วันนี้ (13 มี.ค. 61 ) เวลา 14.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างแผนการปฏิรูประเทศทั้ง 11 ด้าน ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ประกอบด้วย 1) ด้านการเมือง 2) ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 3) ด้านกฎหมาย 4) ด้านกระบวนการยุติธรรม 5) ด้านเศรษฐกิจ 6) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 7) ด้านสาธารณสุข 8) ด้านสื่อมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ 9) ด้านสังคม 10) ด้านพลังงาน และ 11) ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ
ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้าน ได้ดำเนินการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศในด้านที่รับผิดชอบแล้วเสร็จ รวมถึงได้สอบถามความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอร่างแผนการปฏิรูปประเทศต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อพิจารณาแล้ว
สำหรับสาระสำคัญของร่างแผนการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้าน ได้กำหนดเป้าหมายหลัก ดังนี้ 1) ด้านการเมือง ได้วางเป้าหมายต้องการให้ประชาชนมีความเข้าใจในหลักการทางด้านประชาธิปไตย มีส่วนร่วม และยอมรับความเห็นที่แตกต่าง พรรคการเมืองต้องโปร่งใส ซื่อสัตย์ ตรวจสอบได้ และเมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นต้องหาทางออกได้ด้วยวิธีการพูดคุยทางการเมืองโดยสันติวิธี
2) ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน หลักการสำคัญคือพยายามทำให้หน่วยงานราชการมีความกะทัดรัด แต่มีความทันสมัย สามารถที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้ ข้าราชการจะต้องเป็นคนที่มีคุณภาพสูงทั้งในด้านการปฏิบัติงาน และคุณธรรม จริยธรรม สามารถตรวจสอบต่อต้านการทุจริตต่าง ๆ ได้ 3) ด้านกฎหมาย จะต้องปรับแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ และต้องเป็นกฎหมายที่ไม่เพิ่มภาระให้กับประชาชน รวมถึงประชาชนและผู้บังคับใช้กฎหมายจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในการใช้กฎหมายอย่างถูกต้อง จะได้ไม่ทำผิดกฎหมาย
4) ด้านกระบวนการยุติธรรม ทุกขั้นตอนของกระบวนการต่าง ๆ จะมีระยะเวลาที่ชัดเจน เพื่อทำให้ประชาชนทุกคนมีความเสมอภาคกัน เช่น กองทุนยุติธรรม เป็นต้น สิ่งสำคัญคือกฎหมายต่าง ๆ จะต้องเอื้ออำนวยให้ประเทศมีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศได้
5) ด้านเศรษฐกิจ ยกระดับผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขันนะดับประเทศให้สูงขึ้น มีการเติบโตอย่างครอบคลุมทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นการใช้ระบบมาตรฐานและนวัตกรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประชาชนทุกกลุ่ม
6) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องสร้างความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์
7) ด้านสาธารณสุข เน้นเรื่องบริการปฐมภูมิ เป็นการใช้การสร้างนำการซ่อม ประชาชนทุกภาคส่วนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ เพื่อป้องกันก่อนที่จะเจ็บป่วยและไม่สบาย เช่น โครงการคลินิกหมอบครอบครัว
8) ด้านสื่อมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ เน้นสร้างดุลยภาพระหว่างเสรีภาพของสื่อมวลชนกับความรับผิดชอบในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน และสื่อจะต้องเป็นโรงเรียนให้กับสังคมและประชาชน
9) ด้านสังคม คนไทยจะต้องมีหลักประกันทางรายได้ในวัยเกษียณ ทั้งในส่วนของข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือประชาชนที่อยู่นอกระบบราชการหรือรัฐวิสาหกิจ เช่น กองทุนการออมแห่งชาติ เป็นต้น ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลภาครัฐโดยง่าย และชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง
10) ด้านพลังงาน ส่งเสริมพลังงานทดแทน อนุรักษ์พลังงานให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มการจัดทำแผน และ 11) ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ต้องมีมาตรฐานการควบคุมกำกับการติดตามงานทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ต้องเปิดเผยข้อมูลภาครัฐให้ประชาชนรับทราบ
พร้อมกันนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำในเรื่องของ Big Data โดยเฉพาะงบประมาณในการลงทุนของแต่ละหน่วย ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลดังกล่าวได้ผ่านทางแอพพลิเคชั่น "ภาษีไปไหน” ของสำนักงานรัฐบาลสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ โดยทุกหน่วยงานจะมีการบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นปัจจุบันอย่างต่อเนื่องทุกเดือน เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามและตรวจสอบการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของรัฐได้ โดยนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน
---------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th