วันนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2561) เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ดร.รอยล จิตรดอน ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแถลงความคืบหน้าและการเตรียมความพร้อมดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า แผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแบ่งประเด็นการพิจารณาออกเป็น 6 เรื่อง คือ ทรัพยากรทางบก ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งแวดล้อม และระบบบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2560 ได้ส่งร่างแผนปฏิรูปฯ เข้าสู่กระบวนการแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติก่อนที่จะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป หากไม่มีข้อขัดข้องก็จะเริ่มตามแผนได้ในเดือนเมษายน 2561 นี้
สำหรับภาพรวมของแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติฯ มีประเด็นปฏิรูปหลัก 3 ประเด็น คือ (1) การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ขยายผลแบบอย่างความสำเร็จผ่านการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ที่จะต้องเร่งรัดให้เกิดแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน ป่าไม้ แผนที่ศักยภาพแร่และเขตแหล่งแร่ แผนที่การจำแนกเขตทางทำเลและชายฝั่ง มีระบบผังเมืองระดับชุมชน ผังเส้นทางน้ำในผังเมืองรวมระดับจังหวัด รวมไปถึงการขยายผลความสำเร็จของการบริหารจัดการน้ำระดับชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรของประชาชนในพื้นที่ด้วยการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำระดับจังหวัด ศูนย์อนุรักษ์และพัฒนาฐานทรัพยากรท้องถิ่น และการส่งเสริมการจัดการขยะชุมชนที่มีประสิทธิภาพ
(2) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงของประเทศ พร้อมรับมือด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น จัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ควบคู่ไปกับทำการวิจัยและพัฒนาแบบจำลองเพื่อใช้ในการติดตาม ตรวจสอบ และวางแผนเพื่อจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างเป็นระบบ รวมทั้งเร่งฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่การอนุรักษ์ป่าเศรษฐกิจ ป่าชุมชน ป่าชายเลน แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล และส่งเสริมการจัดการขยะแบบครบวงจรเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
และ (3) ระบบบริหารจัดการและกฎหมาย พัฒนาและยกระดับระบบการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA/EHIA) ระบบการประเมินยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืน ระบบกลไกความเป็นเอกภาพในการบูรณาการนโยบายระบบแผน และระระบบงบประมาณ ผลักดันระบบกระบวนการยุติธรรมสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการออกข้อบัญญัติท้องถิ่น ปรับปรุงกฎหมายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เน้นให้ใช้มาตรการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในพื้นที่ควบคุมมลพิษแทนการประกาศเขตควบคุมมลพิษ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดระบบกองทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใช้เครื่องมือเศรษฐศาสตร์เพื่อสิ่งแวดล้อมสนับสนุนการบริหารจัดการและใช้หลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย
ดร.รอยล จิตรดอน กล่าวต่อไปว่า หากดำเนินการได้สำเร็จตามแผนที่วางไว้ จะเกิดการรักษา ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างสมดุล ลดความเสี่ยงจากการเกิดภัยพิบัติ เกิดระบบบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ บนพื้นที่ฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนตามแนวทางประชารัฐ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม เกิดความมั่นคงทางด้านทรัพยากรน้ำ อาหาร และพลังงาน ประชาชนมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดี นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ ซึ่งทั้งหมดนั้นจะต้องมีระบบติดตามและประเมินผลที่รัดกุมเพื่อให้การปฏิรูปบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน ทั้งนี้ ความสำเร็จของการพัฒนาประเทศขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ และความปลอดภัยของทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติจึงเป็นการทำลายมรดก และอนาคตของชาติด้วย
ที่มา: http://www.thaigov.go.th