาชนทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง โดยมีการบังคับใช้กฎหมายควบคู่กับการสร้างการรับรู้และความเข้าใจสู่ประชาชนครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ เพื่อให้เป็นสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขต่อไป
................................................................................
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th