รัฐบาลโดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านบริหารราชการแผ่นดินและด้านกระบวนการยุติธรรม ชี้แจง ความคืบหน้าปฏิรูปประเทศไทย หัวข้อ “สร้างมิติใหม่ภาครัฐ ยืนหยัดยุติธรรม”

ข่าวทั่วไป Friday February 23, 2018 11:31 —สำนักโฆษก

รัฐบาลโดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านบริหารราชการแผ่นดินและด้านกระบวนการยุติธรรม ชี้แจง ความคืบหน้าปฏิรูปประเทศไทย หัวข้อ “สร้างมิติใหม่ภาครัฐ ยืนหยัดยุติธรรม” เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

วันนี้ (22 ก.พ.61) เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นางเบญจวรรณ สร่างนิทร รองประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านบริหารราชการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ กรรมการและเลขานุในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม ร่วมกันแถลงความคืบหน้าปฏิรูปประเทศไทย หัวข้อ “สร้างมิติใหม่ภาครัฐ ยืนหยัดยุติธรรม” ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดไว้ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยมีสื่อมวลชนสาขาต่าง ๆ เข้าร่วมซักถาม

นางเบญจวรรณ สร่างนิทร รองประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านบริหารราชการ แผ่นดิน ได้กล่าวถึงการปฏิรูปภาครัฐว่า การดำเนินงานของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านบริหารราชการแผ่นดิน ยึดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 258 ข. เป็นหลัก โดยรัฐธรรมนูญฯ ได้กำหนดผลสัมฤทธิ์อันพึงประสงค์ของการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดินไว้อย่างน้อย 5 ประการ ได้แก่ (1) ให้มีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินและเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน (2) ให้มีการบูรณาการฐานข้อมูลของหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานเข้าด้วยกัน เพื่อให้เป็นระบบข้อมูลเพื่อการบริหารราชการแผ่นดินและการบริการประชาชน (3) ให้มีการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างและระบบการบริหารงานของรัฐและแผนกำลังคนภาครัฐให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆ โดยต้องดำเนินการให้เหมาะสมกับภารกิจของหน่วยงานของรัฐแต่ละหน่วยงานที่แตกต่างกัน (4) ให้มีการปรับปรุงและพัฒนาการบริหารงานบุคคลภาครัฐเพื่อจูงใจให้ผู้มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงเข้ามาทำงานในหน่วยงานของรัฐ และสามารถเจริญก้าวหน้าได้ตามความสามารถและผลสัมฤทธิ์ของงานของแต่ละบุคคล มีความซื่อสัตย์สุจริต กล้าตัดสินใจและกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง โดยคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว มีความคิดสร้างสรรค์และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้การปฏิบัติราชการและการบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีมาตรการคุ้มครองป้องกันบุคลากรภาครัฐจากการใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรมของผู้บังคับบัญชา และ (5) ให้มีการปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีความคล่องตัว เปิดเผย ตรวจสอบได้ และมีกลไกในการป้องกันการทุจริตทุกขั้นตอน

ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ได้จัดทำแผนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2561- 2565 ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ที่มุ่งสร้างภาครัฐของประชาชนเพื่อประชาชน บนหลักธรรมาภิบาล โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ภาครัฐสามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของประชาชนที่หลากหลายได้อย่างมีประสิทธิผล และได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากประชาชน จึงกำหนดกลไกการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วยประเด็นปฏิรูป 6 เรื่อง ดังนี้ 1) บริการภาครัฐ สะดวก รวดเร็ว และตอบโจทย์ชีวิตประชาชน ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์ ได้แก่ (1) เพิ่มสมรรถนะของหน่วยงานภาครัฐในการตอบสนองต่อประชาชนในสถานการณ์หรือภาวะฉุกเฉิน (2) ยกระดับการให้ข้อมูลและให้คำปรึกษาจากหน่วยงานของรัฐ และ (3) ยกระดับการให้บริการประชาชนสู่การบริการที่เร็วขึ้น ง่ายขึ้น และถูกลง 2) ระบบข้อมูลภาครัฐมีมาตรฐาน ทันสมัย และเชื่อมโยงกัน ก้าวสู่รัฐบาลดิจิทัล ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์ ได้แก่ (1) บูรณาการและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานรัฐบาลดิจิทัล (2) นำระบบดิจิทัลมาใช้ในการปฏิบัติงาน และการบริหารราชการ และ (3) บูรณาการข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐเพื่อการบริหารราชการแผ่นดิน

3) โครงสร้างภาครัฐกะทัดรัด ปรับตัวได้เร็วและระบบงานมีผลสัมฤทธิ์สูง ประกอบด้วย 6 กลยุทธ์ ได้แก่ (1) ปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างและระบบบริหารงานของรัฐ (2) เพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความเข้มแข็งของการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ (3) พัฒนาขีดความสามารถในการจัดบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (4) พัฒนาระบบงบประมาณและการคลังภาครัฐเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ (5) สร้างระบบธรรมาภิบาลที่ยั่งยืนในหน่วยงานภาครัฐ และ (6) พัฒนากฎหมายเกี่ยวกับระเบียบบริหารราชการแผ่นดินให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

4) กำลังคนภาครัฐมีขนาดที่เหมาะสมและมีสมรรถนะสูง พร้อมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วย 4 กลยุทธ์ ได้แก่ (1) จัดกำลังคนให้สอดคล้องกับความจำเป็นในการบริการสาธารณะที่สำคัญ และขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (2) ลดขนาดกำลังคนและค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐที่มีผลผูกพันภาระงบประมาณในระยะยาว (3) พัฒนาทักษะและสมรรถนะใหม่เพื่อสร้างความพร้อมเชิงกลยุทธ์ให้กับกำลังคนภาครัฐ และ (4) ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการใช้กำลังคนในส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ

5) ระบบบริหารงานบุคคลที่สามารถดึงดูด สร้าง และรักษาคนดี คนเก่งไว้ในภาครัฐ ประกอบด้วย 6 กลยุทธ์ ได้แก่ (1) ดึงดูดผู้มีความรู้ความสามารถและมีจิตสาธารณะเข้ามาทำงานในหน่วยงานของรัฐ (2) ส่งเสริม จูงใจ และรักษาผู้มีความรู้ความสามารถและมีจิตสาธารณะไว้ในภาครัฐ (3) พัฒนาทรัพยากรบุคคลภาครัฐให้มีขีดความสามารถและความผูกพันต่อองค์กร (4) พัฒนาผู้นำที่เป็นตัวอย่าง (Leadership by Example) (5) ส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมในการบริหารทรัพยากรบุคคล และ (6) พัฒนาทางก้าวหน้าในสายอาชีพและสร้างความต่อเนื่องในการดำรงตำแหน่ง และ 6) การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ คล่องตัว โปร่งใส และมีกลไกป้องกันการทุจริตทุกขั้นตอน ประกอบด้วย 2 กลยุทธ์ ได้แก่ (1) นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีความคล่องตัวและตรวจสอบได้ และ (3) ส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกการติดตามตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อให้เกิดความโปร่งใส

ด้าน นายชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ กรรมการและเลขานุในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม ได้กล่าวถึงภาพรวมของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมว่า แม้กระบวนการยุติธรรมจะผ่านการปฏิรูปมาแล้วหลายครั้ง แต่การดำเนินงานดังกล่าวเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา เพราะแต่ละหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมต่างมีความเป็นอิสระ รวมถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำในการบังคับใช้กฎหมาย และความถูกต้องของการสอบสวนและพิจารณาคดี ส่งผลให้ประชาชนยังขาดความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ดังนั้น คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม จึงได้นำบทเรียนต่างๆ รวมทั้งผลงานของ สปช. สปท. และคณะกรรมการต่างๆ ซึ่งได้เคยมีการดำเนินการไว้แล้วมาประกอบการพิจารณาเพื่อจัดทำแผนปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม ทั้งหมด 10 ประเด็นปฏิรูป ได้แก่ 1) การกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า 2) การพัฒนากลไกช่วยเหลือและเพิ่มศักยภาพเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม 3) การพัฒนากลไกการบังคับการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ 4) การปรับกระบวนทัศน์ในการบริหารงานยุติธรรมเพื่อสร้างความปลอดภัยและความเป็นธรรมในสังคม 5) การปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาเพื่อให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม 6) การกำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้คดีขาดอายุความ 7) การพัฒนาระบบการสอบสวนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ 8) การปฏิรูประบบนิติวิทยาศาสตร์เพื่อความถูกต้องสมบูรณ์ของข้อเท็จจริงแห่งคดี 9) การเสริมสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมเพื่อมุ่งอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนโดยสะดวกและรวดเร็ว 10) การพัฒนาประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ

สำหรับเป้าหมายของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ประกอบด้วย 1) ประชาชนเป็นเจ้าของกระบวนการยุติธรรม (1) มีกฎหมายกำหนดให้ทุกหน่วยงานต้องกำหนดระยะเวลาการทำงานในทุกขั้นตอนให้ชัดเจนและสมเหตุสมผล มีระบบที่ประชาชนสามารถตรวจสอบความคืบหน้าของคดีได้ด้วยตัวเอง กับมีสภาพบังคับของการไม่ปฏิบัติตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมายด้วย (2) การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม โดยประชาชนได้รับความสะดวกทางคดีมากขึ้น สามารถแจ้งความต่างท้องที่ได้ทั่วประเทศโดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีทนายความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายประจำอยู่ทุกสถานีตำรวจ การจับ ค้นและสอบปากคำต้องมีการบันทึกภาพและเสียงเพื่อความโปร่งใส คดีทุนทรัพย์เล็กน้อยมีวิธีพิจารณาที่รวดเร็วเรียบง่าย และไม่เสียค่าขึ้นศาล รวมทั้งมีระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งโดยไม่ต้องฟ้องคดี (3) คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ผู้เสียหายมีสิทธิแสดงความคิดเห็นในขั้นตอนการดำเนินคดีและพนักงานอัยการจะทำหน้าที่เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายทุกคดี ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับโอกาสในการต่อสู้คดีมากขึ้น พนักงานสอบสวนต้องรวบรวมพยานหลักฐานทั้งที่เป็นประโยชน์ต่อการพิสูจน์ความผิดและความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาและมิให้นำผู้ต้องหาออกแถลงข่าว

2) ลดความเหลื่อมล้ำในการบังคับใช้กฎหมาย (1) ปฏิรูปการปล่อยชั่วคราวเพื่อมีให้ผู้มีรายได้น้อย ถูกขังเพราะไม่มีหลักทรัพย์มาวาง โดยพัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงและระบบกำกับดูแล เช่น การแต่งตั้งบุคคลกำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวหรือใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวแทนการเรียกหลักประกัน กับเปิดโอกาสให้ยื่นขอปล่อยชั่วคราวต่อศาลได้ทุกวันโดยไม่มีวันหยุด มีมาตรการอื่นแทนการลงโทษจำคุก เช่น การสั่งให้ทำงานบริการสังคมหรือให้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟู เปลี่ยนโทษปรับแบบแน่นอนตายตัวมาเป็นโทษปรับตามรายได้เพื่อให้คนรวยกับคนจนได้รับผลจากการถูกปรับเท่ากัน

3) การสร้างสังคมที่มีศักยภาพในการจัดการกับข้อพิพาทและมีความปลอดภัยจากอาชญากรรมอย่างยั่งยืน เช่น (1) การกระจายภารกิจในการระงับข้อพิพาท ป้องกันอาชญากรรมและแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดไปสู่ชุมชน ภาคประชาสังคมและภาคเอกชน (2) หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมมีเป้าหมายร่วมกันในการลดการกระทำผิดซ้ำ การยุติคดีอาญาก่อนฟ้องต้องใช้กับผู้มีความเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำน้อยเท่านั้น และต้องมีมาตรการกำกับดูแลการใช้ดุลพินิจอย่างเหมาะสมรัดกุมเพื่อไม่ให้สังคมเคลือบแคลงสงสัย (3) การลงโทษจำคุกให้กระทำเท่าที่จำเป็นและไม่ใช้โทษจำคุกกับผู้มีความเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำน้อย สำหรับผู้มีความเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำสูงต้องมีการกำกับดูแลหลังพ้นโทษที่เหมาะสม ส่วนผู้พ้นโทษที่ไม่มีความเสี่ยงกระทำผิดซ้ำต้องมีมาตรการส่งเสริมการกลับคืนสู่สังคม ฯลฯ

4) การสอบสวนที่มีประสิทธิภาพ (1) คดีทั่วไปดำเนินการสอบสวนโดยคณะพนักงานสอบสวน คดีสำคัญให้มีพนักงานอัยการร่วมคณะสอบสวนด้วย เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และการตรวจสอบถ่วงดุล (2) ปรับปรุงระยะเวลาในการรวบรวมพยานและการส่งสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนให้แก่พนักงานอัยการเพื่อมิให้คดีขาดอายุความ และมีมาตรการป้องกันการแทรกแซงความเป็นอิสระ (3) ผู้ปฏิบัติงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ ต้องมีความเป็นอิสระปลอดจากการแทรกแซง มีอำนาจหน้าที่เข้าตรวจสถานที่เกิดเหตุทุกคดี มีมาตรฐานในการเก็บและตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานตามหลักสากล มีแพทย์ผู้ปฏิบัติงานด้านนิติเวชอย่างทั่วถึง

5) เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ (1) ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีแพ่งและพาณิชย์ให้ทันสมัยสอดคล้องกับหลักสากลเพื่อส่งเสริมการค้าทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เช่น กฎหมายว่าด้วยการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ การบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ และกลไกในการบังคับคดี (2) จัดตั้งศาลพาณิชย์และมีวิธีพิจารณาที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพิจารณาคดีพาณิชย์ (3) พัฒนาระบบอนุญาโตตุลาการและระบบการติดต่อราชการทางอิเล็กทรอนิกส์

-------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ