วันนี้ (21 กุมภาพันธ์ 2561) เวลา 11.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางไปเยี่ยมชมแปลงนาบัว ลุงแจ่ม สวัสดิ์โต ซึ่งเป็นที่ดินพระราชทาน ตั้งอยู่ที่บ้านศาลาดิน หมู่ที่ 3 ต.มหาสวัสดิ์ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม จุดเริ่มต้นของการปฏิรูปที่ดินในประเทศไทย
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวทักทายข้าราชการและประชาชนที่มาให้การต้อนรับ จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้ลงเรือชมแปลงนาบัว และพายเรือในนาบัวด้วยตัวเอง โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมว่าปลูกแปลงนาบัวได้สวยงามดี พร้อมกับสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์บัว วิธีการปลูก และรายได้ผลตอบแทนของเกษตรกรผู้ปลูกแปลงนาบัว จากนั้นได้ชมผังแสดงพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และชมแผนที่ "เลียบคลองคล้องใจ มหาสวัสดิ์สู่ลัดมะยม" ซึ่งเป็นแผนที่คลองรับน้ำและระบายน้ำ โดยนายกรัฐมนตรีขอให้ช่วยกันรักษาความสะอาด อย่าให้มีขยะหรือผักตบชวากั้นขวางทางน้ำ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ชิมเมี่ยงกลีบบัว ชิมชาเกสรบัว และกล่าวว่าในประเทศไทยเรามีสถานที่ดี ๆ เรื่องราวดี ๆ มากมายขอให้ช่วยกันส่งเสริมประชาสัมพันธ์ด้วย
สำหรับการปฏิรูปที่ดินนี้เป็นไปตาม แนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงเห็นว่าชาวบ้านทำนาได้ปีละครั้ง ซ้ำยังขาดที่ทำกินเป็นของตนเอง จึงทรงพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์จำนวน 1,009 ไร่ ให้กับเกษตรกรได้ทำมาหากิน โดยมีสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ดูแล จัดสรรที่ดินให้เกษตรกร แปลงละ 20 ไร่ เพื่อให้เกษตรกรใช้เป็นพื้นที่ทำกิน โดยมีเงื่อนไขว่าต้องทำการเกษตร เพราะต้องการให้เป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งเกษตรกรที่ได้ที่พระราชทาน ต่างน้อมนำแนวพระราชดำริมาเป็นที่ตั้ง แล้วปลูกข้าว พริก มะเขือ กะเพรา โหระพา มะพร้าว กล้วย ขนุน ส้มโอ พร้อมพืชผลทางการเกษตรอื่น ๆ และส่วนหนึ่งใช้ทำนาบัว
ปัจจุบัน นาบัวของลุงแจ่ม สวัสดิ์โต เป็นส่วนหนึ่งของรายการนำเที่ยวในคลองมหาสวัสดิ์ แต่ละวันมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ แวะเวียนเข้ามาชมความสวยงามของดอกบัว สัมผัสกลิ่นอายของนาบัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ที่ต้องการพายเรือออกไปเก็บดอกบัวด้วยมือตัวเอง ทางนาบัวก็มีเรือบริการให้ โดยคิดเงินดอกละ 1 บาทเท่าราคาส่ง ในส่วนของดอกบัวขายได้ดอกละ 1-3 บาท มีรายได้เฉลี่ยวันละ 2,000 บาท นอกจากนี้ มีรายได้จากการทำเกษตรผสมผสานที่สามารถสร้างรายได้เฉลี่ยวันละประมาณ 300 บาท รวมทั้งมีรายได้จากการขายปลาในนาบัว ปีละไม่น้อยกว่า 40,000 บาท และมีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าชาจากเกสรบัวซึ่งให้ความหอมและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของดอกบัว และมีการทำมะม่วงกวน มะขามเปียก ซึ่งเป็นผลผลิตที่อยู่ในแปลงเกษตรทั้งสิ้น
---------------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th