นายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมโครงการพระราชดำริฯ แหลมผักเบี้ย โครงการต้นแบบเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีการกำจัดขยะและบำบัดน้ำเสียชุมชนบนพื้นฐานหลักการธรรมชาติช่วยธรรมชาติ

ข่าวทั่วไป Monday March 5, 2018 15:39 —สำนักโฆษก

นายกฯ เยี่ยมชมโครงการพระราชดำริฯ แหลมผักเบี้ย โครงการต้นแบบเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีการกำจัดขยะและบำบัดน้ำเสียชุมชนบนพื้นฐานหลักการธรรมชาติช่วยธรรมชาติ แนะถ่ายทอดองค์ความรู้และขยายการดำเนินการกำจัดขยะและบำบัดน้ำเสียไปสู่ในพื้นที่อื่นด้วย

วันนี้ (?5 มี.ค.?61) เวลา 16.20 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ อาทิ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ได้ไปเยี่ยมชมโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีการกำจัดขยะและบำบัดน้ำเสียชุมชนบนพื้นฐานหลักการธรรมชาติช่วยธรรมชาติ ตามแนวพระราชดำริ โดยมี นายเกษม จันทร์แก้ว ผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี และคณะ ได้นั่งรถชมภูมิทัศน์ของโครงการฯ เยี่ยมชมระบบบำบัดน้ำเสียและการกำจัดขยะโดยใช้ระบบธรรมชาติช่วยธรรมชาติ โดยมีนายเกษม จันทร์แก้ว ผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย นำเยี่ยมชมและบรรยายสรุปเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริฯ แหลมผักเบี้ย ว่า โครงการดังกล่าวตั้งขึ้นสืบเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริด้านปัญหาขยะและน้ำเสีย มีวัตถุประสงค์คือการศึกษาวิจัยหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาน้ำเสียและขยะที่ประหยัด สะดวก ทำได้ง่ายและสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศได้อย่างกว้างขวาง โดยหน่วยงานรับผิดชอบหลักคือมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมชลประทาน ผลการดำเนินงานของโครงการพระราชดำริฯ แหลมผักเบี้ย ประกอบด้วย งานวิจัยและพัฒนา งานบริการวิชาการ งานประชาสัมพันธ์และส่งเสริมเผยแพร่

พร้อมทั้งได้กล่าวถึงการใช้เทคโนโลยีในการกำจัดขยะและบำบัดน้ำเสียชุมชน โดยการกำจัดขยะ โครงการได้เลือกเฉพาะขยะอินทรีย์มาทดลองหมักปุ๋ย จากการทดลองมีผลผลิตที่ได้จากระบบคือ ปุ๋ยหมัก และเศษปุ๋ยหมักที่ไม่ย่อยสลาย สามารถนำไปใช้ปลูกพืช ถมที่ ถมพื้นที่ชายเลน ส่วนเศษปุ่ยหมักที่ไม่ย่อยสลายนำไปกำจัดด้วยวิธีการที่เหมาะสม ส่วนการบำบัดน้ำเสีย แบ่งออกเป็น 4 เทคโนโลยี ได้แก่ ระบบบ่อบำบัด ระบบหญ้ากรอง ระบบพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม และระบบแปลงป่าชายเลนบำบัดน้ำเสีย ผลผลิตที่ได้จากเทคโนโลยี ได้แก่ น้ำเสีย น้ำที่บำบัดแล้ว และตะกอนน้ำเสีย นำไปใช้ในการปลูกพืช เลี้ยงปลา ตลอดจนพืชในระบบนำไปใช้จักสาน ขณะเดียวกันยังส่งผลให้แม่น้ำเพชรบุรีมีคุณภาพดีขึ้น ระบบนิเวศป่าชายเลนมีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีสัตว์น้ำที่สำคัญทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมากทั้งชนิดและปริมาณ

ทั้งนี้ จากการดำเนินการดังกล่าวสามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบโครงการฯ และจากการประเมินทางเศรษฐศาสตร์คุณค่าทางนิเวศวิทยาของป่าชายเลนโครงการฯ คิดเป็นเงิน 100,000,000 บาทต่อปี

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามเกี่ยกับการใช้เทคโนโลยีในการกำจัดขยะและบำบัดน้ำแสียชุมชนโดยใช้ระบบธรรมชาติช่วยธรรมชาติด้วยความสนใจ และแนะนำให้มีการประเมินและคำนวณถึงความคุ้มค่าของการดำเนินโครงการเพื่อประกอบการพิจารณาในการดำเนินการในอนาตให้มีประสิทธิมากเพิ่มขึ้นเกิดประโยน์สูงสุดต่อประชาชน พร้อมขอให้มีการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการดำเนินโครงการต่าง ๆ ตามแนวทางพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รวมถึงโครงการกำจัดขยะและบำบัดน้ำแสียชุมชนโดยใช้ระบบธรรมชาติช่วยธรรมชาติ ให้ประชาชนรับรู้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เพื่อประชาชนจะได้นำไปปรับใช้ ตลอดจนการถ่ายทอดองค์ความรู้และขยายการดำเนินการในเรื่องการกำจัดขยะและบำบัดน้ำเสียไปสู่ในพื้นที่อื่นด้วย

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ได้กล่าวถึงการบริหารจัดการแม่น้ำเพชรบุรี โดยเฉพาะโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรี ตอนล่าง ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริว่า ลุ่มน้ำเพชรบุรีมีพื้นที่ทั้งหมด 5,666 ตารางกิโลเมตร พื้นที่เหนือเขื่อนห้วยผาก เขื่อนแก่งกระจาน และแม่จันต์ มีพื้นที่ทั้งหมด 2,866 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ดังกล่าวสามารถควบคุมน้ำได้ประมาณ 85% และในปี 2561 จะมีการพิจาณาศึกษาให้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำด้านท้ายเพิ่มอีก ในส่วนของเขื่อนเพชรบุรี ซึ่งมีเนื้อที่ 1,800 ตารางกิโลเมตร กรมชลประทานได้มีการบริหารจัดน้ำอย่างเป็นระบบ โดยได้รับการสนับสนุนสงบประมาณจากรัฐบาลในปี 2560 เรียบร้อยแล้วและจะมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนด

ด้าน นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้กล่าวถึงรายงานสถานการณ์ชายฝั่งประเทศไทยว่า ชายฝั่งประเทศไทยมีความยาว 3,151 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ที่ไม่กัดเซาะจำนวน 2,400 กิโลเมตร เป็นพื้นที่กัดเซาะ 704 กิโลเมตร ดำเนินการแก้ไขไปแล้ว 558 กิโลเมตร คิดเป็นประมาณ 80% อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไข 145 กิโลเมตร ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งมาโดยตลอดในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ มีความยาวแนวชายฝั่งระยะทาง 402.82 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ที่ไม่กัดเซาะ 246 กิโลเมตร เป็นพื้นที่กัดเซาะ 156 กิโลเมตร ได้ดำเนินการแก้ไขไปแล้ว 146 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างดำเนินการเพียง 10 กิโลเมตร สำหรับรูปแบบการดำเนินการแก้ไขมีทั้งการปักไม้ไผ่และเททราย

จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาแนวทางความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการที่จะนำน้ำเสียในพื้นที่ของชุมชนและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในจังหวัดเพชรบุรีผ่านระบบท่อมาบำบัดด้วยการใช้เทคโนโลยีในการกำจัดขยะและบำบัดน้ำแสียดังกล่าว ซึ่งโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้มีการดำเนินการอยู่แล้ว

---------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ