วันนี้ (8 มี.ค.61) เวลา 11.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกันแถลงข่าวในงาน Meet the Press หัวข้อ “ทุกเรื่องที่อยากรู้เกี่ยวกับระบบราง” เพื่อเชื่อมต่อระบบคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศไปสู่ One Transport for All คมนาคมรวมเป็นหนึ่งเพื่อความสุขของคนไทยทุกคน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวถึงภาพรวมเกี่ยวกับความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องเร่งดำเนินการในเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศตามนโยบายรัฐบาลว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นที่ฐานเป็นระยะเวลามานาน ทำให้เกิดปัญหาในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของการเดินทางที่ไม่สะดวก และมีปัญหาการจราจรติดขัดในเมืองหลวงและเมืองหลักในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ จึงทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยไม่ได้อยู่ในอันดับต้น ๆ โดยหากเทียบการลงทุนโลจิสติกส์ในอาเซียนประเทศไทยจะอยู่ในอันดับที่ 3 ทุกเรื่อง รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงให้เร่งดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การประหยัดพลังงาน และการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้คนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น โดยมีการเชื่อมต่อการขนส่งคมนาคมทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศ อย่างเป็นระบบ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวถึงนโยบายรัฐบาลที่จะเร่งขับเคลื่อนพัฒนารถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครให้ครบทั้งระบบว่า รัฐบาลได้มีการเตรียมการในเรื่องนี้มาโดยตลอดเริ่มตั้งแต่รถไฟฟ้าสายสีชมพู สายสีเหลือ สายสีม่วง สีม่วงใต้ สายสีส้มตะวันออก สายสีแดงเข้ม สายสีแดงอ่อน ซึ่งขณะนี้โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง และคาดว่ารัฐบาลจะสามารถอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ได้ครบภายในปี 2561 เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถประหยัดพลังงาน ประชาชนเดินทางได้สะดวก และมีเวลาให้กับครอบครัวได้มากขึ้น อันจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้น
สำหรับการขับเคลื่อนระบบรางจะมีการเชื่อมกรุงเทพฯ กับจังหวัดต่าง ๆ โดยจะเร่งดำเนินการขับเคลื่อนรถไฟทางคู่ เนื่องจากปัจจุบันมีเพียง 9% เท่านั้น จากระยะทางรถไฟทั้งหมด 4,000 กิโลเมตร โดย ระยะที่1 จะเร่งดำเนินการให้รถไฟทางคู่ จาก 9% เพิ่มขึ้นมาที่ 33% ระยะที่ 2 รถไฟทางคู่เชื่อมเมืองต่าง ๆ จำนวน 9 โครงการ ซึ่งจะมีการนำเสนอในปี 2561 และหากปีนี้มีการอนุมัติเพิ่มเติมก็จะทำให้รถไฟทางคู่เพิ่มขึ้น ประมาณ 3,000 กิโลเมตร หรือคิดเป็น 67% ของระยะทางรถไฟทั้งหมด 4,000 กิโลเมตร และที่เหลือจะดำเนินการในระยะที่ 3 อยู่ในระหว่างการวางแผนดำเนินการ โดยได้มีการกำหนดรถไฟทางคู่ในเส้นทางหลักทั้งเส้นทางที่จะไปทางเหนือ ใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะต้องดำเนินการให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามแผนที่กำหนดไว้ นอกจากนี้จะมีการดำเนินการโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่สายเด่นชัย-เชียงราย และเส้นทางบ้านไผ่ – นครพนม อีกทั้งยังมีการพิจาณาศึกษาที่จะดำเนินการเชื่อมต่อเส้นทางบ้านไผ่-นครสวรรค์ หรือพิษณุโลก ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาเลือกเส้นทางที่เหมาะสม และจากเส้นทางนครสวรรค์หรือพิษณุโลกจะเชื่อมต่อไปยังจังหวัดตากและแม่สอด ทำให้มีทั้งเส้นทางรถไฟและถนนเชื่อมระหว่างตะวันตกกับภาคตะวันออกตามกรอบความร่วมมืออนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงกับอาเซียน
ขณะเดียวกันจะมีการดำเนินการพัฒนารถไฟความเร็วสูง ระยะทางทั้งหมด 2,506 กิโลเมตร เพื่อเป็นทางเลือกและอำนวยความสะดวกในการเดินทางที่รวดเร็วขึ้นสำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยเส้นทางที่ 1 คือ เส้นทางกรุงเทพฯ – หนองคาย จากหนองคายเชื่อมไปประเทศลาวและต่อไปยังคุนหมิงประเทศจีน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน เพื่อเชื่อมโยงระบบรถไฟระหว่างประเทศ และเส้นทางที่ 2 คือ กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ระยะทางประมาณ 672 กิโลเมตร เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่น แหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ ทั้งจังหวัดนครสวรรค์ พิษณุโลก สุโขทัย เป็นต้น
ส่วนการดำเนินการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) โดยความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชม. สนามบินอู่ตะเภาสามารถเชื่อกรุงเทพฯ ได้ใน 45 นาที (เทียบกับ 2-3 ชั่วโมงโดยรถยนต์) ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถนำโครงการดังกล่าวเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมีนาคม 2561 จากนั้นคณะกรรมการ TOR จะออก TOR ประมาณเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2561 และประมาณเดือนมิถุนายน- เดือน กรกฎาคม 2561 จะสามารถประกวดราคาได้
รวมทั้ง ได้มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับซ่อมแซมและบำรุงรักษาถนนต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถมีสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ และถนนที่มีการก่อสร้างเพิ่มใหม่ ในเส้นทางยุทธศาสตร์และเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างประเทศกลุ่มอาเซียน และกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งจะมีการเชื่อมถนนสู่ประตูเศรษฐกิจ เช่น โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง โดยผลักดันทางหลวงเศรษฐกิจระหว่างเมือง 3 สายทาง ได้แก่ สายบางประอิน-นครราชสีมา สายบางใหญ่-กาญจนบุรี และสายพัทยา-มาบตาพุด ซึ่งจะสามารถเพิ่มความสะดวกของการเดินทางไปสู่เมือง ท่องเที่ยวทางภาคตะวันออกและพื้นที่ EEC
สำหรับการแก้ไขปัญหาสนามบินแออัดนั้น จะมีการพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาค ได้แก่ การก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ (ท่าอากาศยานเบตง) การพัฒนาและปรับปรุงท่าอากาศยานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรองรับผู้โดยสาร 3 แห่ง (โครงการปรับปรุงขยายท่าอากาศยานแม่สอด จ.ตาก การพัฒนาท่าอากาศยานกระบี่ การพัฒนาท่าอากาศยานสกลนคร) การพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา ให้เป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) และเป็นท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ของประเทศ รองรับผู้โดยสาร 3 ล้านคน/ปี รวมทั้ง มีโครงการพัฒนาท่าอากาศสุวรรณภูมิระยะที่ 2 (ก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ลานจอดอากาศยานประชินอาคารเทียบเครื่องบินหลังที่ 1 และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ทิศใต้) แผนพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 2 เชน เปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารอาคาร 2 รวมทั้ง เตรียมการปรับปรุงสนามบินในภูมิภาค 28 แห่ง เพื่อรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ส่วนการสัญจรทางน้ำ จะดำเนินโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (SRTO) ที่ท่าเรือแหลมฉบับ (เปิดบริการในปี 2561) โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง โครงการพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่เชื่อมโยงอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญของระบบคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพคือ ต้องมีการเชื่อมต่อทั้งระบบอย่างครบวงจรทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศ โดยทุกสถานีของรถไฟ ท่าเรือ และสนามบินจะต้องมีรถขนส่งสาธารณะรองรับสำหรับบริการผู้โดยสาร ประชาชน และนักท่องเที่ยว เพื่อเชื่อมต่อไปยังจุดต่าง ๆ เช่น ในเมือง ท่าเรือ หรือแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น
----------------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th