สรุปความคืบหน้าของการปฎิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและพฤติมิชอบ

ข่าวทั่วไป Thursday March 15, 2018 15:18 —สำนักโฆษก

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานฯ กล่าวย้ำถึง แผนการปฎิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่จะเร่งเฝ้าระวัง พร้อมป้องกัน และปราบปรามให้ประเทศไทยปลอดจากการทุจริตมากขึ้น

วันนี้ (15 มีนาคม 2561) เวลา 11.00 น ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้แถลงข่าวแผนการปฎิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ กล่าวว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกในสังคมไทยนานนับหลายสิบปี โดยปัญหาอยู่ในลักษณะซับซ้อนและทับซ้อนหลายปัญหา ซึ่งแต่ละปัญหาล้วนเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนกันและกัน ซึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว มาจากปัญหาการทุจริตที่รุนแรงมากทั้งในเชิงพฤติการณ์และพื้นที่ โดยรูปแบบของการทุจริตจากเดิมที่เน้นการทุจริตทางตรงเปลี่ยนรูปแบบมาสู่การทุจริตเชิงนโยบาย โดยมีการแก้กฎหมาย ระเบียบ หรือกำหนดนโยบาย เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้องมากยิ่งขึ้น การใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ และการทำลายกลไกการตรวจสอบ เป็นต้น ประกอบกับกลไกภาครัฐไม่ได้ปฏิบัติงานภายใต้กรอบธรรมภิบาล ไม่มีการระงับยับยั้งปัญหาในระดับปฎิบัติ ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากไม่มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้การปราบปรามการทุจริตไม่ได้ผล โครงสร้างหลักของประเทศไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และระบบราชการอ่อนแอลง

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ กล่าวย้ำว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้นำเจตนารมณ์และบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สภาพปัญหาการทุจริตและพฤติมิชอบในปัจจุบัน รายงานผลการศึกษาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชนมาประกอบการพิจาณายกร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยกำหนดผลอันพึงประสงค์ไว้ 6 ข้อ ดังนี้

1. ให้มีการส่งเสริมสนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบ รวมทั้งให้มีกฎหมายในการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเป็นพลังในการต่อต้านการทุจริจประพฤติมิชอบและชี้เบาะแสเมื่อพบเห็นการกระทำความผิด โดยรัฐมีมาตรการสนับสนุนและคุ้มครองผู้ชี้เบาะแสด้วย

2. ให้มีมาตรการควบคุม กำกับ ติดตาม การบริหารจัดการของหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน โดยเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อตรง (Integrity) สุจริตของบุคลากร ใช้ดุลยพินิจโดยสุจริต ภายใต้กรอบธรรมาภิบาลและการกำกับกิจการที่ดีอย่างแท้จริง

3. ให้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารภาครัฐให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้ และสนับสนุนแนวร่วมปฎิบัติของภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริต เพื่อขจัดปัญหารการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐ

4. ยกระดับการบังคับใช้มาตรการทางวินัย มาตรการทางปกครอง หรือมาตรการทางกฎหมายต่อเจ้าพนักงานของรัฐที่ถูกกล่าวหาว่า ประพฤติมิชอบหรือกระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเคร่งครัด

5. ปรับปรุงประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอน ทั้งแพ่งและอาญาให้รวดเร็ว รุนแรง เด็ดขาด เป็นธรรม เสมอภาค โดยเฉพาะมีการจัดทำและบูรณาการฐานข้อมูลคดีทุจริต ตลอดจนเร่งรัดการติดตามนำทรัพย์สินที่เกิดจากการกระทำผิด ทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ตกเป็นของแผ่นดิน และในกรณีที่ยังไม่มีกฎหมายที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ก็ให้เร่งบัญญัติเพิ่มเติม

6. ให้มีกลไกที่เหมาะสมในการประสานงานป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบ ในระดับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ เพื่อให้ประเทศไทยปลอดทุจริต

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้กำหนดประเด็นการปฎิรูปออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการป้องกันและเฝ้าระวัง 2. ด้านการป้องปราม 3. ด้านการปราบปราม และ 4. ด้านการบริหารจัดการ

ตอนท้ายของการแถลงข่าว นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ กล่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบได้กำหนดประเด็นที่จะดำเนินการโดยเร่งด่วน ดังนี้

1. ด้านการป้องกันและเฝ้าระวัง โดยสนับสนุนการรวมตัวของภาคประชาชน ให้มีการร่วมตรวจสอบและเฝ้าระวัง ด้วยการออกกฎหมายรองรับการราวมตัวของภาคประชาชน และจัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารภาครัฐ โดยเฉพาะรูปแบบ “Digital Platform” เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลอันจะเป็นประโยชน์ต่อการเฝ้าระวัง

2. ด้านการปราบปราม ด้วยการจัดกลไกการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเร่งแก้ไขปัญหาและตรวจสอบพฤติการณ์ตามข้อร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสของภาคประชาชน หากพบการกระทำทุจริตให้ดำเนินการตามกฏหมายเพื่อนำมาลงโทษโดยเร็ว พร้อมทั้งลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ด้วยการลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็น กำหนดและเผยแพร่ขั้นตอน วิธีการ และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการให้ชัดเจน ตลอดจนเร่งรัดการตรากฎหมาย เกี่ยวกับผลประโยชน์ขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมด้วย

........................................................................

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ