วันนี้ (22 กุมภาพันธ์ 2561) เวลา 13.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการแถลงข่าวในงาน Meet the Press หัวข้อ “สัมปทานสำรวจและผลิตแหล่งก๊าซบงกช / เอราวัณ ครั้งใหม่” นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้สัมภาษณ์กรณีการสัมปทานแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติ แหล่งใหญ่ 2 แหล่ง ในอ่าวไทย ซึ่งผลิตก๊าซธรรมชาติประมาณ 75 เปอร์เซนต์ ของก๊าซธรรมชาติที่เราใช้ ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศไทย 60 กว่าเปอร์เซนต์ส่วนใหญ่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง หากเราไม่สามารถผลิตก๊าซจากแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ และบงกชได้หรือขาดไป จะทำให้มีปัญหาเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศอย่างชัดเจน หากปัญหานี้ทิ้งระยะยาวนานเกินไป จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ทั้งนี้ จากที่รัฐบาลได้ให้กลุ่มบริษัทเชฟรอนและกลุ่มผู้ร่วมผลิต ตามสัญญาสัมปทานร่วมกับ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.ในแหล่งบงกชนั้น จะสิ้นสุดการสัมปทานในปี 2565 ซึ่งหากหยุดสัมปทานไปและไม่มีผู้ดำเนินการผลิตต่อจะทำให้ขาดก๊าซธรรมชาติ
ปัจจุบันผู้ลงทุนทั้ง 2 ราย มีการลงทุนที่น้อยลงเพราะการลงทุนแต่ละครั้งต้องใช้ระยะเวลาที่จะคืนทุนในการผลิตก๊าซ อย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป หากไม่มีความชัดเจนว่าหลักการ สัญญาการสัมปทานจะเป็นอย่างไร จะมีผลกระทบกับการตัดสินใจลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศอีกด้วย ซึ่งรอยต่อการเชื่อมระหว่างการสัมปทานการผลิตใหม่ จำเป็นต้องสร้างความชัดเจนให้เกิดขึ้นให้ได้ภายในปีนี้ เพื่อจะทำให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวต่อไปว่า ระบบไฟฟ้าสำหรับภาคใต้ขณะนี้ มีการกล่าวถึงกันมากว่าระบบไฟฟ้าอาจไม่มีความมั่นคง เพราะไฟฟ้าเคยดับมาแล้วทั้งภาค เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน 10 กว่าชั่วโมง บางแห่งดับนานถึง 20 ชั่วโมง จึงเกิดข้อกังวลว่าระบบไฟฟ้าภาคใต้อาจจะไม่มีความมั่นคงเพียงพอ จึงมีความจำเป็นจะต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น อีก 2 แห่ง ที่ จังหวัดกระบี่ และที่ อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีกำลังการผลิตรวมเกือบ 3,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้การผลิตไฟฟ้าภาคใต้มีปริมาณที่เพียงพอ ทั้งนี้ มีบางกลุ่มเกิดความไม่เข้าใจต่อการไปสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมทั้งเป็นห่วงผลกระทบด้านการท่องเที่ยว ด้านสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ แต่ก็มีอีกบางกลุ่มที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น จึงมีเหตุผลที่ดีทั้ง 2 มุม จำเป็นต้องทำข้อเท็จจริง ทำความจริงให้ปรากฎ รวมถึงศึกษาในรายละเอียดต่าง ๆ รัฐบาลในฐานะคนกลาง จึงต้องหานโยบายที่ชัดเจนต่อไป
ปัจจุบันภาคใต้มีโรงไฟฟ้าฟ้าหลัก 2 แห่ง คือ อำเภอจะนะ และที่ อำเภอขนอม กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 2,400 เมกะวัตต์ ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ภาคใต้โดยเฉพาะในช่วงพีค อยู่ที่ 2,600 - 2,700 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ยังมีไฟฟ้าจากภาคกลางป้อนลงไปเพิ่มเติม แต่จะติดเรื่องสายส่งหรือเรียกว่า “คอขวด” ซึ่งเป็นปัญหาในการส่งกระแสไฟฟ้า ส่วนการสร้างจุดขยายและเชื่อมต่อสายส่งเพิ่มนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณา
ทั้งนี้ หากสร้างระบบผลิตไฟฟ้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะทำให้สร้างระบบเศรษฐกิจในท้องถิ่น โดยใช้ชีวมวล เช่น ปีกไม้ เศษไม้ต่าง ๆ หรือการทำไบโอแก๊สจากน้ำเสียของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม เป็นสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กชนิด VSPP 1 มีขนาด 10 - 20 เมกะวัตต์ และป้อนสู่สายส่งเครือข่าย 3 จังหวัดชายแดนโดยจะเป็นการเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี และจากการร่วมกันศึกษาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเห็นร่วมกันที่จะพัฒนาในรูปแบบนี้ เพื่อเป็นการผสมผสานเรื่องความมั่นคงของประเทศ ในการพัฒนา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการพัฒนาเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง ขณะเดียวกันก็จะช่วยในเรื่องของความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าทั้งระบบของภาคใต้ในด้านต้นทุนการผลิตที่ราคาไม่สูงจนเกินไป
สำหรับข้อกังวลเรื่องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศปริมาณที่มาก จำเป็นต้องหาถ่านหินมาเป็นพลังงานมาทดแทนก็มีการศึกษาข้อมูลอยู่ เนื่องจากในอนาคตความเป็นไปได้ในด้านต้นทุนการผลิตพลังงานจากถ่านหินมีต้นทุนที่ต่ำ ปัจจุบันประเทศไทยใช้ถ่านหินในการผลิตพลังไฟฟ้า 20 เปอร์เซนต์ ในส่วนประเทศอื่น ๆ เช่น มาเลเซีย อินโดนิเซีย ก็จะใช้สัดส่วนของถ่านหินที่สูงกว่าประเทศไทยเรา ประมาณ 30 - 40 เปอร์เซนต์ขึ้นไป ทั้งนี้ สถานที่ตั้งของโรงไฟฟ้าจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ พร้อมรับฟังความคิดเห็นของคนในท้องถิ่นด้วย โดยรัฐบาลเปิดกว้างที่จะให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษา เพื่อลดปัญหา และลดความขัดแย้งทางสังคม นำไปสู่การพัฒนาประเทศร่วมกันได้ด้วยความปรองดอง มีความเห็นร่วมกัน
ในส่วนของ รัฐบาลได้พิจารณาด้านการวางพื้นฐานระบบพลังงานของประเทศ ที่จะเดินหน้าไปสู่อนาคตไทยแลนด์ 4.0 จากการศึกษาพบว่าประเทศไทยมีนวัตกรรมดี ๆ มากมาย เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ โซล่าเซลล์ เชื้อเพลิงจากชีวภาพนำมาผลิตไฟฟ้า และจากชีวมวล สามารถสร้างความมั่นคงให้กับระบบพลังงานของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญต้องนำมาคิดในเรื่องด้านราคาซื้อขาย จะต้องไม่ต่ำหรือสูงไปกว่าราคาที่ซื้อขายอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันระบบนี้สำเร็จแล้ว ในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ SPP Hybrid Firm กำลังการผลิต 300 เมกะวัตต์ มีผู้ประมูลได้ 17 ราย โดยคัดเลือกจาก 72 ราย ในราคาซื้อขายเฉลี่ยที่ 2.44 บาท โดยเป็นราคาเดียวกับที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตขายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวง ที่จะนำไปขายให้กับประชาชนต่อไป
..................................................................
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th